สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 1 เมษายน 2567
ที่มา https://www.springnews.co.th/keep-the-world/sustainable/849097
“ยูเอ็น” เผยข้อมูล ในแต่ละปีโลกมี “ขยะอาหาร” สูงกว่า 1,000 เมตริกตัน โดยเกิดมาจากการผลิตอาหารมากเกินความจำเป็น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด “ก๊าซเรือนกระจก” ด้านธุรกิจไทยเร่งลดขยะประเภทนี้
ปัญหาขยะ ‘ขยะอาหาร’ ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของโลก โดยเฉพาะประเทศไทยแม้ว่าจะมีภาคธุรกิจที่พยายามลดปัญหาขยะประเภทนี้ โดยล่าสุด โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เผยแพร่รายงานดัชนีขยะอาหารระบุ ปี 2565 ทั่วโลกมี “ขยะอาหาร” (Food Waste) สูงถึง 1,050 เมตริกตัน
โดยนักวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลจากครัวเรือน ร้านอาหาร และร้านค้าปลีกในแต่ละประเทศทั่วโลก ทำให้พบว่าในแต่ละปีผู้คนสร้าง “ขยะอาหาร” คนละประมาณ 79 กิโลกรัม เท่ากับว่ามีอาหารอย่างน้อย 1,000 ล้านจานถูกทิ้งในแต่ละวันซึ่งเป็นการประเมินขั้นต่ำ ในความเป็นจริงตัวเลขอาจจะมากกว่านี้
ทั้งนี้ขยะอาหาร 60% มาจากการบริโภคในครัวเรือน อีก 28% มาจากร้านอาหารหรือผู้ให้บริการด้านอาหารและเครื่องดื่ม ส่วน 12% ที่เหลือมาจากร้านค้าปลีก ทั้งนี้ตัวเลขนี้ยังไม่รวมขยะอาหารอีก 13% ที่เน่าเสียหรือสูญเสียไประหว่างขั้นตอนการเก็บเกี่ยว หรือการผลิต
อย่างไรก็ตามขยะอาหารกลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่การสูญเสียทรัพยากรทั้งน้ำและที่ดินในการปลูกพืชอาหารและเลี้ยงสัตว์ โดยพื้นที่ป่าส่วนใหญ่ถูกบุกรุกเพื่อทำการเกษตรกรรม แต่ดูเหมือนว่าพื้นที่ป่าที่เสียไปจะไม่ได้ถูกใช้อย่างเกิดประโยชน์มากเท่าที่ควร เพราะในรายงานระบุว่า ขยะอาหารมีพื้นที่เกือบเท่ากับ 30% ของพื้นที่เกษตรกรรมของโลก