• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กอนช. ขอให้ประชาชนระวังเกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคใต้ พร้อมระวังน้ำหลาก - ดินถล่มช่วง 1-2 วันนี้ใน 4 จังหวัด

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  4 เมษายน 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนระวังเกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคใต้ พร้อมระวังน้ำหลาก - ดินถล่มช่วง 1-2 วันนี้ใน 4 จังหวัด

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (4 เม.ย.65) ว่า ประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า ส่วนภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง แล้วช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณ จ.พัทลุง 112 มิลลิเมตร , ชุมพร 86 มิลลิเมตร และนครศรีธรรมราช 83 มิลลิเมตร พร้อมระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก - ดินถล่มช่วง 1-2 วันนี้ บริเวณ จ.ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 26,507 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 46 และแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 20,687 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 43 จุดเฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง คือ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ส่วนคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคและการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง แม่กลองอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นแม่น้ำท่าจีนมีปริมาณออกซิเจนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้ติดตามการพัฒนาลุ่มน้ำยมตอนล่าง เพื่อแก้ปัญหาและเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ จ.พิษณุโลก และพิจิตร โดย กรมชลประทาน กำหนดแนวทางการแก้ปัญหาอุทกภัยและการขาดแคลนน้ำของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของลุ่มน้ำยมตอนล่าง ด้วยการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำยมเป็นช่วงๆแบบขั้นบันได เพื่อกักเก็บน้ำไว้ให้เกษตรกรนำน้ำไปใช้ได้ต่อเนื่องตลอดทั้งลำน้ำ ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง 4 แห่ง เพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการน้ำช่วงหน้าน้ำหลากที่ไหลมาจากพื้นที่ตอนบน คือ ประตูระบายน้ำท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก // ประตูระบายน้ำท่าแห อ.สามง่าม จ.พิจิตร ปตร.บ้านวังจิก และ ประตูระบายน้ำโพธิ์ประทับช้าง อ.โพธิ์ประทับช้าง เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถเก็บกักน้ำในแม่น้ำยมและลำน้ำสาขาได้ประมาณกว่า 38 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยเพิ่มพื้นที่ได้รับประโยชน์จากระบบชลประทานได้ 198,746 ไร่ และช่วยลดปริมาณน้ำหลากช่วงฤดูฝนด้วย คาดว่า จะแล้วเสร็จปี 2568 ปัจจุบันคืบหน้าแล้วร้อยละ 44 ของแผนงาน


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.