• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

เสริมพลังชุมชน บรรลุเป้าหมาย Net Zero สร้างความเชื่อมั่น-ยกระดับมาตรฐานส่งออก ‘ส้มโอ จ.นครปฐม’

เสริมพลังชุมชน บรรลุเป้าหมาย Net Zero สร้างความเชื่อมั่น-ยกระดับมาตรฐานส่งออก ‘ส้มโอ จ.นครปฐม’

Empower the community, Achieve the Net Zero goal, Build confidence, Raise the export standard of 'Pomelo, Nakhon Pathom Province'

Image
แหล่งทุน
คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้ดำเนินการหลัก
รศ.ดร.นพพล อรุณรัตน์
ผู้ดำเนินการรอง
  • แกนนำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะลัดอีแท่น
  • สำนักงานเทศบาลเมืองไร่ขิง
  • สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) นครปฐม
  • สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.)

คำอธิบาย

ส่งเสริมให้ชาวสวนส้มโอชุมชน “เกาะลัดอีแท่น” ตระหนักถึง “การเพิ่มการกักเก็บคาร์บอน” เสนอแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและพลังงานในรูปแบบที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การใช้พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ การพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อการปรับตัวให้เท่าทันสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง การเสริมสร้างชุมชนเกษตรเชิงอนุรักษ์ และการประกอบการเพื่อชุมชนยั่งยืน ตลอดจนกิจกรรมจิตอาสาเพื่อการพัฒนาต่างๆ

เนื้อหา MU-SDGs Case Study

“เกาะลัดอีแท่น” เป็นเกาะที่เกิดขึ้นจากการขุดคลองลัดเชื่อมแม่น้ำท่าจีน สันนิษฐานว่า คลองลัดนี้ได้มีการขุดมาตั้งแต่ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อให้ชาวบ้านที่ใช้การคมนาคมทางน้ำโดยการเรือพาย สามารถพายเรือเข้าคลองลัดไปถึงที่หมายได้เร็วขึ้น โดยไม่ต้องพายเรืออ้อมไปตามแม่น้ำ ซึ่งต้องใช้เวลานาน

เกาะลัดอีแท่น ได้รับการส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรผสมผสานวัฒนธรรม อยู่ในพื้นที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม รูปร่างเหมือนกระเพาะหมู ซึ่งเกิดจากการขุดคลอง ปากคลองอยู่ระหว่างตำบลทรงคนองและตำบลหอมเกร็ด บริเวณเหนือวัดทรงคนองทะลุไปอีกด้านหนึ่งของแม่น้ำท่าจีน บริเวณที่คลองตัดผ่านนี้กลายเป็น “เกาะลัดอีแท่น” ประกอบด้วย 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลไร่ขิง ตำบลบางเตย และตำบลทรงคนอง สภาพพื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งน้ำ เหมาะสำหรับการทำสวนผลไม้ โดยเฉพาะส้มโอหลากหลายพันธุ์ที่ขึ้นชื่อว่ารสชาติดี เช่น ส้มโอขาวผ่อง ส้มโอขาวแป้น ส้มโอขาวทองดี ส้มโอขาวน้ำผึ้ง ส้มโอขาวหอม ส้มโอทับทิมสยาม เป็นต้น

ในปี พ.ศ. 2554 ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ทำให้พื้นที่เกษตรโดยเฉพาะสวนส้มโอเสียหายเกือบทั้งหมด หลังจากนั้นชาวสวนจึงเริ่มปลูกส้มโอใหม่ โดยขยายพันธุ์จากกิ่งพันธุ์ที่ยังเหลือในพื้นที่และบางส่วนหาซื้อจากพื้นที่อื่น ที่เคยนำกิ่งพันธุ์จากพื้นที่ไปปลูก จนในปัจจุบันนี้มีผลผลิตที่ยังคงคุณภาพดีเช่นเดิม ส่วนที่เพิ่มเติม คือ ทุกพื้นที่เกษตรกรรมบนเกาะแห่งนี้ ลดการใช้สารเคมี หรือหันมาทำการเกษตรแบบอินทรีย์ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนแล้ว ยังได้รับประโยชน์อีกรูปแบบหนึ่ง ที่เป็นผลจากการคงความเป็นธรรมชาติเอาไว้ นั่นคือ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agrotourism) ที่ในปัจจุบันทุกคนกำลังให้ความสนใจ

“คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์” กับ “แกนนำชุมชนเกาะลัดอีแท่น” ประกอบด้วย คุณลือยศ บรรพกาญจน์ รองนายกเทศมนตรีเมืองไร่ขิง คุณเอกวิทย์ นวเศรษฐ สถาปนิกและเจ้าของคาเฟ่ MADI ณ ลัดอีแท่น Ms. Judy Mutziger นักอนุรักษ์และนักวิชาการอิสระ คุณปาริชาต สุนทรารักษ์ ผู้แทนสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (Thai Ecotourism and Adventure Travel Association: TEATA) ตลอดจนบุคลากรจากเทศบาลเมืองไร่ขิง และผู้แทนจากบริษัทท่องเที่ยวเอกชน มีความร่วมมือด้านการวิจัย บริการวิชาการ การเรียนการสอน และพันธกิจสัมพันธ์กับสังคม โดยมีเป้าหมาย เพื่อพัฒนาพื้นที่ชุมชนตลอดริมแม่น้ำท่าจีนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ด้วย
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและพลังงานทางเลือก การจัดการเรียนรู้นอกห้องเรียน (Outdoor Classroom) การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อการคิดค้นนวัตกรรมพลังงานสะอาด กิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility) การพัฒนาที่อยู่อาศัยเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมถึงการเสริมสร้างธุรกิจชุมชนเพื่อความยั่งยืน

ปัจจุบัน คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ และชุมชนเกาะลัดอีแท่น กำลังดำเนินการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในสวนส้มโอ สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรด้านการรับรู้และความเข้าใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคาร์บอนเครดิต ตลอดจนการส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เพื่อพัฒนาชุมชนควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

 

Key Message

การพัฒนาชุมชนเกาะลัดอีแท่นให้เป็นชุมชนเกษตรเชิงอนุรักษ์ แหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)  และเสริมสร้างธุรกิจชุมชนเพื่อความยั่งยืน

สอดคล้องกับยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย

  • ยุทธศาสตร์ที่ 1 World Class Research & Innovation
  • ยุทธศาสตร์ที่ 2 Innovative Education and Authentic Learning
  • ยุทธศาสตร์ที่ 3 Policy Advocacy, Leaders in Professional / Academic Services and Excellence in Capacity Building for Sustainable Development Goals

Partners/Stakeholders

  • แกนนำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะลัดอีแท่น
  • สำนักงานเทศบาลเมืองไร่ขิง
  • สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) นครปฐม
  • สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.)
Image
Image
Image
Image
Image
Image

© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.