• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

การพัฒนาเครือข่ายการวิจัยสภาพภูมิประเทศแบบคาสต์ ระบบถ้ำ และการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศธรณี ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

การพัฒนาเครือข่ายการวิจัยสภาพภูมิประเทศแบบคาสต์ ระบบถ้ำ และการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศธรณี ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

Development of research network on Karst landscape, cave systems and geotourism in Mae Hong Son province

Image
Image
แหล่งทุน
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
ส่วนงานหลัก
คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์
ส่วนงานร่วม

โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล

สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้ดำเนินการหลัก

รศ.ดร.นาฏสุดา ภูมิจำนงค์

รศ.ดร.สุกัญญา เสรีนนท์ชัย

รศ.ดร.นพพล อรุณรัตน์

ผศ.ดร. โชติกา เมืองสง
ผู้ดำเนินการรอง
ดร. จิติกานต์ จินารักษ์

คำอธิบาย

แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ทำให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีความโดดเด่นในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงธรณี เนื่องจากระบบถ้ำเป็นระบบนิเวศที่มีลักษณะเฉพาะและมีองค์ประกอบทั้งทางกายภาพและทางชีวภาพที่ซับซ้อนหรืออาจหมายรวมถึงความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดกับนักท่องเที่ยวได้ วัตถุประสงค์ของแผนงานนี้คือ จัดทำต้นแบบการจัดการการท่องเที่ยวด้านธรณีในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ขอบเขตครอบคลุมพื้นที่คาสต์ ถ้ำน้ำลอด ถ้ำเพชร และถ้ำพุทโธ จากการวิเคราะห์ โดยใช้กรอบของยูเนสโกและคู่มือมาตรฐาน คุณภาพสิ่งแวดล้อมธรรมชาติประเภทถ้ำซึ่งประกอบด้วยการประเมินคุณค่าของแหล่งธรรมชาติประเภทถ้ำ ศักยภาพในการทรงคุณค่าของแหล่งท่องเที่ยวประเภทถ้ำ และการประเมินความเสี่ยงของแหล่งท่องเที่ยว ประเภทถ้ำ พบว่า ถ้ำลอดมีคุณค่าและศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวประเภทถ้ำสูงสุดและมีความเสี่ยงต่ำสุด ถ้ำและคาสต์ในอำเภอปางมะผ้ายังต้องมีการพัฒนาเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวทางธรณีอย่างสร้างสรรค์และยังยืนในการศึกษานี้ได้เสนอ 4 กลยุทธ์ คือ
1) กลยุทธ์เชิงรุก คือการยกระดับให้อำเภอปางมะผ้าเป็นมรดกทางธรณีโดยใช้กรอบของยูเนสโกในการขับเคลื่อน
2) กลยุทธ์เชิงแก้ไข ประกอบด้วย พัฒนาองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์มรดกทางธรณี และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ
3) กลยุทธ์เชิงป้องกัน คือพัฒนาเป็นเมืองสุขภาพ และ
4) กลยุทธ์เชิงรับ คือ ส่งเสริมสาธารณสุขพื้นฐาน และพัฒนาระบบเตือนภัย

เนื้อหา MU-SDGs Case Study

ความสำคัญ วัตถุประสงค์โครงการ

การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้ให้กับคนในพื้นที่และก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจต่อเนื่องในด้านอื่น แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ในอดีตที่ผ่านมาจังหวัดแม่ฮ่องสอนถูกจัดว่าเป็นจังหวัดปิดเนื่องจากว่าการเดินทางไปสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอนใช้เวลานาน การคมนาคมไม่สะดวก และกอร์ปกับเป็นจังหวัดที่มีแนวเขตแดนติดต่อกับสหภาพเมียนมาเป็นระยะทางยาว ทำให้ในหลายพื้นที่ต้องมีการตรวจตราเป็นพิเศษในเรื่องความมั่นคงระหว่างประเทศ ในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมาจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ถูกกล่าวขานในเรื่องแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ ทำให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ถูกกล่าวขานเกี่ยวกับการเป็น unseen ของภาคเหนือของประเทศไทย และประกอบกับการพัฒนาของประเทศที่ต้องการให้การท่องเที่ยวได้กระจายไปตามเมืองรองต่างๆ เพื่อเป็นการลดความหนานแน่นของเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆ เช่น เชียงใหม่ ดังนั้นการพัฒนาเส้นทางคมนาคมไปสู่จังหวัดต่างๆ ซึ่งรวมทั้งจังหวัดแม่ฮ่องสอน จากข้อมูลของสำนักงานการท่องเที่ยวภาคเหนือ พบว่าในปี พ.ศ.2560 และ 2561 จำนวนนักท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพิ่มขึ้นทั้งชาวไทย จาก 71,441 คน เป็น 91,192 คน และชาวต่างประเทศจาก 25,437 คน เป็น 29,399 คน ซึ่งคิดเป็นรายได้ รวมถึง 511.71 ล้านบาท และ 638.71 ล้านบาท ตามลำดับ (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งประเทศไทย 2563) อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวมิใช่แต่เพียงนำรายได้และการกระจายเศรษฐกิจไปสู่ภาคส่วนต่างๆ การท่องเที่ยวอาจเกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ในกรณีที่พื้นที่นั้นได้เปิดเพื่อการท่องเที่ยวโดยที่ยังขาดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการพื้นที่ รวมถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่น หากการท่องเที่ยวเกิดขึ้นบนความไม่พร้อมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคส่วนของประชาชนในพื้นที่ การท่องเที่ยวที่เกิดควบคู่ไประหว่างศักยภาพของแหล่งการท่องเที่ยวตามธรรมชาติของพื้นที่นั้นๆ และความเข้าใจของประชาชนในพื้นที่ก็จะมีความกลมกลืน ผสมผสานและประชาชนในพื้นที่สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการพื้นที่การท่องเที่ยวได้อย่างเข้าใจ

จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย สภาพภูมิประเทศส่วนมากเป็นเทือกเขาและมีพื้นที่ราบเพียงเล็กน้อย สภาพภูมิประเทศแบบคาสต์นั้น ครอบคลุมพื้นที่อำเภอปางมะผ้า และอำเภอเมือง ซึ่งเป็นลักษณะที่โดดเด่นของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทำให้พื้นที่ทั้ง 2 อำเภอนี้มีระบบถ้ำและสภาพภูมิประเทศในลักษณะอื่นๆ (เช่น หลุมยุบ) มากมายที่สวยงาม อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าสภาพภูมิประเทศแบบคาสต์ (karst landform) เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญและมีมูลค่าอย่างยิ่งด้วยเหตุผลหลายประการ ในขณะเดียวกันก็เป็นสภาพแวดล้อมที่มีความเปราะบางมาก (extremely valuable) และมีความอ่อนไหว (sensitive) จึงมีความสำคัญมากที่ทั้งรัฐบาล (government) ผู้จัดการที่ดิน (land managers) และบุคคลอื่นๆ ที่เข้าเยี่ยมชมสภาพภูมิประเทศแบบคาสต์ (karst) ต้องเข้าใกระบวนการพลวัตของสภาพแวดล้อมแบบคาสต์และหลักการปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับการจัดการสภาพแวดล้อมเหล่านี้ ซึ่งรวมถึงระบบถ้ำ ( cave system) และการศึกษาเกี่ยวกับถ้ำ (Speleology) อันเป็นแขนงวิชาการที่กว้างขวางและครอบคลุมหลายสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องซึ่งรวมถึงธรณีวิทยา (geology) ชีววิทยา (biology) อุทกวิทยา (hydrology) บรรพชีวินวิทยา (palaeology) โบราณคดี (archeology) และวิทยาศาสตร์ด้านอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับระบบถ้ำ ถ้ำถึงจะมีความเป็นเอกลักษณ์แต่ก็มีความเปราะบางอย่างมาก ประกอบกับโครงสร้างที่สลับซับซ้อนที่เกิดจากการกระทำของน้ำส่งผลต่อกระบวนการเกิดคาสต์ต่างๆ ทำให้พื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีความพิเศษในหลายประเด็น ความมากมายของถ้ำในพื้นที่นี้จึงมีความเชื่อมโยงกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ที่ถูกค้นพบที่ อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน และได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญ โดยเฉพาะวัฒนธรรมโลงไม้ ซึ่งมีความความโดดเด่นและเชื่อมโยงถึงการเข้ามาอยู่อาศัยในบริเวณนี้ของผู้คนจากอดีตจนถึงปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศพม่า ดังนั้นการเคลื่อนย้ายของชาติพันธุ์ระหว่างประเทศใกล้เคียงจึงมีมาอย่างยาวนาน และในปัจจุบันพบว่าชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีมากกว่า 6-7 ชาติพันธุ์ความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีความโดดเด่นในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ แต่อย่างไรก็ตาม สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งในพื้นที่โดยเฉพาะการท่องเที่ยวถ้ำ ที่มีการเปิดดำเนินการและมีกิจกรรมการท่องเที่ยวมาอย่างยาวนานโดยไกด์ในท้องถิ่นและกลุ่มทัวร์จากจังหวัดใกล้เคียงหรือต่างพื้นที่ การท่องเที่ยวในบางพื้นที่อาจไม่จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวมากนัก แต่ไม่ใช่การท่องเที่ยวถ้ำ เนื่องจากระบบถ้ำเป็นระบบนิเวศที่มีลักษณะเฉพาะและมีองค์ประกอบทั้งทางกายภาพและทางชีวภาพที่ซับซ้อน หรืออาจหมายรวมถึงความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดกับนักท่องเที่ยวได้

ดังนั้น การที่จะทำให้เกิดการอนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติอันทรงคุณค่าร่วมกับการพัฒนาการท่องเที่ยวในจังหวัดแม่ฮ่องสอนอย่างยั่งยืนนั้น การศึกษาวิจัยในพื้นที่ดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างมาก ในประเทศไทยพบว่าการศึกษาวิจัยแนวลึกเกี่ยวกับระบบถ้ำ การจัดการถ้ำ องค์ความรู้ด้านต่างๆ เกี่ยวกับถ้ำมีอยู่น้อยมาก นอกจากนี้ องค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งของสภาพภูมิประเทศแบบคาสต์และระบบถ้ำ คือ กระบวนการของน้ำ ดังนั้น หากเกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ย่อมส่งผลถึงระบบน้ำทั้งบนดินและใต้ดินอย่างแน่นอนนอกจากนี้ องค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญกับการจัดการที่ยั่งยืนในทุกมิติ (Sustainable development goals) และประเทศไทยได้นำเสนอปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (The Sufficiency Economy Philosophy) ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้เป็นแนวทางในการบริหารประเทศไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Ministry of Foreign Affairs of the Kingdom of Thailand 2016) SEP to SDGs อำเภอปางมะผ้า และอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพสูงที่จะใช้ฐานของทรัพยากรธรรมชาติเดิม ร่วมกับความโดดเด่นด้านธรณี โบราณคดี และชาติพันธุ์ มาร้อยรวมด้วยการศึกษาทุกมิติให้เป็นระบบและเชื่อมโยงเพื่อให้ได้รับการรับรองเป็น “อุทยานธรณี” ของจังหวัด ประเทศ และยูเนสโก ซึ่งจะเป็นแนวทางไปสู่ความสำเร็จของการจัดการที่ยั่งยืนและเกิดการบริหารจัดการจากทุกภาคส่วน ทั้งประชาชนในพื้นที่จะเกิดความภาคภูมิใจอนุรักษ์หวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมในพื้นที่ ซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนทุกมิติ และการเพิ่มพื้นที่อุทยานธรณีของประเทศไทย

วัตถุประสงค์
จัดทำต้นแบบการจัดการการท่องเที่ยวด้านนิเวศธรณีในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

การดำเนินการ


ผลการดำเนินงาน

ถ้ำที่ทำการศึกษาคือ ถ้ำน้ำลอด ถ้ำเพชร และถ้ำพุทโธ จากการประเมินคุณค่าของแหล่งธรรมชาติประเภทถ้ำ ศักยภาพในการคงคุณค่าของแหล่งธรรมชาติประเภทถ้ำและการประเมินความเสี่ยงของแหล่งธรรมชาติประเภทถ้ำ พบว่าถ้ำน้ำลอดมีศักยภาพสูงสุดทั้งการประเมินคุณค่าและการคงคุณค่าของแหล่งธรรมชาติประเภทถ้ำและมีความเสี่ยงต่ำสุด การอนุรักษ์สภาพภูมิประเทศแบบคาสต์และระบบถ้ำควรดำเนินไปควบคู่กันเนื่องจากถ้ำส่วนมากจะเป็นส่วนหนึ่งของระบบคาสต์ เมื่อพิจารณาจากกรอบการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวด้านธรณีของยูเนสโกพบว่าพื้นที่อำเภอปางมะผ้าต้องมีการพัฒนาอีกหลายด้านโดยเฉพาะด้านองค์ความรู้ของไกด์ท้องถิ่นและการอนุรักษ์แหล่งธรณี

การศึกษาครั้งนี้เสนอให้มีการบริหารจัดการมรดกทางธรณี 4 กลยุทธ์
1) กลยุทธ์เชิงรุก คือ ยกระดับอำเภอปางมะผ้าให้เป็นแหล่งมรดกทางธรณี โดยการดำเนิน กลยุทธ์การพัฒนาการท่องเที่ยวมรดกทางธรรมชาติ-มรดกทางธรณีตามแนวทางของยูเนสโก
2) กลยุทธ์เชิงแก้ไข คือ พัฒนาองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์มรดกทางธรณี และ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ
3) กลยุทธ์เชิงป้องกัน คือพัฒนาเป็นเมืองสุขภาพ และ
4) กลยุทธ์เชิงรับ คือการส่งเสริมสาธารณสุขพื้นฐาน และ พัฒนาระบบเตือนภัย

การนำไปใช้ประโยชน์

เครือข่ายกลุ่มการท่องเที่ยว กลุ่มอาชีพนำเที่ยวและผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้ใช้ “คู่มือการจัดการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา โดยชุมชน... อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย” และแผ่นพับ “แผนที่ท่องเที่ยวภายในถ้ำน้ำลอด อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน” เป็นแนวทางจัดการท่องเที่ยวเชิงธรณีอย่างสร้างสรรค์ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดการท่องเที่ยวใช้ประกอบการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น และการให้บริการ
องค์การบริหารส่วนตำบล สามารถนำไปเพิ่มเติมหรือผนวกกับแผนการท่องเที่ยวของท้องถิ่นนอกจากนี้ทางองค์การท่องเที่ยวและกีฬาอาจเข้ามาให้การสนับสนุนและยกระดับการท่องเที่ยวที่อำเภอปางมะผ้าเป็นการท่องเที่ยววิถีใหม่ด้านมรดกทางธรณี

ความแตกต่าง หรือมีเอกลักษณ์ที่ต่างจากโครงการอื่น

ทำให้ชุมชนได้ข้อมูลทางวิชาการเพิ่มเติมเพื่อไปปรับใช้กับการจัดการการท่องเที่ยวในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Key Message

แหล่งท่องเที่ยวด้านธรณีในอำเภอปางมะผ้ามีความโดดเด่นและยังสามารถที่จะได้รับการยกระดับให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นด้านการท่องเที่ยว ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรที่จะเข้ามาส่งเสริมเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และเพิ่มพูนความรู้ให้กับไกด์ท้องถิ่นในการใช้แหล่งธรณีเพื่อการท่องเที่ยวอย่างถูกต้อง

สอดคล้องกับยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย

ยุทธศาสตร์ 1 Global Research and Innovation

Partners/Stakeholders

  • องค์การบริหารส่วนตำบล ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน
  • สถาบันวิทยาลัยชุมชนหรือหน่วยงานในท้องถิ่น

ตัวชี้วัด THE Impact Ranking

15.2.1
ภาพประกอบ
images/sdg/2567/dsc09855.jpg
Image

© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.