• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

สารบัญ

ข้าวสารัช อัตลักษณ์แห่งวิถีชีวิตระหว่างคนกับสัตว์

ดร.รัชพงษ์ กลิ่นศรีสุข อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it., Tel.081-5774774

ในโลกยุคปัจจุบันมนุษย์ได้ให้ความสนใจกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สืบเนื่องมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการดำรงชีพของมนุษย์และสัตว์ทั้งในระดับโลกและระดับท้องถิ่น ส่งผลให้เกิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ จังหวัดบุรีรัมย์มีผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ตราสารัชเป็นอัตลักษณ์ของการอนุรักษ์วิถีชีวิตการอยู่ร่วมกันของคนกับสัตว์ หรือการอยู่ร่วมกันระหว่างเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์สวายสอกับนกกระเรียนพันธุ์ไทยอย่างยั่งยืน ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์เคยเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องจากการใช้สารเคมีในการเกษตรจนส่งผลให้นกกระเรียนพันธุ์ไทยหายไปจากพื้นที่ยาวนานมากกว่า 40 ปี อย่างไรก็ตาม การตระหนักรู้ถึงปัญหาย่อมส่งผลให้เกิดการแก้ไข ปี พ.ศ. 2511 องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์และกรมอุทยานแห่งชาติได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการนำนกกระเรียนพันธุ์ไทยกลับคืนสู่พื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ จึงได้เริ่มต้นโครงการ ‘นกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนถิ่น’ หรือ Sarus Crane Reintroduction Project ด้วยการผลักดันให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวแบบอินทรีย์ เพื่อให้พื้นที่นาข้าวเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของนกกระเรียน ความทุ่มเทพยายามนี้ได้รับการสนับสนุนจากวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์สวายสอ จนสามารถนำนกกระเรียนกลับคืนสู่ถิ่นได้ประสบความสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2559 นับเป็นเวลากว่า 48 ปีในการทุ่มเทพยายามเพื่อทำให้ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในบริเวณที่อยู่อาศัยของนกกระเรียนพันธุ์ไทยกลับมาน่าอยู่สำหรับนกกระเรียนอีกครั้ง การให้ที่อยู่อาศัยนกกระเรียนจำเป็นต้องทำให้เกษตรกรมีรายได้ควบคู่กันไปเพื่อการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยอย่างยั่งยืน ดังนั้น เกษตรกรที่เป็นสมาชิกวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์สวายสอและองค์การสวนสัตว์จึงร่วมกันสร้างและผลักดันตราสินค้า “ข้าวสารัช” เพื่อยกย่องคุณงามความดีของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนในการนำนกกระเรียนพันธุ์ไทยกลับคืนถิ่น พร้อมทั้งยกให้ท้องนาของเกษตรกรเป็นแผ่นดินของนกกระเรียน จึงกล่าวได้ว่าข้าวสารัชเป็นตราสินค้าซึ่งเป็นตัวเชื่อมสำคัญที่ทำให้วิถีชีวิตระหว่างเกษตรกรกับนกกระเรียนพันธุ์ไทยสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน หากข้าวสารัชเป็นที่รู้จักในตลาดและกลุ่มผู้บริโภคที่กว้างขึ้น จะส่งผลต่อการสร้างแรงจูงใจให้แก่เกษตรกรในการดำรงระบบการผลิตข้าวแบบอินทรีย์ต่อไปได้ และนาข้าวก็จะยังคงเป็นที่อยู่อาศัยของนกกระเรียน

ลูกนกกระเรียน
ภาพที่ 1 ลูกกระเรียนในนาข้าวอินทรีย์ในพื้นที่นาจังหวัดบุรีรัมย์
ที่มา: ธารริน(2560)

กระบวนการสร้างตราสินค้ามีเป้าหมายเพื่อสร้างการรับรู้ถึงอัตลักษณ์ของข้าวสารัช ประกอบด้วย การเล่าเรื่องราวอันทรงคุณค่าระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก จังหวัดบุรีรัมย์ กับนกกระเรียนพันธุ์ไทย ที่มีความสัมพันธ์กันในด้านการเกื้อกูลกัน โดยนำเรื่องเล่านี้มาเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญของข้าวสารัช และนำอัตลักษณ์ดังกล่าวมาบอกเล่าผ่านบรรจุภัณฑ์

โครงการนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนถิ่นได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรในพื้นที่อย่างมาก โดยเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตเพื่อการเกษตรจากการใช้สารเคมีเป็นจำนวนมาก มาเป็นการเกษตรแบบอินทรีย์ เพื่อสร้างพื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่หากินแก่นกกระเรียน โดยผลผลิตที่ได้จากนาข้าวอินทรีย์เหล่านี้ คือ ข้าวอินทรีย์ตราสารัช หรือข้าวสารัช ซึ่งเป็นสินค้าที่เป็นตัวแทนสัญลักษณ์วิถีชีวิตการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับสัตว์

อย่างไรก็ตาม เรื่องราววิถีชีวิตการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับนกกระเรียน ไปจนถึงความทุ่มเทพยายามจากหลายภาคส่วนเพื่อนำนกกระเรียนกลับคืนถิ่นเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง และแม้ว่าเรื่องราวนี้จะถูกถ่ายทอดผ่านสินค้าข้าวสารัช แต่เนื่องจากข้าวสารัชยังไม่เป็นที่รู้จักเป็นวงกว้างทำให้ผู้บริโภคไม่รับรู้ถึงความทุ่มเทพยายามของเกษตรกรเพื่อนกระเรียน

ปัจจุบันสถานการณ์ช่องทางการจัดจำหน่ายข้าวสารัชยังมีน้อย การลงทุนลงแรงของเกษตรกรที่เสียสละที่นาของตนให้เป็นที่อยู่อาศัยของนกกระเรียนจะไม่สามารถทำได้อย่างยั่งยืนหากเกษตรกรขาดรายได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ การทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญของการทุ่มเท เสียสละของเกษตรกรเพื่อนกกระเรียน สาเหตุที่ผู้บริโภคไม่เกิดการรับรู้ถึงเรื่องราวอันทรงคุณค่าของข้าวสารัช เกิดจากช่องทางการจัดจำหน่ายและประชาสัมพันธ์ไม่เอื้อให้เกิดการรับรู้ของผู้บริโภค ส่งผลให้ข้าวสารัชไม่เป็นที่รู้จักในท้องตลาดทั่วไป


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.