สรุปการเสวนา เรื่อง “Tips and Tricks with Two Editors: What an editor wants”
17 มกราคม 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.จำลอง อรุณเลิศอารีย์ รองคณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้แทนคณบดีกล่าวต้อนรับ ศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ปัญหา บรรณาธิการวารสาร Tropical Natural History วารสารทางการของพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รองศาสตราจารย์ ดร.ดุษณี ธนะบริพัฒน์ บรรณาธิการวารสาร Current Applied Science and Technology จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในโอกาสเป็นวิทยากรผู้ร่วมเสวนาด้านการวิจัย เรื่อง “Tips and Tricks with Two Editors: What an editor wants” ทั้งนี้โดยมี อาจารย์ ดร.วิชญา รงค์สยามานนท์ รองบรรณาธิการวารสาร Environment and Natural Resources Journal คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการ
สรุปรายละเอียดการเสวนา
อาจารย์สมศักดิ์เกริ่นนำเกี่ยวกับวารสาร โดยมีแนวความคิดว่าการตีพิมพ์ผลงานพื้นฐานมาจากงานวิจัยและมีโจทย์วิจัย มีการพัฒนาองค์ความรู้ให้ใหม่ขึ้นไปเรื่อยๆ การวิจัยมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยจึงเกิดโจทย์ใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งวารสาร Tropical Natural History เน้นเรื่องชีววิทยา สิ่งแวดล้อม และมนุษยศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
อาจารย์ดุษณีเกริ่นนำเกี่ยวกับวารสาร เป็นวารสารแบบ Multidisciplinary โดยสาขาวิชาที่มี Impact เพิ่มมากขึ้นมีอยู่ 3 ด้านคือ Biochemistry, Biotechnology และ Environmental Sciences ซึ่งการจัดการวารสารของ Current Applied Science and Technology มีการจัดการโดยหน่วยงานสำนักบริหารวารสารวิชาการ ขึ้นตรงกับมหาวิทยาลัยโดยตรง
ช่วงถาม-ตอบ
- ในมุมมองของบรรณาธิการการเลือกวารสารที่ถูกต้องมีส่วนสำคัญต่อผู้เขียนมากหรือน้อยอย่างไร
อาจารย์สมศักดิ์: ผู้เขียนต้องประเมินขอบเขตงานวิจัยของตนเองให้ถูกต้อง เช่นดูจากการอ้างอิงในบทความของตนเองว่าหนักไปทางไหน และขึ้นอยู่กับระดับผู้ทำวิจัย สำหรับผู้เขียนมือใหม่ควรเลือกให้เหมาะสมกับงานก่อนจึงค่อยๆ ขยับความยากของวารสารเพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้ตนเอง
อาจารย์ดุษณี: ถ้าบทความเป็นด้านงานประยุกต์จะค่อนข้าง ให้ดูเรื่องของเครื่องมือของงานวิจัยนั้นๆ ว่าเน้นหนักไปทางด้านไหน ผู้เขียนบางท่านอาจจะชอบส่งวารสารด้าน Applied ไปก่อนเนื่องจากมีความกว้างของขอบเขตงานวิจัยจึงจะได้รับการตอบรับตีพิมพ์ง่ายกว่าวารสารที่เฉพาะทางแต่ส่วนนี้ก็ต้องขึ้นกับบบรรณาธิการพิจารณา
- Format หรือ Template ของวารสารมีความสำคัญอย่างไร และมีผลต่อการพิจารณาในเบื้องต้นกองบรรณาธิการอย่างไร
อาจารย์สมศักดิ์: ผู้เขียนควรศึกษา Instruction for Authors ของวารสารมาให้ดี ซึ่งหากเราเลือกวารสารใดเพื่อจะส่งบทความแล้วต้องพิจารณาให้ดีเนื่องจากนนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำตามมิใช่ให้เลือกทำหรือไม่ บรรณาธิการเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญมากในการพิจารณาบทความ
อาจารย์ดุษณี: หากพบว่าไม่เป็นไปตามที่กำหนดบรรณาธิการส่งไปแก้ไข หากไม่แก้ไขกลับมาก็จะไม่พิจารณาบทความต่อ
- บรรณาธิการพิจารณาบทความขั้นต้นอย่างไรว่าบทความนั้นๆ ไม่มีความซ้ำซ้อน หรือผิดจริยธรรมการวิจัย
อาจารย์สมศักดิ์: เรื่องนี้ยากมากในการประเมิน แต่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของบรรณาธิการในส่วนหนึ่ง และหากสงสัยบรรณาธิการจะส่งต่อให้ Editorial Board ช่วยพิจารณาและช่วยตัดสินบทความนี้
อาจารย์ดุษณี: ให้ Editorial Board ช่วยพิจารณาและช่วยตัดสินบทความนี้
(โดยทั้ง 2 วารสารได้ใช้โปรแกรม Turn-it-in ช่วยในการความซ้ำซ้อนของบทความก่อนเข้ากระบวนการ Review)
- 4. จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของบรรณาธิการ เหตุผลในการ reject บทความส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นจากปัญหาอะไรบ้าง
อาจารย์สมศักดิ์: บทความไม่มีคุณภาพในระดับเนื้อหางานวิจัย ไม่พบองค์ความรู้ใหม่จากบทความ และส่งให้ Editorial Board ช่วยพิจารณาและตัดสิน อีกส่วนนึงคือเรื่องภาษาไม่ดีทำให้อ่านแล้วไม่เข้าใจ
อาจารย์ดุษณี: 1. ขอบเขตงานวิจัยไม่ตรงกับวารสาร 2. เข้าโปรแกรม Turn-it-in แล้วมีความซ้ำซ้อนสูงกว่าที่วารสารกำหนด 3. เนื้อหางานวิจัยไม่ดีและข้อมูลไม่สมบูรณ์
(ทั้ง 2 วารสารมีบทความต่างชาติส่งเข้ามาจำนวนมากและถูก reject เป็นจำนวนมากกว่าประเทศไทย และทั้ง 2 วารสารไม่มีการเก็บค่าตีพิมพ์บทความ (Page charge) จึงทำให้มีผู้เขียนส่งเข้ามาเป็นจำนวนมาก)
- ปัจจุบันมีเว็บไซต์หลอกลวง มีการซื้อขายบทความเพื่อผู้เขียน ในฐานะบรรณาธิการและกองบรรณาธิการต้องมีวิธีกี่รับมืออย่างไร
อาจารย์สมศักดิ์: บรรณาธิการรับมือค่อนข้างยาก จึงขอฝากให้มีคุณธรรมจริยธรรมการวิจัยทุกท่าน
อาจารย์ดุษณี: บรรณาธิการไม่สามารถรับมือได้ทันและทั้งหมด เนื่องจากกลโกงมีหลากหลายรู้แบบ จึงของฝากผู้เขียนว่าต้องมีจริยธรรมการวิจัยเป็นพื้นฐาน
- การส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้เขียนพัฒนาและแก้ไขบทความดียิ่งขึ้น บรรณาธิการมีแนวทางอย่างไรในการสร้างแรงจูงใจผู้เขียนแก้ไขบทความ
อาจารย์สมศักดิ์: บรรณาธิการพิจารณาผลของ reviewer ว่ามีรายละเอียดการแก้ไขเป็นอย่างไร ตรงกับทิศทางที่ควรจะเป็นไปของบทความนั้นไหม หากพบว่าดีและช่วยสงเสริมก็จะมีประโยชน์ต่อบทความ แต่หากไม่มีการให้ข้อคิดเห็นใดๆ มาบรรณาธิการจะต้องพิจารณาผลของ reviewer เพิ่มเติมอีกครั้ง ข้อเสนอแนะบทความต้องสร้างสรรค์ช่วยให้ผู้เขียนพัฒนาบทความกลับมาได้อย่างดี
อาจารย์ดุษณี: บรรณาธิการต้องพิจารณาผลของ reviewer เช่นเดียวกัน เพื่อพัฒนาบทความให้ดีขึ้น
- การเสนอชื่อ reviewer จากผู้เขียนช่วยบรรณาธิการให้ง่ายต่อขั้นตอนต่อไปไหม Trick ในการเสนอชื่อ reviewer ควรทำยังไงบ้าง
อาจารย์สมศักดิ์: การเสนอชื่อ reviewer ควรเสนออย่างตรงไปตรงมา และควรดูเรื่องของ Conflict of interest ในการเสนอด้วย
อาจารย์ดุษณี: เห็นด้วยกับอาจารย์สมศักดิ์
- บทคัดย่อต้องเขียนอย่างไร มี Tip and Trick อย่างไร
อาจารย์สมศักดิ์: การเขียนต้องมาจากผลการศึกษาก่อนให้น่าสนใจ บทความพบอะไรใหม่ เป็นอย่างไร วิธีการทำงานวิจัยอะไรที่ทำให้ได้ผลการศึกษาเช่นนี้ ในบทคัดย่อไม่ควรใส่ตัวย่อเยอะๆ ควรอ่านซ้ำๆ เพื่อแก้ไขให้น่าสนใจ ข้อควรระวังของการเขียนคือไม่ควรใส่ผลการศึกษาที่เกินจริงมากๆ แต่ข้อมูลจริงไม่พบข้อมูลดังกล่าว ควรตรงไปตรงมา
อาจารย์ดุษณี: วัตถุประสงค์งานวิจัยคืออะไร พบอะไรใหม่และมีอะไรน่าสนใจ การเขียนบทคัดย่อดีมีผลต่อการอ้างอิงบทความจึงควรต้องน่าสนใจและกระชับ ข้อควรระวังที่พบมากๆ คือการเขียนผลการศึกษาที่เกินจริงไม่ดีต่อบทความ
- การเขียน Introduction อย่างไรให้น่าสนใจและควรมีปริมาณเท่าไหร่จึงเหมาะสม
อาจารย์สมศักดิ์: ต้องบอกในรายละเอียดว่ามีความจำเป็นในการศึกษาอย่างไร ควรศึกษางานวิจัยในระดับโลกและมีการอ้างอิงที่ชัดเจน การดำเนินการศึกษาก่อนหน้ายังขาดอะไรงานวิจัยนี้ถึงจำเป็นต้องทำขึ้นมา ควรมีการร้อยเรียงเนื้อหาให้ดี การอ้างอิงแบบผิดจริยธรรมเช่นการอ้างโดยไม่ได้อ่านอย่างละเอียด และการเขียนในส่วนนี้จะเป็นส่วนที่สำคัญเพื่อบ่งบอกถึงการปิดช่องว่างงานวิจัยอื่นที่ยังขาด
อาจารย์ดุษณี: ควรเขียนประมาณ 1 หน้าและความมีความเชื่อมโยงกับวัตถุประสงค์ในการทำวิจัย เพราะจะอธิบายว่าทำไมต้องทำงานวิจัยชิ้นนี้ การเขียนอ้างอิงในเนื้อหาเยอะๆ ก็เป็นผลเสีย เนื่องจากไม่ได้ระบุชัดเจนว่าแต่ละอ้างอิงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างไรต่องานวิจัย ถ้าใส่มาเยอะแบบที่ไม่มีความจำเป็นก็ไม่สมควรใส่มา
- การเขียนผลการศึกษาแบบไหนที่เหมาะสมกับงานวิจัย การเขียนเชิงพรรณา กับการใส่รูป กราฟ ตารางอย่างไรให้เหมาะสม
อาจารย์สมศักดิ์: การเขียนเชิงพรรณามีความจำเป็นสำหรับวารสารบางประเภท แต่ควรมีรายละเอียดที่แน่นและไม่เป็นการเกริ่นไปเรื่อยๆ
อาจารย์ดุษณี: ส่วนใหญ่จะเป็นรูป ตาราง แต่ผู้เขียนต้องอธิบายตารางหรือรูปนั้นๆ ต้องอธิบายจุดสำคัญของตารางไม่อธิบายผลทั้งหมดในตารางมา การใส่รูป กราฟ ตารางต้องไม่มากเกินไปและต้องเกี่ยวข้องกับงานวิจัยจริงๆ
- ในส่วนของ Discussion ผู้เขียนควรเขียนแบบไหน
อาจารย์สมศักดิ์: ควรอธิบายว่าผลการศึกษาของเราปิดช่องว่างอะไรในงานวิจัยนี้ ผู้เขียนร่วมควรช่วยอ่านบทความ แก้ไขและเสนอข้อคิดเห็นเพื่อพัฒนาบทความให้ดียิ่งขึ้น
อาจารย์ดุษณี: ถ้าบทความค้นพบผลที่ค่อนข้างใหม่ควรนำเสนอในอภิปรายผล และอธิบายเสริมว่าเราต่างกับบทความอื่นอย่างไร ควรให้ผู้เขียนอื่นช่วยอ่านให้ด้วยเพื่อให้ผู้เขียนมั่นใจว่าเข้าใจตรงกัน
- การที่ผู้เขียนมีการแจ้งว่าบทความได้ส่งให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจภาษามาแล้วในเบื้องต้นมีผลดีต่อบรรณาธิการไหม
อาจารย์สมศักดิ์: มีผลดีกับวารสารมาก โดยทางวารสาร Tropical Natural History ได้ให้ Editorial Board ช่วยอ่านอีกที
อาจารย์ดุษณี: มีผลดี แต่ขึ้นกับข้อกำหนดของแต่ละวารสาร อย่างวารสาร Current Applied Science and Technology ไม่ได้มีการขอกับผู้เขียนแบบจริงจัง แต่ทางวารสารมี Native Speaker อ่านบทความก่อนเผยแพร่ และท่านควรเป็นผู้เชี่ยวชาญที่จบมาตรงกับสาขาวิชาและขอบเขตของวารสาร
- หากบทความที่เคย Proceedings มาแล้วจะนำมาตีพิมพ์ในวารสารได้ไหม
อาจารย์สมศักดิ์: หากผู้เขียนมั่นใจกับงานวิจัยควรเขียนมาตีพิมพ์ในวารสารจะดีกว่า แต่หากตีพิมพ์ไปแล้วควรต้องเพิ่มและปรับแก้ไขให้มีสิ่งใหม่
อาจารย์ดุษณี: ไม่ควรทำ หากจะทำควรมีการศึกษาเพิ่มเติมและต้องต่างจาก Proceedings เดิมมากกว่า 50% เพื่อไม่ให้เกิดการตีพิมพ์ซ้ำซ้อน
- ทิศทางการวิจัยในด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้มในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้าควรเป็นไปในทิศทางใด และมีหัวข้อใดบ้างที่น่าสนใจ
อาจารย์สมศักดิ์: เกี่ยวข้องกับ Climate change โดยศึกษาร่วมกับศาสตร์อื่นๆ เช่น ผลกระทบของภาวะโลกร้อนกับระบบนิเวศต่างๆ การศึกษาเรื่องไมโครพลาสติกกับสิ่งแวดล้อมทางทะเลทั้งมนุษย์และสัตว์ งานด้านสิ่งแวดล้อมผนวกรวมกับ Material Science, Social Science หรือไปรวมกับเศรษฐศาสตร์
อาจารย์ดุษณี: ขอเสริมอีกส่วนเรื่องของ Health Science เช่น PM2.5 จะช่วยแก้ปัญหาร่วมกับสุขภาพได้อย่างไร
งานเสวนานี้จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้ แนะนำเทคนิค วิธีการ รวมถึงสาระสำคัญสำหรับการเตรียมบทความทางวิชาการให้ได้รับการตีพิมพ์ โดยถ่ายทอดจากประสบการณ์ของบรรณาธิการวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่อยู่ในฐาน Scopus โดยมีผู้สนใจจากทั้งภายในและภายนอกส่วนงานเข้าร่วมรับฟังการเสวนา และในรูปแบบออนไลน์ผ่านทาง Cisco Webex และ Facebook Live จำนวน 47 คน