• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

สรุปสาระสำคัญจากกิจกรรมบรรยายด้านการวิจัย (Research Talk) ครั้งที่ 2

สรุปสาระสำคัญจากกิจกรรมบรรยายด้านการวิจัย (Research Talk) ครั้งที่ 2 ประจำปีงบประมาณ 2564
หัวข้อ เรื่อง “สิ่งที่ควรรู้ทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) และแนวคิดการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยรูปแบบใหม่"

ผู้บรรยาย ศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 เวลา 13.00 -15.30 น. ผ่านระบบ Cisco Webex และ Facebook Live

สรุปเนื้อหาโดย ยุทธพล ผ่องพลีศาล งานบริหารการวิจัย

 

คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ โดยงานบริหารการวิจัยร่วมกับสำนักงานวิทยบริการด้านสิ่งแวดล้อมได้จัดกิจกรรมบรรยายด้านการวิจัย หรือ Research Talk ครั้งที่ 2 ประจำปีงบประมาณ 2564 ในหัวข้อเรื่อง "สิ่งที่ควรรู้ทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) และแนวคิดการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยรูปแบบใหม่" เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 ระหว่างเวลา 13.00 – 15.30 น. ผ่านระบบ Cisco Webex และ Facebook Live โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร. ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ และเมธีวิจัยอาวุโส สกว.ประจำปี 2556 และ 2559 เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ในกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมฟังการบรรยายผ่านทั้งสองระบบดังกล่าวจำนวน 103 คน ทั้งบุคลากรภายในส่วนงาน และภายนอกส่วนงาน อาทิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และบุคลากรภายนอกมหาวิทยาลัย อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก    

เริ่มต้นกิจกรรมด้วยการกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมเพื่อบรรยายให้ความรู้ เทคนิคการขอทุนวิจัย และแนวคิดการดำเนินโครงการวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องตามจุดมุ่งหมายของทุนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม รวมทั้งกล่าวเปิดกิจกรรมโดยรองศาสตราจารย์ ดร. จำลอง อรุณเลิศอารีย์ รองคณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพากรศาสตร์ จากนั้นเป็นการกล่าวแนะนำกำหนดการและประวัติวิทยากรโดยคุณสวัสดิรักษ์ ใสงาม หัวหน้างานบริหารการวิจัย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์

 

      รศ. ดร.จำลอง อรุณเลิศอารีย์ 

รองคณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์
กล่าวเปิดกิจกรรม

จากนั้นเป็นการบรรยายโดยวิทยากร ศ.ดร. ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช โดยในช่วงแรกได้กล่าวถึงบริบทวิจัยไทยในโครงสร้างใหม่ สิ่งที่ควรรู้เบื้องต้นสำหรับอาจารย์และนักวิจัยรุ่นใหม่ และบริบทผู้ทำวิจัยในมหาวิทยาลัยไทยโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีความเชื่อมโยงเป็นระบบตั้งแต่ระดับผู้จัดทำข้อเสนอการวิจัย ได้แก่นักศึกษาต่ำกว่าระดับบัณฑิตศึกษา นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (ป.โท-ป.เอก) ซึ่งผ่านการกลั่นกรองเบื้องต้นจากระดับผู้ตรวจสอบปรับปรุงผลงาน ได้แก่ นักวิจัยหลังปริญญาเอก (Post-Doctoral) และระดับผู้ตัดสินใจหรือนำเสนอผลงาน ได้แก่ นักวิจัยอาวุโส หรือ อาจารย์ประจำที่มีตำแหน่งทางวิชาการต่าง ๆ ของส่วนงาน เพื่อตรวจสอบ แก้ไข หรือปรับปรุงข้อเสนอการวิจัยในขั้นสุดท้ายก่อนที่จะยื่นเสนอต่อแหล่งทุนต่าง ๆ (Funding Program manager) อันนำมาสู่หัวข้อสำคัญของการบรรยายในครั้งนี้ เกี่ยวกับแนวทางการเตรียมข้อเสนอโครงการ เพื่อนำไปสู่การได้รับทุนวิจัย และการสร้างผลงานวิจัยอย่างมีคุณภาพ 

 

ในช่วงถัดมา เป็นการบรรยายเนื้อหาเกี่ยวกับทุน ววน. ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิจัยต้องเรียนรู้ ศึกษาให้เข้าใจและพัฒนาเทคนิคเพื่อเตรียมจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัยและนำเสนอแหล่งทุนได้อย่างเหมาะสม ที่สำคัญได้แก่

  •  ประเภทงานวิจัย แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ 1) งานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ กล่าวคือ เป็นงานวิจัยเน้นสร้างผลกระทบหรือสร้างแก่นความรู้ และ 2) งานวิจัยเพื่อขยายฐานองค์ความรู้ กล่าวคือ เป็นงานวิจัยที่มุ่งขยายฐานองค์ความรู้ในสิ่งที่มีผู้สร้างองค์ความรู้หรือศึกษามาก่อนแล้ว โดยพบว่าส่วนใหญ่นักวิจัยไทยจะมุ่งเน้นสร้างงานวิจัยประเภทที่ 2 เป็นหลัก จึงต้องเพิ่มผลงานประเภทที่ 1 เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ในวงวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขอตำแหน่งวิชาการในระดับรองศาสตราจารย์ขึ้นไปควรเน้นสร้างผลงานวิจัยในลักษณะดังกล่าวนี้
  • เป้าหมายหรือผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ (Objective Key Results) หรือ OKRs เป็นรูปแบบการเขียนดัชนี้ชี้วัดความสำเร็จ (KPI) ของข้อเสนอโครงการวิจัยในปัจจุบัน กล่าวคือ โครงการต้องมีความแปลกใหม่ เข้ากับยุทธศาสตร์ชาติในประเด็นสำคัญ มีผลสัมฤทธิ์ทั้งทางวิชาการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ จำนวนการเผยแพร่ผลงานในวารสารวิชาการที่มีคุณภาพสูงและได้รับการอ้างอิงสม่ำเสมอ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์ ได้เครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการภายนอกส่วนงาน นอกจากนั้นแหล่งทุนบางประเภท อาจต้องการตัวชี้วัดประเภททรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property: IP) อาทิ สิทธิบัตรต่าง ๆ  ด้วย    
  •  ประเภทแหล่งทุน แบ่งเป็น 5 ประเภทที่สำคัญ ได้แก่ (1) ทุนสนับสนุนจากเงินรายได้คณะ/มหาวิทยาลัย (2) ทุนสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) หรือ SF.  เป็นงานวิจัยตามยุทธศาสตร์ชาติ เหมาะสำหรับนักวิจัยผู้มีประสบการณ์ (3) ทุนสนับสนุนงานพื้นฐาน (Fundamental Research Fund) หรือ FF. เป็นทุนมุ่งเน้นการเผยแพร่ผลงานตีพิมพ์เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเป็นหลัก โดย สกสว.จัดสรรงบประมาณโดยตรงแก่มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งสามารถกำหนดแนวทางหัวข้อวิจัย คุณสมบัตินักวิจัย การเปิดรับข้อเสนอโครงการและคัดเลือกผู้ที่ได้รับทุนตามเกณฑ์เฉพาะของมหาวิทยาลัย (4) ทุนวิจัยหน่วยงานรัฐ / รัฐวิสาหกิจ และ (5) ทุนวิจัยจากหน่วยงานภาคเอกชน ซึ่งเป็นแหล่งทุนที่ใม่ได้อยู่ในระบบ อววน. อันมีข้อแนะนำว่านักวิจัยไม่ควรส่งข้อเสนอโครงการวิจัยเรื่องเดียวกันซ้ำซ้อนหลายแหล่งทุน เนื่องจากเป็นข้อกำหนดทั่วไปของการประกาศรับทุน และสามารถตรวจสอบผ่านระบบ NRIIS ได้    
  •  สิ่งที่ควรรู้ในการเขียนข้อเสนอโครงการ (Proposal) ที่สำคัญ โดยนักวิจัยต้องรู้รายละเอียด ตั้งแต่ Format Template อัตรางบประมาณแต่ละหมวด (Budget Management) การเปิดรับ Concept Proposal และ/หรือ Full Proposal รวมทั้งการระบุประเภทโครงการวิจัยเดี่ยว หรือชุดโครงการ ข้อกำหนดระดับความพร้อมด้านเทคโนโลยี หรือ TRL ตลอดจน OKRs ของแต่ละแหล่งทุนซึ่งมีความแตกต่างกัน
 

แนวทางการจัดสรรงบประมาณ ววน. ปัจจุบันงบประมาณดังกล่าวส่วนใหญ่ร้อยละ 60 ถูกจัดสรรเป็นทุนสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (SF.) แก่หน่วยงานด้านการให้ทุน (7PMUs) และร้อยละ 40 ถูกจัดสรรเป็นทุนสนับสนุนงานพื้นฐาน (FF.) แก่สถาบันอุดมศึกษา จำนวน 96 สถาบัน หน่วยงานด้านการวิจัยที่ไม่ใช่สถาบันอุดมศึกษา จำนวน 75 หน่วยงาน เช่น MTEC NECTEC เป็นต้น นักวิจัยจึงควรศึกษายุทธศาสตร์ อววน. เพื่อการพัฒนา ซึ่งประกอบด้วย 4 Platform / 16 Program และ Program 17: การแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศในปัจจุบัน โดยเฉพาะสถานการณ์ COVID-19 เนื่องจากแหล่งทุนแต่ละแห่งรับผิดชอบแพลตฟอร์มการดำเนินงานเชิงยุทธศาสตร์อันแตกต่างกัน เพื่อประเมินความสอดคล้องของข้อเสนอโครงการกับความต้องการของแหล่งทุน รวมทั้งมีกรอบกติกา และเงื่อนไขอื่น ๆ เพิ่มเติมหรือไม่ อาทิ  In Kind/In Cash จากภาคเอกชน  

 

        แพลตฟอร์มและโปรแกรมการดำเนินงานเชิงยุทธศาสตร์ และแหล่งทุน (PMU) ที่รับผิดชอบ

 

  • ระดับความพร้อมด้านเทคโนโลยี (Technology Readiness Level: TRL) มี 9 ระดับกล่าวคือนักวิจัยต้องกำหนดตำแหน่ง (Positioning) ข้อเสนอโครงการวิจัยว่ามีความพร้อมด้านเทคโนโลยีอยู่ในระดับใด สอดคล้องกับเงื่อนไขของแหล่งทุน (PMU) หรือไม่ และยื่นภายใต้โปรแกรมอะไร โดยทั่วไประดับ 1-3 เป็นงานวิจัยประเภทการพัฒนาองค์ความรู้และการวิจัยพื้นฐาน ซึ่งเหมาะสมกับการสนับสนุนทุนของ วช. หรือ บพค. ระดับ 4-5 ระดับ 6-7 และระดับ 8 เป็นต้นแบบห้องปฏิบัติการ ต้นแบบภาคสนาม และต้นแบบภาคสนามที่ผ่านมาตรฐาน ซึ่งเหมาะสมกับการสนับสนุนทุนของ สวก. สวรส. บพท. และ บพข. ตามลำดับ และระดับ 9 เป็นงานวิจัยที่มีเทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์ซึ่งถูกนำไปใช้งานจริงโดยลูกค้า จึงเหมาะสมกับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ภาคเอกชน หรือ สถาบันการเงินต่าง ๆ

ระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี (TRL) และแหล่งทุน (PMU) ที่เหมาะสม

 

               ในส่วนคำถามจากผู้เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวได้ว่ามีผู้สนใจสอบถามข้อสงสัย ขอคำแนะนำ และข้อเสนอแนะจากวิทยากรเกี่ยวกับเทคนิคการเขียนข้อเสนอโครงการอย่างน่าสนใจ อาทิ

  • แนวทางการพิจารณาประเภทแหล่งทุน (PMU) ระดับ TRL ที่เหมาะสมกับการต่อยอดโครงการวิจัยซึ่งได้จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาหรือมีเงื่อนไขความต้องการร่วมมือกับภาคเอกชน
  • การทำความเข้าใจข้อกำหนด OKRs ของแหล่งทุนที่ปรากฏในระบบ NRIIS เพื่อประยุกต์ให้สอดคล้องกับการเขียนผลที่คาดว่าจะได้รับในข้อเสนอโครงการวิจัย
  • เกณฑ์ หรือตัวชี้วัดความสำเร็จของแผนการดำเนินงานในข้อเสนอโครงการวิจัยที่แหล่งทุนใช้ประกอบการพิจารณาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะแหล่งทุนภายใต้การกำกับของ สอวช. เช่น บพข. บพท. เป็นต้น
  • แนวทางการเขียนระยะเวลาส่งมอบผลผลิตจากงานวิจัยอย่างเหมาะสมในข้อเสนอโครงการวิจัย

           ซึ่งได้รับคำตอบ คำแนะนำ เทคนิคน่ารู้ ตลอดจนข้อพิจารณาหรือข้อควรระวังอันเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ผลงานหรือการเจรจาความร่วมมืองานวิจัยกับภาคเอกชน จากประสบการณ์ของวิทยากรเป็นอย่างดี  
ในช่วงสุดท้าย เป็นการแนะนำตัวอย่างการเขียนข้อเสนอโครงการให้มีความน่าสนใจ กล่าวคือนักวิจัยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความแปลกใหม่และมีจุดขายในข้อเสนอโครงการวิจัย มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในประเด็นสำคัญ มีลักษณะบูรณาการสหสาขาวิทยาการ (Multidisciplinary) มีความร่วมมือจากนักวิจัยหลากหลายสาขาวิชา มีลักษณะคร่อมศาสตร์ สามารถนำไปใช้ได้จริง เกิดประโยชน์ต่อวงวิชาการ ทั้งการเผยแพร่ผลงาน การสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ การสร้างเครือข่ายนักวิจัย และเกิดประโยชน์ต่อสังคม โดยนักวิจัยที่มีประสบการณ์สูงควรเลือกเสนอเป็นชุดโครงการ โครงการย่อยต้องมีความสอดคล้อง (synchronize) กับโครงการชุด ในขณะที่นักวิจัยประสบการณ์น้อยอาจเสนอเป็นโครงการเดี่ยวหรือโครงการย่อยภายใต้ชุดโครงการ และหัวใจสำคัญอยู่ที่ การเขียนบทสรุปผู้บริหารให้มีความน่าสนใจ ชี้ให้เห็นถึงความใหม่ของงานวิจัย ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับซึ่งมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือเกิดผลกระทบต่อภาคส่วนต่าง ๆ การระบุ TRL อย่างสอดคล้อง ตลอดจนเทคนิคการใช้รูปภาพ / Infographic ต่าง ๆ บรรยายแทนข้อความเพื่อลดจำนวนหน้า ดึงดูดความสนใจ และประหยัดเวลาในการอ่านข้อเสนอโครงการของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ทั้งนี้ได้แนะนำให้นักวิจัยควรเตรียมข้อเสนอโครงการล่วงหน้า โดยสามารถศึกษาข้อมูลปฏิทินทุนวิจัยของแหล่งทุนต่าง ๆ เรียนรู้ข้อกำหนดและเงื่อนไขการพิจารณา และดูตัวอย่างรายชื่อข้อเสนอโครงการวิจัยที่ได้รับทุนตามแพลตฟอร์มและโปรแกรมที่เกี่ยวข้อง จะทำให้สามารถประเมินความต้องการของแหล่งทุนได้  

 


ขั้นตอนปฏิบัติ

ขั้นตอนปฏิบัติ

เพื่อให้ผู้มาขอให้บริการเข้าใจขั้นตอนต่างๆ ในการขอรับบริการงานบริหารงานวิจัยจึงได้รวบรวมขั้นตอนการทำงาน (Workflow) ไว้สำหรับทุกท่าน
ดูขั้นตอนต่างๆ ในการขอรับบริการ
This image for Image Layouts addon

แบบสำรวจข้อมูล

แบบสำรวจข้อมูลเพื่อนำไปสู่การค้นหาทุนที่เหมาะสมกับความเชี่ยวชาญของนักวิจัย
เข้าสู่แบบสำรวจ
© 2025 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.