• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
“รากของเส้นใยจากเห็ด” หนึ่งในนวัตกรรมทางธรรมชาติ ทางออกสำหรับการลดโลกร้อน

“รากของเส้นใยจากเห็ด” หนึ่งในนวัตกรรมทางธรรมชาติ ทางออกสำหรับการลดโลกร้อน

การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ก่อให้เกิด “ภาวะโลกร้อน”นั่นคือ ก๊าซเรือนกระจก สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลอย่างรวดเร็ว ซึ่งตามในรายงาน โลกเรายังพอมีความหวังเล็ก ๆ ว่า ยังมีอีกหลายอย่างที่โลกจะเอากลับคืนมาได้ หากมนุษย์เรามีความตั้งใจช่วยกัน เร่งมือในเรื่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และแม้กระทั่งก๊าซมีเทน ต่าง ๆ นี้ให้น้อยลง อย่างน้อย ๆ สิ่งใกล้ตัวเรา ปัญหาขยะพลาสติก ถือเป็นปัญหาใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อมของโลกเราทีเดียว เนื่องจากขยะพลาสติกส่งผลกระทบร้ายแรงด้านระบบนิเวศ รวมถึงปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases)
“เห็ด” ที่ไม่ได้ใช้แค่ทำเป็นอาหาร หากยังเป็นวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นทางออกสำหรับการลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย ดังนั้นวัสดุ MBC (Mycelium-based Composite) เป็นวัสดุนวัตกรรมที่ยั่งยืนผลิตจากไมซีเลียมของเชื้อรา ซึ่งเป็นโครงสร้างคล้ายรากของเห็ด ไมซีเลียมเป็นส่วนที่เจริญเติบโตของเชื้อรา ประกอบด้วยเส้นใยสีขาวละเอียดที่เรียกว่าไฮฟี ในธรรมชาติ ไมซีเลียมมีบทบาทสำคัญในการย่อยสลายสารอินทรีย์และช่วยในการหมุนเวียนสารอาหารในระบบนิเวศ การผลิต MBC เป็นการนำกระบวนการทางธรรมชาตินี้มาควบคุมในสภาพแวดล้อมการผลิต


ดร.จักรพล พันธุวงศ์ภักดี อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการศึกษา ค้นคว้าทดลองในเรื่อง “วัสดุจากไมซีเลียมของเห็ด” ได้กล่าวว่า กระบวนการผลิต MBC เริ่มต้นด้วยการเตรียมวัสดุรองรับเป็นแหล่งคาร์บอน ซึ่งมักเป็นวัสดุเหลือทิ้งอินทรีย์จากการเกษตรหรืออุตสาหกรรม วัสดุรองรับที่เตรียมไว้จะถูกปลูกเชื้อด้วยสปอร์ของเชื้อรา และวางไว้ในสภาพแวดล้อมที่ควบคุมให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของไมซีเลียม เมื่อเวลาผ่านไป ไมซีเลียมจะเจริญเติบโตทั่ววัสดุรองรับ ทำหน้าที่คล้ายกาวธรรมชาติ ยึดเกาะวัสดุเข้าด้วยกันเป็นก้อนแข็ง ขึ้นอยู่กับการใช้งานที่ต้องการ วัสดุนี้สามารถขึ้นรูปเป็นรูปทรงต่าง ๆ ในระหว่างช่วงการเจริญเติบโตได้ เมื่อได้การเจริญเติบโตตามที่ต้องการแล้ว วัสดุจะถูกนำไปผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนเพื่อหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อรา จากนั้นจึงได้ MBC ซึ่งสามารถนำมาปรับปรุงคุณสมบัติเพิ่มเติมตามต้องการต่อไปได้
แนวโน้มการศึกษาเกี่ยวกับ MBC เติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1966 โดยเฉพาะในปี 2019 และ 2020 มีการตีพิมพ์บทความวิชาการเกี่ยวกับเรื่องนี้มากกว่า 50 บทความ ส่วนใหญ่มาจากประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา ในขณะเดียวกัน คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมตลาดเห็ดในประเทศไทยจะมีมูลค่าตลาดประมาณ 941.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 แม้จะมีการเติบโต แต่การใช้ประโยชน์จากเชื้อราในประเทศไทยยังคงมุ่งเน้นไปที่การผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์ยาเป็นหลัก ด้วยขนาดตลาดเห็ดที่ใหญ่ในประเทศไทย จึงมีศักยภาพสูงสำหรับนักวิจัยและนักลงทุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จาก MBC นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับ MBC ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงความพร้อมของวัสดุรองรับที่เป็นของเสีย สารอาหาร และวัสดุเสริมแรงจากธรรมชาติในภูมิภาค


การใช้ MBC สามารถช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากวัสดุก่อสร้างหรือบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกที่มาจากน้ำมัน รวมถึงปัญหามลพิษที่เกิดจากการผลิตคอนกรีต เนื่องจากวัสดุ MBC มีคุณสมบัติทนไฟ ดูดซับเสียง และมีคุณสมบัติทางความร้อนและกลที่ดีเยี่ยม คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้ MBC ถูกนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ (แต่ยังไม่ใช่ในประเทศไทย) เพื่อทดแทนวัสดุก่อสร้าง บรรจุภัณฑ์ และวัสดุสิ่งทอแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบรรจุภัณฑ์กันกระแทก สามารถใช้แทนโฟมจากปิโตรเลียม และการใช้ผลิตเฟอร์นิเจอร์แทนวัสดุพลาสติก อย่างไรก็ตาม ยังมีช่องว่างในการพัฒนา MBC สำหรับบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวัสดุรองรับจากแหล่งต่างๆ ยังสามารถนำมาศึกษาเพิ่มเติมได้
ดร.จักรพล พันธุวงศ์ภักดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในประเทศไทย แม้จะมีความหลากหลายของเห็ดตลอดทั้งปีและมีวัสดุเหลือใช้ที่สามารถนำมาเป็นแหล่งคาร์บอนได้เป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่มีการนำวัสดุ MBC มาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม ในด้านการวิจัยและนวัตกรรม ได้มีการเริ่มดำเนินการบ้างแล้วในประเทศไทย เช่นงานวิจัยจาก มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ได้นำ MBC มาสร้างเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารที่ย่อยสลายได้ หนังจากเห็ดรา โลงศพสัตว์เลี้ยง ตุ๊กตารูปม้าลายรักษ์โลก และวัสดุชีวภาพใช้ประยุกต์ในทางอาหารและการแพทย์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมี โครงการ BCG Nature Heart โครงการ Myco-brick และโครงการอื่นๆด้าน MBC. ซึ่งนำทีมโดยนักวิจัยจาก BIOTEC ร่วมกับทีมนักวิจัยด้าน Bio-based Material Science จากสาขาวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมนาโน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และทีมนักวิจัยคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

โครงการเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการริเริ่มใช้ MBC ในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยควรส่งเสริมการพัฒนาและการใช้ MBC ให้มากขึ้น เนื่องจากมีศักยภาพสูงในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม สร้างนวัตกรรมใหม่ และเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา MBC อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งเสริมการใช้งานในเชิงพาณิชย์ จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำในด้านวัสดุยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้

แหล่งข้อมูล : https://mgronline.com/qol/detail/9670000082978


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.