สรุปประเด็นจากกิจกรรมเสวนา
“เตรียมรู้สู้ภัยน้ำ”
โดย งานพันธกิจเพื่อสังคม ร่วมกับงานสื่อสารองค์กรและวิเทศสัมพันธ์ และงานวิจัยและบริการวิชาการ
วันที่ 4 กันยายน 2567 เวลา 09.30 - 11.30 น. ณ ห้องศาสตรเมธี ดร.พงศ์พิศน์ ปิยะพงศ์ (4228)
อาคารสิ่งแวดล้อมพัฒนดล คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่ประชุมได้กล่าวถึงการจัดกิจกรรมในวันนี้ เป็นเวทีที่แสดงให้เห็นการรวมกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ ชลประทาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นทีมจิตอาสาร่วมประเมิน วิเคราะห์ ออกแบบ ก่อสร้าง และกอบกู้เรื่องวิกฤตน้ำให้กับสังคม
การเสวนา เริ่มต้นที่ รองศาสตราจารย์ ดร. เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้กล่าวถึงโอกาส ความเสี่ยง และความรุนแรงในกรณีที่จะมีการเกิดอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล รวมถึงจังหวัดนครปฐม โดยต้องพิจารณาจากปัจจัยสำคัญที่มาเกี่ยวข้อง ได้แก่ ความถี่ในการเกิดน้ำท่วมใหญ่ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันและคาดการณ์ถึงอนาคต ความชื้นในทะเล ปริมาณฝนที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต ปริมาณฝนสะสมภาคเหนือและภาคกลาง ปริมาณน้ำท่าที่ผ่านที่ราบลุ่มภาคกลาง ความไม่แน่นอนของพายุในปรากฏการณ์ลานีญา การเกิดพายุลูกใหม่ที่อาจจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยในเดือนกันยายน การเปลี่ยนแปลงสภาพทางกายภาพของพื้นที่รับน้ำ รวมทั้ง การจัดการน้ำและความขัดแย้งในพื้นที่ โดยเมื่อพิจารณาข้อมูลจากปัจจัยต่างๆ แล้ว มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่ในรอบ 50 ปี ซึ่งมีความรุนแรงเทียบเท่ากับปี 2554 น้อยกว่า 10 % แต่มีโอกาสเกิดน้ำท่วมในรอบ 10 ปี กล่าวคือตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไปอยู่ที่ 22 %
ในประเด็นถัดมาที่ประชุมได้กล่าวถึงแนวทางเตรียมการรับมือกับอุทกภัย โดย คุณพิทักษ์ ยุวานนท์ อดีตผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครปฐม ได้เน้นย้ำถึงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในแม่น้ำท่าจีนตอนบนเพื่อเตรียมการรับมือปริมาณน้ำที่อาจมาถึงจังหวัดนครปฐม โดยต้องเร่งขุดลอกตะกอนบริเวณประตูระบายน้ำต่าง ๆ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่เสี่ยง การขอปรับการระบายน้ำจากพื้นที่ชลประทานตอนบน และต้องมีการผันน้ำที่เหมาะสม ร่วมด้วย คุณโบว์แดง ทาแก้ว อดีตผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา ที่ได้กล่าวถึงภาพรวมการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งระบบตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ถึงอ่าวไทย ผ่านแม่น้ำและลำคลองสาขาต่าง ๆ ด้วยระบบคลองลัด แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาโดยเน้นปรับปรุงประสิทธิภาพการระบายน้ำท่าจีนตอนบนและตอนล่าง การใช้พื้นที่ปลูกข้าวบางส่วนเป็นพื้นที่แก้มลิงเพื่อรับน้ำหลาก รวมทั้งต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลและคาดการณ์เพื่อเตรียมแผนเผชิญเหตุหรือแผนเร่งด่วนในพื้นที่
ช่วงต่อมา ที่ประชุมได้กล่าวถึงการประยุกต์ใช้งานวิจัยและวัตกรรม (Innovation) มาป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ศุภสิทธิ์ คนใหญ่ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ และรองผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิชาการ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เน้นให้ความสำคัญกับการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านเพื่อทราบสาเหตุและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากน้ำท่วม ทั้งปัจจัยด้านธรรมชาติ เช่น ร่องมรสุมที่เข้าประเทศไทยตลอดทั้งปี การมีพายุเข้ามาเติมร่องมรสุม และสภาพทางกายภาพเพื่อรองรับน้ำของแต่ละพื้นที่ เพื่อฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะได้ประยุกต์ใช้ข้อมูลและความรู้เชิงวิชาการมาออกแบบแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ทั้งการบริหารจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งระบบ และการพัฒนานวัตกรรม อาทิ การพัฒนาแบบจำลองสนับสนุนการตัดสินใจเชิงพื้นที่ หรือการวิจัยและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ทางวิศวกรรมเพื่องานชลประทาน ซึ่งในประเด็นเดียวกันนี้ ถือว่าเป็นแนวทางแก้ปัญหาเร่งด่วนที่ได้รับข้อมูลเพิ่มเติม โดย คุณภัทรพล ณ หนองคาย อดีตผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างสำนักงานชลประทานที่ 6 ได้กล่าวถึงแผนบรรเทาอุทกภัย 2567 ได้แก่ แผนงานเร่งด่วน แผนงานระยะสั้น แผนงานปานกลาง และแผนงานระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบรรเทาปัญหาอุทกภัยเร่งด่วนด้วยการใช้ “นวัตกรรมดินซีเมนต์” โดยเป็นการผลิตวัสดุที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงพนังหรือคันกั้นน้ำแบบเร่งด่วน ซ่อมแซมตอม่อสะพาน ซ่อมแซมถนน ผิวจราจร และคอสะพาน ปรับปรุงฐานรากกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กกันน้ำ ซึ่งมีจุดเด่นที่เป็นการก่อสร้างประหยัดงบประมาณ รวดเร็ว และท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้เองจากดินในพื้นที่โดยรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ อันมีตัวอย่างการผลิตและใช้งานจริงในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
ในช่วงท้ายของการเสวนา ได้กล่าวถึงแผนระยะยาวในการจัดการน้ำ ตามข้อเสนอแนะของรองศาสตราจารย์ ดร. เสรี ศุภราทิตย์ ที่ต้องพิจารณาทั้งปัจจัยความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากปรากฎการณ์เอลนีโญสู่ลานีญา ซึ่งจะทำให้เกิดน้ำแล้งสลับน้ำท่วมในระยะ 10 ปีข้างหน้า และปัจจัยความเสี่ยงด้านพื้นที่ เช่น การสร้างสิ่งก่อสร้างป้องกันน้ำท่วมที่ไม่เหมาะสมกับสภาพทางกายภาพอาจส่งผลกระทบกับปัญหาน้ำท่วมในระยะต่อไปได้ อันมีทางเลือกในการจัดการปัญหาดังกล่าวทั้งมาตราการใช้สิ่งก่อสร้าง อาทิ Nature based solution, Green Infrastructure, Gray Infrastructure, Hybrid Solution และ มาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง อาทิ การวางแผนการใช้ที่ดิน การพัฒนาระบบพยากรณ์และเตือนภัย การทำประกันภัย และการใช้พื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) ป้องกันน้ำท่วม รวมทั้งได้รับฟังข้อเสนอแนะและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เข้าร่วมกิจกรรม ทั้งการเปิดโอกาสให้ตัวแทนภาคประชาสังคมในลุ่มน้ำได้มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ รับฟังปัญหา และนำเสนอข้อเท็จจริงร่วมกับทีมงานเพื่อบริหารจัดการน้ำ การประสานงานและแบ่งปันข้อมูลจากทุกภาคส่วน และควรมีหน่วยงานกลางที่มีอำนาจและเชื่อถือได้มารับผิดชอบเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศด้านน้ำผ่านช่องทางที่ประชาชนเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย มีการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีอย่างเหมาะสมจากภาควิชาการ เพื่อที่แต่ละชุมชนจะได้มีความตระหนักรู้ ตื่นตัวและเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาอุทกภัยได้อย่างสอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ต่อไป