• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

แม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประจำปี 2547

นางมิยะ หะหวา

ชื่อ - นามสกุลนางมิยะ หะหวา อายุ 45 ปี
อาชีพ ประมงพื้นบ้าน
ที่อยู่ 60/3 ม.6 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง 92110 (โทร/แฟกซ์ เพื่อฝากข้อความ 0-7521-2414 )
สถานภาพ แต่งงานกับนายยะเหตุ หะหวา โดยมีบุตรร่วมกัน 5 คน

นางมิยะ หะหวา เป็นแกนนำชาวประมงพื้นบ้าน บ้านเจ้าไหม ที่ดำเนินกิจกรรม และมีคุณูปการต่องานด้านสิ่งแวดล้อม จ.ตรัง มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 จวบจนถึงปัจจุบัน ด้วยผลงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานราชการและเอกชน ทั้งระดับจังหวัด และระดับประเทศ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการหลายรายการ ทั้งยังเป็นแม่ตัวอย่างที่สามารถปลูกสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมสู่ลูกจนประสบความสำเร็จ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ประวัติผลงาน

  1. แกนนำชาวประมงพื้นบ้าน บ้านเจ้าไหม จ.ตรัง เพื่อดำเนินกิจกรรมดูแลรักษาแหล่งหากินและบริบาลสัตว์น้ำ คือหญ้าทะเล ป่าชายเลนชุมชน โดยผลสำเร็จที่เกิดขึ้นคือ
    • สัตว์น้ำเศรษฐกิจกับมาอุดมสมบูรณ์ในทะเลหน้าบ้าน หลังจากที่ประมาณปี 2534 สัตว์น้ำเหล่านี้แทบจับหาเลี้ยงชีพไม่ได้จนในปัจจุบัน ทะเลหน้าบ้านกลายเป็นที่พึ่งพิงของชาวประมงในหมู่บ้านทุกครอบครัว
    • สัตว์น้ำหายาก จำพวก พะยูน โลมา ที่ครั้งหนึ่งเคยพบเห็นได้ยาก กลับมาหากินและอยู่อาศัยในทะเลหน้าบ้าน จนกลายเป็นกระแสด้านการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในส่วนราชการของจังหวัดตรังจนถึงปัจจุบัน
    • สัตว์ป่าหายากจำพวกค่าง นกบางชนิด และพืชสมุนไพร อาศัยเจริญเติบโตอยู่ในป่าชายเลนที่ดูแลรักษาจนถึงปัจจุบัน
    • การดูแลรักษาหญ้าทะเล ป่าชายเลน จนอุดมสมบูรณ์ เป็นเงื่อนไขให้สามารถผลักดันส่วนราชการเกิดการป้องปราม และตรวจจับเครื่องมือประมงทำลายล้างที่เข้ามารุกล้ำเขตหวงห้ามจนเกิดผลปฏิบัติจริง
    • สร้างความร่วมมือด้านการวางแผนการจัดการสิ่งแวดล้อมระหว่างชาวบ้านกับส่วนราชการให้เกิดขึ้น
    • สร้างกระแสจิตสำนึกด้านการจัดการดูแลสิ่งแวดล้อมของคนในหมู่บ้าน และขยายเครือข่ายไปสู่หมู่บ้านชาวประมงพื้นที่อื่น ๆ
    • พิสูจน์ให้เจ้าหน้าที่อุทยานเจ้าไหม เห็นว่าชาวบ้านสามารถจัดการดูแลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้ แม้จะเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยาน จนในปัจจุบันชาวบ้านกับทางอุทยานแห่งชาติสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติ
    • ฯลฯ
  2. แกนนำจัดตั้งชมรมชาวประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินกิจกรรมด้านการจัดการดูแลทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และสิทธิของชาวประมงในด้านต่าง ๆ จนสามารถขยายเครือข่ายครอบคลุมสมาชิกกว่า 30 หมู่บ้าน ซึ่งในปัจจุบันตนดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสของชมรมฯ
  3. แกนนำจัดตั้งสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ ซึ่งเป็นเครือข่ายชาวประมงทั้ง 13 จังหวัดภาคใต้ที่ดำเนินกิจกรรมด้านการจัดการดูแลทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และสิทธิของชาวประมงในด้านต่าง ๆ ทั้งในระดับพื้นที่และระดับนโยบายปัจจุบันตนดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสของสมาพันธ์ฯ
  4. ได้รับเชิญจากองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมประชุมในเรื่องสำคัญต่าง ๆ เช่น การจัดแผนแม่บท จังหวัดตรัง การจัดแผนการจัดการทรัพยากร ฯลฯ นอกจากนี้ยังได้รับเชิญให้เข้าร่วมศึกษาดูงานในต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน ประเทศฝรั่งเศษ เป็นต้น
  5. เข้ารับเป็นอาสาสมัครสาธารณะสุข (อสม.) มาเกือบ 20 ปี
  6. นอกจากนี้ยังดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมตามวาระต่าง ๆ อีกมากมาย (ตั้งแต่ปี 2534-ปัจจุบัน) เช่น กิจกรรมปลูกป่า กิจกรรมศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าชายเลน และหญ้าทะเล กิจกรรมด้านการเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมตามวาระต่างๆที่รับเชิญกว่า 50 ครั้ง เป็นต้น การปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมสู่ลูก ๆ

ตลอดระยะเวลาที่ได้ดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2534 นั้นสิ่งที่ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมสู่ลูกๆ โดยมากจะเป็นการปลูกฝังให้เกิดการเรียนรู้โดยตรงทั้งสิ้น

การปลูกฝังด้วยวิธีการแบบนี้นั้น เกิดผลจนทำให้รายการโทรทัศน์ "รายการทุ่งแสงตะวัน" ซึ่งเป็นรายการสารคดีเด็กเคยมาทำเรื่องชีวิตของลูกๆถึง 2 ครั้ง โดยการปลูกฝังด้วยวิธีดังกล่าว ที่ดำเนินการมาตลอดคือ

  • ให้เกิดการเรียนรู้จากวิถีชีวิตที่ดำรงอยู่ ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุว่าเป็นครอบครัวชาวประมง ซึ่งเป็นลักษณะครอบครัวที่จะต้องฝึกให้ลูกๆ อยู่กับทะเลให้ได้ โดยการนำลูกๆ ออกทะเลเพื่อสะสมความช่ำชองทางอาชีพประมง และช่วงเวลาเหล่านี้การสอดแทรกเรื่องสิ่งแวดล้อมจะสามารถทำได้ง่าย เพราะลูกๆ จะพบเห็นของจริง เช่น เมื่อจะอธิบายว่าป่าชายเลน หรือหญ้าทะเล เป็นแหล่งบริบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ลูกๆ ก็จะได้เห็นของจริง และเข้าใจว่าหญ้าทะเล หรือ ป่าชายเลนควรดูแลรักษา หากทำลายสิ่งเหล่านี้ก็เท่ากับทำลายชีวิตของตัวเอง เพราะอาชีพของเราคือประมง หรือหากจะอธิบายว่าสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติจะต้องมีความสมดุลโดยวิธีของธรรมชาติ ลูกๆ ก็จะได้เห็นของจริงที่สามารถอธิบายสอดแทรกยามออกทะเลประกอบอาชีพว่า หากยามใดที่เครื่องมือประมงทำลายล้างจำพวกเรืออวนลาก เรืออวนรุน (ซึ่งเป็นของผิดธรรมชาติ) เข้ามาทำลายทะเลหน้าบ้านอยู่ทุกเมื่อเชื่อว่าหายนะก็จะเกิดแก่ทะเล และชาวประมงในที่สุด
  • ให้เกิดการเรียนรู้โดยการนำลูกๆ เข้าร่วมกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ไปพร้อม ๆ กันตามโอกาสจะอำนวยอย่างสม่ำเสมอ เพราะการเรียนรู้ลักษณะนี้จะทำให้ลูกๆ เกิดความภูมิใจ ในกิจกรรมที่ได้ทำ จนกลายเป็นจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมในที่สุด ทั้งยังเป็นการเปิดโลกทัศน์และชีวทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านอื่น ๆ แก่ลูกๆ เพราะเวลาดำเนินกิจกรรมเหล่านี้มักจะมีผู้เข้าร่วมหลากหลาย

หลังจากที่ปลูกฝังเรื่องสิ่งแวดล้อมแบบนี้แก่ลูกๆ มาตลอดในปัจจุบันลูกๆ ทุกคนล้วนมีความรัก หวงแหน และเห็นความสำคัญในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะได้สืบทอดเจตนารมย์ของแม่ที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้า

นางบุญเติม ณรงค์ศิลป์

ชื่อ - นามสกุล นางบุญเติม ณรงค์ศิลป์ (แม่อึ่ง)
อาชีพรับจ้างทั่วไป
ที่อยู่ บ้านท่าบ่อ ต.ท่าบ่อสงคราม จ.นครพนม
สถานภาพ
การศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

แม่อึ่งแม่ผู้ให้โอกาสลูกอยู่เสมอ

แม่อึ่งเป็นแม่คนหนึ่งที่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ ไม่ว่าจะทำอะไรแม่อึ่งไม่เคยเกี่ยง ถึงแม้ว่างานที่ทำจะหนักและเหนื่อยแค่ไหนแม่อึ่งก็ทำเพื่อให้ได้เงินมา แม่อึ่งรับจ้างชำแหละปลา ทำปลาส้มขายและแลกข้าว แม่อึ่งได้เงินประมาณวันละ 100 บาทก็จะรวบรวมไว้ให้ลูกๆ ไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาของลูก ทั้งสามคน แม่อึ่งบอกลูกๆ อยู่เสมอว่า "แม่ไม่มีสมบัติอะไรจะให้นอกจากให้ลูกได้เรียนหนังสือสูงๆ เพราะคนที่เรียนต่ำๆ ก็จะลำบากเหมือนแม่" เมื่อแม่อึ่งส่งลูกคนเล็กเข้าโรงเรียนสายอาชีพในตัวจังหวัด ด้วยความที่เป็นวัยรุ่นจึงมีความคิด อยากรู้อยากเห็น กรอปกับมีโอกาสพบเพื่อนเยอะ จึงถูกเพื่อนชักชวนให้หลงผิดไปติดยาเสพย์ติด ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับโทษจากสารเสพติด จนทำให้ขาดสติสัมปชัญญะ ความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองลดลง ต่อมาได้รับการบำบัดจากศูนย์บำบัดผู้ติดสารเสพติดที่จังหวัดนครพนม ในปัจจุบันแม่อึ่งจึงยังคงรับภาระเลี้ยงดูลูกชายอยู่ แม่อึ่งพูดถึงลูกชายเสมอว่า "จะดีจะชั่วก็ยังคงเป็นลูก" ปัจจุบันแม่อึ่งดูแลลูกชายโดยการให้ลูกชายได้มีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนๆ ให้กำลังใจลูก และให้มีโอกาสช่วยงานพ่อหนอกเท่าที่จะทำได้ เช่น ช่วยหาปลา ช่วยทำงานบ้านบ้างบางโอกาส บางครั้งแม่อึ่งก็แอบร้องไห้คนเดียวเพราะเมื่อลูกชายคนเดียวของแม่อึ่งหลงผิดติดยาเสพย์ติด ทำให้แม่อึ่งต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้ในการดูแลรักษาบำบัดลูกชาย แต่เมื่อทำใจได้แล้วแม่อึ่งกับครอบครัวก็สมารถใช้ชีวิตอยู่ได้ตามปกติสุข

ก้าวย่างในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

บุญเติม

ด้วยวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำของแม่อึ่ง ทำให้แม่อึ่งมีความผูกพันกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นลำน้ำสงคราม ป่าบุ่งป่าทามที่เป็นแหล่งอาหารของชุมชน เช่น กุ้ง หอย ปู ปลาที่มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ในน้ำสงคราม หน่อไม้ เห็ด สมุนไพร ผักต่างๆที่ชาวบ้านในชุมชนสามารถใช้เป็นอาหารได้อีกด้วย และเมื่อสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (inuc) เข้ามาทำงานในพื้นที่ แม่อึ่งเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ในฐานะนักวิจัยกลุ่มพันธุ์พืชในงานวิจัยไทบ้าน นอกจากนี้ยังสนับสนุนสามีให้เป็นนักวิจัยพันธุ์ปลาซึ่งแม่อึ่งเห็นว่าสามีมีความถนัดในด้านนี้สูง หลายต่อหลายครั้งที่ครอบครัวของแม่อึ่งถูกเพื่อนบ้านตั้งคำถามอยู่เสมอ "ทำงานร่วมกับ สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUNC) งวดนี้ได้ค่าตอบแทนเท่าไหร่" แม่อึ่งกับสามีก็ต้องตอบคำถามนี้บ่อยๆว่า "ไม่ได้หรอก" และคำพูดที่มักได้ยินบ่อยๆก็คือ "เป็นบ้าหรือเปล่าทำงานไม่ได้เงินไปทำทำไม" แม่อึ่งก็พยายามอธิบายและชักชวนทำความเข้าใจกับเพื่อนๆในชุมชนเสมอ จนในที่สุดความตั้งใจจริงของแม่อึ่งก็ได้รับการยอมรับจากคนในสังคม ในการทำงานแม่อึ่งและทีมนักวิจัยกลุ่มพันธุ์พืช ต่างทำงานวิจัยด้วยความรักและเต็มใจ โดยที่แม่อึ่งให้เหตุผลเกี่ยวกับการทำงานวิจัยครั้งนี้ว่า "เป็นการศึกษา ค้นคว้า เก็บความหลากหลายของพันธุ์พืชในป่าบุ่งป่าทามเป็นการเก็บรวบรวมภูมิความรู้ต่างๆ ที่มี่ไว้เพื่อไว้ให้ลูกๆลานๆได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำสงครามที่มีความสัมพันธ์และพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ชุมชนเองจะได้ใช้เป็นแนวทางการวางแผนการจัดการอนุรักษ์ความหลากหลายของพันธุ์พืชที่มีอยู่ในป่าบุ่งป่าทามอันเป็นมรดกบรรพบุรุษเหลือไว้ให้ ใช้ประโยชน์ได้ยั่งยืน"

เป้าหมายชีวิตที่แม่หวังไว้

อนาคตข้างหน้าแม่อึ่งได้แต่หวังว่าลูกชายจะหายเป็นคนปรกติ แต่ถึงแม้ว่าลูกไม่หายแม่อึ่งก็จะดูแลลูกชายให้ดีที่สุดให้สมกับความรักความห่วงใยของผู้เป็นแม่

เรื่องงานอนุรักษ์

ในด้านการทำงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในอนาคตของแม่อึ่ง แม่อึ่งก็บอกว่าจะตั้งใจแน่วแน่ทำงานวิจัยไทบ้านให้สำเร็จ ไม่ว่าจะยากลำบากแค่ไหน ไม่ว่าจะใช้เวลานานเท่าไรก็ตามแม่อึ่งก็จะทำให้สำเร็จ เพื่อจะทำหน้าที่ของความเป็นนักวิจัย ทำหน้าที่ตัวแทนของชุมชนในการที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้คงอยู่กับลูกหลานตลอดไป และถึงแม้ว่าในวันหนึ่งไม่มีโครงการของ สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์(IUNC)ไม่มีงานวิจัยไทบ้านแล้วแม่อึ่งก็ยังจะดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในป่าบุ่งป่าทามไว้ตลอดไป



นางสมพร ปานโต

 
ชื่อ - นามสกุลนางสมพร ปานโต อายุ 43 ปี
อาชีพครูโรงเรียนวัดนาพระยา
ที่อยู่ 3/2 หมู่ 1 บ้านหนองกระจันทร์ ต.หนองโรง อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี โทร. 0-3463-0045 , 0-1943-2618
สถานภาพ สมรส มีบุตร 2 คน กับร้อยตรีสมบัติ ปานโต
การศึกษา ปริญญาตรี ครุศาสตร์บัณฑิต เอกคหกรรมศาสตร์ โทประวัติศาสตร์ จากสถาบันวิทยาลัยครูกาญจนบุรี
ประวัติการทำงาน  ปี 2522 ครูสายผู้สอนโรงเรียนบ้านหนองนกแก้ว ต.หนองประดู่ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี, ปี 2524 ครูสายผู้สอนโรงเรียนวัดนาพระยา ต.หนองโรง อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี

ประวัติผลงาน

ทำงานด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปี 2522 ถึงปัจจุบัน ดังต่อไปนี้ ริเริ่มโครงการเด็กรักป่าของกลุ่มโรงเรียนห้วยสะพาน (เดิม) อบต. หนองโรง จัดทำโครงการเสนอของบประมาณให้กับป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคีและเครือข่ายป่าชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี อื่น ๆ

ประวัติด้านความเป็นแม่ (แม่ของลูกและแม่พิมพ์ของชาติ)

มีบุตร 2 คน คนโตชื่อ นายสมชาติ ปานโตอายุ 21ปีเรียนจบจากโรงเรียนผู้ช่วยทันตแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำงานที่โรงพยาบาลทันฑสถานเรือนจำกลาง คลองเปรม กรุงเทพฯ และกำลังศึกษาต่อด้วยตนเอง คนเล็กชื่อ นายวรรณกาญจน์ ปานโต อายุ 18 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนพนมทวนชนูปถัมภ์ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี

รับราชการครูเมื่ออายุเพียง 18 ปี 3 เดือน เป็นคนขยันถึงจะเรียนไม่เก่งแต่มีความมานะพยายามตั้งใจเรียนมาก เรียนได้เกรดเฉลี่ย 3 กว่า และสอบชิงทุนการศึกษาขององค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรีได้ทำงานโดยไม่ย่อท้อต่อความลำบากถึงแม้จะต้องเดินไปทำงานเป็นระยะทาง 66 กิโลเมตรและต้องขี่รถจักรยานยนต์ข้ามฟากแม่น้ำเนื่องจากช่วงแต่งงานมีบุตรก็ต้องการให้ความรักความอบอุ่นและเลี้ยงดูสั่งสอนลูกเองจึงให้ญาติคือพ่อแม่และน้องๆ ของสามีช่วยดูแลให้ในช่วงกลางวันเนื่องจากต้องทำงานเดินทางทำงานไกลได้ประมาณ 8 ปี ได้เก็บออมเงินปลูกสร้างบ้านในพื้นที่ของแม่ตนเองที่อยู่ในปัจจุบันซึ่งอยู่ใกล้ที่ทำงานคือไป-กลับวันละ 22 กิโลเมตร ปี 2540 เก็บออมเงินซื้อรถยนต์เพื่อใช้เดินทางไปทำงานรวมถึงเครื่องอำนวยความสะดวกต่างโดยที่ไม่ก่อภาระหนี้สินให้กับครอบครัว ดูแลสั่งสอนลูกให้เป็นคนดีของสังคม ส่งเสริมและสนับสนุนให้ศึกษาอย่างเต็มความสามารถโดยให้รู้จักคุณค่าของเงินและใช้สิ่งแวดล้อมต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดมีความรับผิดชอบ ต่อครอบครัวและหน้าที่การงานสูง ทำงานด้วยความตั้งใจ มุ่งมั่น ปฏิบัติงานอย่างดียิ่ง สร้างชื่อเสียงให้แก่ตนเอง ครอบครัว วงศ์ตระกูล ชุมชน สังคม

ประวัติในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

  • ให้ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ปลูกฝังให้ลูกและลูกศิษย์รู้จักคุณค่าสิ่งแวดล้อมตลอดจนการใช้อย่างเหมาะสม เป็นแบบอย่างในเรื่องการประหยัด ได้แก่ ประหยัดน้ำ ประหยัดพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประหยัดเวลา เช่น การทำแยกขยะโดยจัดทำถังแยกขยะซึ่งนอกจากไม่เสียเวลามากแล้วยังมีประโยชน์โดยขายขยะได้เงินเพิ่มอีกด้วย ขณะนี้กำลังดำเนินการเกี่ยวกับขยะในชุมชนจะจัดตั้งธนาคารขยะเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของชุมชนด้วย โดยเอาครอบครัวของตนเองเป็นตัวอย่าง
  • เลี้ยงดูลูกและสั่งสอน(ลูกศิษย์) ให้รักและหวงแหนธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรป่าไม้ให้ความรู้เรื่องพันธุ์ไม้/พืชสมุนไพร ช่วยกันสำรวจข้อมูลพรรณไม้ที่มีอยู่ในป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคีบนพื้นที่ 1,008 ไร่ จะพาไปเรียนรู้ห้องเรียนทางธรรมชาติแห่งนี้ซึ่งเปรียบเสมือนซุปเปอร์มาร์เก็ตชุมชนส่งเสริมและสนับสนุนให้ร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยมีทั้งบทบาทของผู้นำและผู้ตาม มีส่วนร่วมในชุมชนและสังคม รู้จักใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่มาทำให้เกิดเป็นรายได้ เช่น นำใบตะโกมาประดิษฐ์เป็นดอกไม้หลากหลายแบบ, เก็บตอไม้แห้งๆ ในป่าฯ มาประดิษฐ์ตกแต่งให้สวยงามเพิ่มมูลค่าผลผลิตในชุมชน เป็นต้น
  • ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์โดยถ่ายทอดและให้ความรู้เกี่ยวกับหลักสูตรป่าชุมชนแก่ผู้ที่สนใจมาศึกษาดูงานที่ป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคีและไปบรรยายนอกสถานที่ในช่วงวันหยุดเป็นประจำโดยค่าตอบแทนที่ได้รับจะมอบให้แก่กองทุนป่าชุมชนฯ ทุกครั้ง เป็นวิทยากรพิเศษของป่าไม้จังหวัดกาญจนบุรี และป่าไม้เขตบ้านโป่ง จ.ราชบุรี เป็นแกนนำหลักของชุมชนทุกเรื่องได้รับแต่งตั้งและคัดเลือกจากองค์กรชุมชนได้แก่ เป็นคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี, เป็นคณะกรรมการ(เหรัญญิก)ของเครือข่ายป่าชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี, เป็นคณะกรรมการกองทุนต่างๆ ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด, เป็นคณะทำงานประสานงานระหว่างภาครัฐและและประชาชน (ศอช.ต.)
  • เป็นผู้จัดทำแบบสำรวจรายจ่ายในครัวเรือนโดยเริ่มที่ตนเองก่อนเมื่อรู้จักตนเองแล้วจึงขยายไปยังเพื่อนบ้าน ได้จัดทำแบบสำรวจข้อมูลครัวเรือน รายรับ-จ่าย ข้อมูลทุกอย่างที่ชุมชนต้องการรู้นำมาร่วมกันวิเคราะห์สรุปหาข้อมูลที่ชัดเจนนำไปสู่การจัดทำแผนชุมชนพึ่งตนเอง เป็นแบบอย่างให้กับหมู่บ้าน/ชุมชนอื่น มีชุมชนต่าง ๆ มาศึกษาเรียนรู้อยู่เป็นประจำ จัดตั้งร้านค้าชุมชนมีผลกำไรตอบแทนให้สมาชิกเมื่อสิ้นปี
  • ส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรในชุมชนได้พัฒนาศักยภาพโดยจัดพาไปศึกษาดูงาน/อบรมเชิงปฏิบัตินำมาถ่ายทอดและให้ความรู้แก่ชุมชนซึ่งเป็นแผนงานของชุมชนที่ร่วมกันวางไว้เป็นการจดรายจ่าย-เพิ่มรายได้
  • ทำให้ชุมชนเห็นประโยชน์จากการสำรวจข้อมูลเห็นตนเองและเริ่มแก้ไขปัญหากันเองโดยไม่รอให้ใครช่วยเหลือเป็นแกนนำในการปลูกผักไร้สารของหมู่บ้านโดยทำร่วมกัน นอกจากจะได้รับประทานผักที่ปลอดสารพิษแล้วยังเป็นสถานที่พบปะสนทนากันในช่วงเวลาเช้า-เย็นอีกด้วย (เพราะต้องมารดน้ำผัก แทนการนั่งดื่มสุราเหมือนก่อน) ร่วมกิจกรรมปลูกป่ากับชุมชน, กำจัดขยะและสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ
  • แต่งเพลงและร้องเพลงประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับ การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ให้กับป่าไม้จังหวัดกาญจนบุรี นอกจากนี้ยังจัดทำเอกสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ป่าชุมชนฯ ทำหนังสือคู่มือป่าชุมชนฯ เพื่อให้ครูและนักเรียนได้นำไปใช้ตลอดจนผู้สนใจทั่ว ๆ ไป


นางบุญนำ ยามาโมโต้

 
ชื่อ - นามสกุลนางบุญนำ ยามาโมโต้ อายุ 40 ปี
อาชีพ
ที่อยู่ บ้านสานฝัน เลขที่ 18 หมู่ 3ต.แม่สาบอ.สะเพิงจ.เชียงใหม่ 50250 โทร. 0-1917-6352 , 0-9851-7868
สถานภาพ สมรสกับนายโตชิยูกิ ยามาโมโต้ มีบุตร 3 คน
การศึกษา ปริญญาตรี คณะมนุษย์ศาสตร์ เอกสังคมศึกษา สถานบันราชภัฎกาญจนบุรี

ผลงานที่เคยได้รับ

  • ได้รับการยกย่องให้เป็นครอบครัวตัวอย่างจากรายการน้ำหนึ่งใจเดียว ททบ. 5
  • ได้รับโล่ห์เนื่องในโอกาสที่ปฏิบัติหน้าที่ครูด้วยความวิริยะ อุตสาหะ จากกลุ่มโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษาที่ 2 จ.กาญจนบุรี

งานในปัจจุบัน

  • เป็นประธานมูลนิธิสานฝัน สันติภาพ
  • เป็นผู้ประสานงานโครงการบ้านสานฝัน
  • เป็นประธานเครือข่ายฮักสะเมิง
  • เป็นประธานกองทุนหมู่บ้าน บ้านงาแมง หมู่ 3 ต.แม่สาบ อ.สะเพิง จ.เชียงใหม่
  • เป็นประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้าน ต.แม่สาบ อ.สะเพิง จ.เชียงใหม่
  • เป็นคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนวัดงิ้วเฒ่า ต.แม่สาบอ.สะเพิงจ.เชียงใหม่


บุญนำ

แม่ชื่อ "นางบุญนำ ยามาโมโต้" นามสกุลอาจจะดูแปลกไปจากนามสกุลของคนไทยทั่วไป เนื่องจากแม่มีสามีเป็นคนญี่ปุ่น ชื่อ "นายโตชิยูกิ ยามาโมโต้" ถึงแม้เขาจะเป็นคนญี่ปุ่น แต่เขาก็ยินดีจะเป็นส่วนหนึ่งของประชากรไทย เขามีทะเบียนบ้านอยู่ในเมืองไทย ทำงานช่วยเหลือเด็กไทยที่ขาดโอกาสซึ่งแม่ก็รู้สึกภูมิใจในตัวเขามาก แม่มีลูก 3 คน คือ ลูกสาวคนโต ชื่อ ด.ญ. สันติภาพ ยามาโมโต้ (ซากุระ) ลูกชายคนที่ 2 ชื่อ ด.ช.ไทจิ ยามาโมโต้ (ฟูจิ) และลูกชายคนที่ 3 ชื่อ ด.ช. เคนจิ ยามาโมโต้ (หิมะ) ครอบครัวเราทั้ง 5 ชีวิต พักพิงอยู่ในบ้านหลังหนึ่งของโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก มูลนิธิเด็ก ที่ จ.กาญจนบุรี เพราะแม่เป็นครูสอนอยู่ในโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก และเขาของแม่ก็เป็นอาสาสมัครญี่ปุ่น ที่ทำงานให้กับโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก มูลนิธิเด็ก โดยมีหน้าที่รณรงค์หาทุนให้กับโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก มูลนิธิเด็ก ทุนในที่นี้เป็นทั้งเงินทุน เสื้อผ้า ของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวันรวมไปถึงทุนที่เป็นประสบการณ์ชีวิตที่ดีของเด็ก ๆ หลายคนในโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ในบ้านพักที่ครอบครัวเราพักพิงกันนั้น ยังมีเด็กๆ ที่ขาดโอกาสทางสังคมอีกหลายชีวิตอยู่กับเราด้วย เป็นครอบครัวเดียวกัน เด็กๆ เรียกแม่ว่า "แม่จุ๊ง" เราดูแลซึ่งกันและกันในบ้านเป็นอย่างดี ยามว่างเราก็จะนั่งคุยเล่นกัน มีแต่เสียงหัวเราะของเด็กๆ ดังกึกก้องไปทั่วบ้าน แม่เองก็นั่งมองดูอยู่ด้วยความรู้สึกอิ่มเอมใจที่ได้เห็นเด็กอีกหลายๆ ชีวิตได้มีโอกาสดี ๆ เพื่อเป็นพื้นฐานของการเป็นคนดี รวมทั้งลูกๆ 3 คนของแม่ที่ต่างก็โตขึ้น และพร้อมที่จะเป็นพลังที่เข้มแข็งของชาติต่อไป การเรียนการสอนของโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ต่างจากการเรียนการสอนของโรงเรียนต่าง ๆ ในระบบทั่วไป เด็กๆ จึงมีความสุขและสนุกสนานกับการเรียนทั้งทางด้านวิชาการและการดำเนินชีวิต เมื่อมีเวลาว่างแม่และลูกๆ ทั้งหลายก็จะเข้าไปในเกษตร(เกษตร คือ พื้นที่ภายในโรงเรียนซึ่งพวกเราใช้เป็นพื้นที่ในการปลูกผัก ปลูกผลไม้ สมุนไพรต่าง ๆ ) ในวันหยุดแม่ชวนลูกๆ และเด็กๆ ช่วยกันทำขนมบ้าง ปลูกต้นไม้บ้าง โดยต้นไม้ที่ปลูกจะเป็นต้นไม้ที่ลูกๆ และเด็กๆ ชอบ เพื่อที่เขาจะได้หมั่นดูแลเอาใจใส่ เฝ้าดูความเจริญเติบโตของต้นไม้นั้นด้วยความรักและเกิดเป็นความหวงแหน ไม่ยอมให้ใครมาทำลายลงได้ ต้นไม้เหล่านั้นก็เหมือนกับลูกๆ ของแม่และเด็กๆ ทั้งหลาย ที่นับวันก็จะเติบโตขึ้นเป็นร่มเงาที่แข็งแรง ซึ่งเป็นผลมาจากการดูแลเอาใจใส่จากใจจริงของผู้ปลูก และแล้วความอิ่มเอมใจของแม่ก็เหมือนแห้งไป เมื่อตอนบ่ายวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ 2538 มันเป็นความรู้สึกที่ยากจะระบายออกมาจริง ๆ เมื่อแม่รู้ว่า แม่ได้สูญเสียลูกสาวคนโตและลูกชายคนที่ 2 ไปแล้วจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ตัวแม่เองอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย แม่แขนและขาซ้ายหักต้องอยู่โรงพยาบาลตลอดไม่มีโอกาสแม้จะได้ดูหน้าลูกทั้งสองคนเป็นครั้งสุดท้าย แม่เองก็ไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกแล้ว แต่เมื่อได้ยินเสียงร้องไห้ของลูกชายคนที่ 3 ซึ่งปลอดภัยดีก็สงสารเขาเพราะยังเล็กมาก ร้องหาแม่เพื่อขอดื่มนม แต่แม่ก็ไม่สามารถให้นมลูกดื่มได้ นึกน้อยใจกับโชคชะตาของตัวแม่เอง แม่ต้องประคับประคองชีวิตตนเองไว้เพื่อดูแลลูกคนที่ 3 ต่อไป ต้องใช้พระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจเพื่อให้คลายความโศกเศร้าจากการสูญเสียลงไปบ้าง เฝ้าบอกกับตัวเองอยู่เสมอว่า "ลูกของแม่ได้หลับพักผ่อนสบายและสุขสงบแล้ว"

แม่ต้องฝึกเดินเหมือนเด็ก ทรมานทั้งกายและใจไม่มีโอกาสได้อุ้มได้กอดลูก ไม่มีโอกาสได้ให้นมได้เล่นกับลูกทำได้แค่เพียงเฝ้ามองดูเขาเล่นอยู่ใกล้ ๆ ร้องเรียกชื่อพี่ทั้งสองที่จากไปมาเล่นด้วย น้ำตาแม่ไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว บอกกับเขาว่า "พี่ซากุระกับพี่ฟูจิไปสวรรค์แล้วคงไม่ได้มาเล่นกับน้องหิมะอีกแล้ว" และความอดทนของแม่ก็ประสบความสำเร็จ แม่กลับมาเดินได้อีกครั้ง แขนซ้ายทำงานได้ปกติ แม่กลับไปสอนหนังสือให้เด็กๆ เหมือนเคย เวลาว่างก็ช่วยกันดูแลต้นไม้กับลูกๆ และเด็กๆ ในบ้าน ในปี 2542 แม่มีลูกชายอีกคนชื่อ ด.ช.มาสะยูกิ ยามาโมโต้ (โคจิ) เพราะทนคำรบเร้าของหิมะไม่ได้ว่าอยากมีน้อง โคจิเลี้ยงง่ายเหมือนกับพี่ฟูจิ จนแม่อดคิดเข้าข้างตนเองไม่ได้ว่า ฟูจิกลับมาอยู่กับแม่อีกครั้ง

และแล้วในปี 2543 พวกเราก็ย้ายบ้านใหม่กัน เนื่องจากแม่ทำโครงการเสนอคุณครูใหญ่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก หรือครูแอ๊ว ที่ใครๆ ในแวดวงการศึกษารู้จักกัน ชื่อโครงการสานฝัน หมู่บ้านเด็กมีจุดประสงค์ที่จะให้ความช่วยเหลือแก่เด็กชาวไทยภูเขาที่ขาดโอกาสทางการศึกษาในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งเป็นความตั้งใจของแม่ และแม่แอ๊วก็อนุมัติ พวกเรา 14 ชีวิตจากโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก กาญจนบุรี มุ่งตรงสู่บ้านงาแมง ต.แม่สาบ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นบ้านหลังใหม่ของพวกเรา และเป็นบ้านเกิดของแม่เองเราอยู่บ้านหลังเดียวกันทั้งหมด พี่ๆ ดูแลน้องๆ ทุกคนถือเป็นครอบครัวเดียวกัน มี พ่อ แม่และลูกๆ จนถึงปัจจุบันครอบครัวเรามีสมาชิกกันทั้งหมด 26 คน แม่ดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิเอง ชื่อมูลนิธิสานฝัน สันติภาพ ซึ่งได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2546 คนส่วนใหญ่เรียกบ้านที่พวกเราอยู่กันว่า "บ้านสานฝัน" ซึ่งพวกเราก็รักและชื่นชมกับบ้านหลังนี้มาก ในตอนเช้าส่วนหนึ่งช่วยกันทำอาหารในครัว ส่วนที่เหลือก็ช่วยกันทำความสะอาดบริเวณบ้าน โดยจะมีผู้ใหญ่และพี่โตๆ คอยดูแลช่วยเหลือน้องๆ เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย เด็กๆ ก็จะเตรียมตัวไปโรงเรียน

บุญนำ

หลังเลิกเรียนกลับถึงบ้านทุกคนก็จะช่วยกันทำงานตามที่ได้รับมอบหมายตามความสามารถของแต่ละคนจะทำได้ ช่วยกันตำข้าว นำแกลบที่ได้ไปเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เกี่ยวหญ้าให้วัว เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ ดูแลแปลงผัก ซึ่งเรายึดหลักการทำการเกษตรปลอดสารพิษ เกษตรแบบพอเพียง ในวันหยุดพวกเราก็พากันไปปลูกต้นไม้ ซึ่งส่วนใหญ่เด็กๆ จะเลือกปลูกต้นผลไม้ โดยตั้งความหวังตามประสาเด็กๆ ว่าในวันข้างหน้าเขาจะต้องได้รับประทานผลของมัน แม่มองเหตุการณ์เหล่านั้นด้วยความรู้สึกเป็นสุขที่ได้มีโอกาสสร้างคนให้เป็นคนดี แม่จะสอนให้เด็กๆ ได้รู้จักกับสรรพคุณของสมุนไพรต่างๆ ทั้งที่มีในบริเวณบ้านและที่เราจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อที่จะได้หามาปลูกเพิ่มเติม ซึ่งแม่เองก็รู้สึกภูมิใจมากเมื่อเห็นว่าสิ่งที่แม่ปลูกฝังให้แก่พวกเขาไม่สูญเปล่าเลย คือ เมื่อมีเด็กคนหนึ่งมีอาการไอ เพื่อนก็จะไปหาเก็บมะแว้ง ซึ่งมีสรรพคุณบรรเทาอาการไอ มาให้เพื่อนทาน (แม่ลืมบอกไปว่าแม่มีผู้ช่วย 3 คนเป็นหญิงส่วน คนที่ 1 มาช่วยแม่ด้านบัญชีและงานวิชาการต่างๆ และสอนหนังสือเด็กระดับโต คนที่ 2 ช่วยงานแม่ด้านการเกษตรและสอนหนังสือเด็กเล็ก และคนที่ 3 ช่วยแม่ทางด้านงานอาชีพเสริมและดูแลความเรียบร้อยทั่วๆ ไป โดยคนที่ 2 และ 3 เป็นเด็กที่เติบโตมาจากการดูแลช่วยเหลือของแม่เอง ส่วนคนที่ 1 แม่หอบหิ้วเขามาจากกาญจนบุรี ซึ่งแม่ก็คิดว่าเขาเป็นลูกคนหนึ่งของแม่เหมือนกัน) บ้านสานฝันของเราอยู่ติดกับภูเขา เป็นสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ที่สุด เด็กๆชอบให้แม่พาขึ้นเขาหรือขึ้นดอยไปปลูกต้นไม้ สมุนไพรต่างๆ และอีกที่หนึ่งที่เด็กๆ ชอบไปก็คือทุ่งนา แม่จะพาเด็กๆไปหว่านกล้า ดำนา ซึ่งแม่เฝ้าดูแลพฤติกรรมที่แสดงออกมาว่ามีความสุข สนุก แล้วแม่ก็รู้สึกสุขใจด้วย เมื่อต้นข้าวที่เราปลูกเขียวชะอุ่มดีแล้ว เด็กๆ ก็จะร้องขอให้แม่พาไปนาในวันหยุด พวกเราชอบทุ่งนาสีเขียว ชอบจับปูนา วิ่งเล่นกันตามประสาเด็กชนบท ถึงเวลาเกี่ยวข้าวก็ได้เกี่ยวกันอย่างเต็มที่ เด็กโตเกี่ยวข้าวเด็กเล็กก็อาสาเสิร์ฟน้ำให้ หลังฤดูทำนาเราก็ปลูกกระเทียม หอมแดง และผักต่างๆ ไว้รับประทาน เพื่อประหยัดรายจ่ายของบ้าน อย่างไหนมีมากก็นำออกจำหน่ายเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว แม่บอกกับลูกๆ ทุกคนเสมอว่า " ให้เติบโตอย่างต้นไม้ ให้ผล ให้ร่มเงา และให้ชีวิต เพราะ ต้นไม้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม ทุกชีวิตรอดอยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมที่ดี"



นางบุญรัตน์ ปุญสิริ

 
 
ชื่อ - นามสกุลนางบุญรัตน์ ปุญสิริ (นามสกุลเดิม ทิพยโอสถ)
อาชีพประกอบอาชีพส่วนตัว
ที่อยู่ บ้านเลขที่ 146/8 หมู่ที่ 2 ตำบลวังขนาย อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี 71110
สถานภาพ สมรสแล้ว ไม่มีบุตรแต่รับบุตรบุญธรรมไว้ 19 คน
การศึกษา จบประกาศนียบัตรวิชาผดุงครรภ์ ชั้น 2 วชิรพยาบาล กรุงเทพฯ พ.ศ. 2484

นางบุญรัตน์จัดตั้งสถานผดุงครรภ์ส่วนตัวโดยประกอบวิชาชีพด้วยความเมตตาและมีคุณธรรมอันสูงส่ง การทำคลอดก็มิได้เรียกร้องค่าตอบแทนอย่างไร้เมตตา หากแต่เป็นไปตามฐานะของผู้ป่วยซึ่งยากจนเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น การทำคลอดของสถานบุญรัตน์ผดุงครรภ์ที่เป็นการทำให้เปล่าโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินนั้นมีมากรายแต่ความสำนึกในบุญคุณที่ผู้ป่วยเหล่านั้นมีอยู่ในใจก็มีเป็นอันมาก จึงเป็นเหตุให้นางบุญรัตน์ ปุญสิริ ได้รับความเคารพนับถือเป็นอย่างสูงจากสังคมชนบท การเผยแพร่ความรู้ในด้านสุขวิทยา อนามัย การครองตน การวางแผนครอบครัว ฯลฯ ที่นางบุญรัตน์ ได้เผยแพร่ให้ความรู้แก่บุคคลเหล่านั้น จึงได้รับความเชื่อถือ อันเป็นส่วนช่วยให้สังคมนั้น ๆ ได้พัฒนาขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ นางบุญรัตน์ ปุญสิริ ได้รับเชิญเป็นวิทยากรในการฝึกอบรมประชุมสัมมนาต่าง ๆ ทั้งในจังหวัดกาญจนบุรีและสถานที่อื่น ๆ เช่น

  • บรรยายแก่นักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • วิทยากรอบรมกลุ่มแม่บ้านเกษตร
  • วิทยากรอบรมเยาวชนต่อต้านยาเสพติด
ในการดำรงตำแหน่งคณะกรรมการคณะต่าง ๆ ได้เคยดำรงตำแหน่ง
  • กรรมการสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ พ.ศ. 2526-2528
  • กรรมการสภาสตรีแห่งชาติ ฯ ประจำภาคกลาง พ.ศ. 2530-2532
  • กรรมการประจำวิทยาลัยครู พ.ศ. 2533-2535
  • ฯลฯ
ตำแหน่งอนุกรรมการ กรรมการ คณะต่าง ๆ ที่นางบุญรัตน์ ปุญสิริ ดำรงอยู่ในปัจจุบัน คือ
  • รองประธานชมรมประวัติศาสตร์เมืองกาญจนบุรี
  • อนุกรรมการส่งเสริมและประสานงานการพัฒนาเด็กและเยาวชน จังหวัดกาญจนบุรี
  • กรรมการจัดหาทุนสร้างห้องสมุดประชาชน "เฉลิมราชกุมารี" อำเภอทองผาภูมิ
  • เลขานุการเหล่ากาชาดจังหวัดกาญจนบุรี
  • ที่ปรึกษาวิทยาลัยเกษตรกรรมจังหวัดกาญจนบุรี
  • ฯลฯ
นางบุญรัตน์ ปุญสิริ ได้รับการยกย่องโดยได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย อาทิเช่น
  • สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยยกย่องให้เป็นแม่ดีเด่นแห่งชาติ พ.ศ. 2524
  • ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เบญจมาภรณ์ช้างเผือก พ.ศ. 2525
  • สมาคมสตรีชาวนาไทยได้มอบโล่เกียรติคุณให้ในฐานะที่ได้อุทิศกำลังสติปัญญาและความสามารถ ด้วยความวิริยะอุตสาหะ และสร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคม ฯ เป็นอย่างมาก พ.ศ. 2532
  • ได้รับพระราชทานเหรียญกาชาดสรรเสริญ พ.ศ. 2533
  • ฯลฯ

ในส่วนของงานด้านสิ่งแวดล้อม

บุญรัตน์

นางบุญรัตน์ ตระหนักว่าปัญหาของสิ่งแวดล้อมนั้นเกิดมาจาก "คน" มากที่สุด การแก้ไขปัญหาจึงต้องมุ่งไปที่ "พัฒนาคน" ให้การศึกษาแก่คนเป็นสำคัญลำดับต้น ในการได้รับเชิญเป็นวิทยากรที่ต่าง ๆ นางบุญรัตน์ได้สอดแทรกเรื่องการรักษาน้ำ การรักษาป่า การปลูกต้นไม้ การไม่ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำ การให้ความรู้ การจูงใจให้มีความตระหนักรู้โดยการนำให้ดูไปพร้อม ๆ กันนั้นได้ผลเป็นที่น่าพอใจทั้งนี้เพราะนางบุญรัตน์ ปุญสิริ มีกลวิธีในการเข้าถึงประชาชน การปลุกจิตสำนึกให้คนทั่วไปรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อมให้ปลอดมลพิษนั้น ถ้าหากเขาได้เห็นตัวอย่างที่ดีและมีความศรัทธาเชื่อถือต่อผู้ดำเนินการแล้วก็น่าจะได้ผลมากกว่ามีโครงการซึ่งจัดทำโดยหน่วยราชการ ดังนั้น การพัฒนาคนให้มีจิตสำนึกตระหนักรู้ถึงคุณค่าของทรัพยากรและความใสสะอาดของสิ่งแวดล้อมต้องทำหลาย ๆ วิธีไปพร้อมกัน ดังที่ นางบุญรัตน์ ปุญสิริ ได้กระทำมาแล้วเป็นเวลาเนิ่นนานหลายสิบปี

คุณธรรม จริยธรรม และความรู้ต่าง ๆ นั้นมิได้ปลูกฝังให้แก่รุ่นลูกเท่านั้น ยังขยายผลไปถึงรุ่นหลานอีกด้วย นอกจากนี้แล้วทุกชุมชน ทุกกลุ่มอาชีพที่นางบุญรัตน์ ได้มีส่วนร่วมพัฒนา ก็ได้สอดแทรกความรู้คู่คุณภาพต่าง ๆ เหล่านี้ไว้ทุกโอกาส นางบุญรัตน์ ปุญสิริ จึงนับว่าเป็น "แม่" ที่มีคุณค่าต่อลูกและต่อสังคม อย่างหาได้ยากยิ่ง จากการที่เป็นบุคคลที่มีคุณธรรมสูง เสียสละ อุทิศตนให้งานพัฒนาสังคมและการที่ได้อุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน นางบุญรัตน์ ปุญสิริ จึงได้รับพระราชทานปริญญาบัตรกิตติมศักดิ์ ดังนี้

  • พ.ศ. 2536 ปริญญาศิลปศาสตบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สายสังคมศาสตร์ โปรแกรมวิชาการพัฒนาชุมชน จากวิทยาลัยครูกาญจนบุรี
  • พ.ศ. 2545 ปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา จากสถาบันราชภัฏกาญจนบุรี

ปัจจุบัน (พ.ศ. 2547) ถึงแม้อายุของนางบุญรัตน์ ปุญสิริ จะได้เวียนมาถึง 83 ปีแล้ว พลกำลังได้ลดน้อยถอยลงไป แต่น้ำใจ ความเสียสละที่จะทำงานเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมยังมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม และไม่หยุดยั้งที่จะเสนอแนะ สอน ทำให้ดู เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ชนรุ่นหลังอยู่อย่างสม่ำเสมอ




© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.