สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 27 มกราคม 2568
ที่มา : MGR Online (https://mgronline.com/indochina/detail/9680000006959)
ปัญหาดินเสื่อมโทรมเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญทั่วโลก ดินชั้นบนของโลกถึง 90 เปอร์เซ็นต์อาจตกอยู่ในความเสี่ยงภายในปี 2593 ตามข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ซึ่งการเสื่อมโทรมของดินไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อหลายด้าน เช่น ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพสูญเสียไป
คุณภาพน้ำแย่ลง ดินไม่สามารถกักเก็บปริมาณคาร์บอนได้มากส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การกัดเซาะดินสามารถทำลายรากฐานของโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งนำไปสู่ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงสูง
นอกจากนั้น ความอุดมสมบูรณ์ของดินที่ลดลงทำให้คุณค่าทางโภชนาการของพืชน้อยลง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อโภชนาการของมนุษย์ ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าการรักษาสุขภาพของดินเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างความยั่งยืนให้กับระบบนิเวศและสังคมมนุษย์
ในประเทศไทย ประมาณ 33% ของพื้นที่เกษตรกรรมในประเทศอยู่ในสภาพที่มีคุณภาพดินต่ำกว่าเกณฑ์ในการทำเกษตรกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาดินเสื่อมโทรมในประเทศไทย จำเป็นต้องมีการบูรณาการและความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร เพื่อวางแผนและนำแนวทางการจัดการดินที่ยั่งยืนมาใช้
ล่าสุด สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI เดินหน้าขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อม ผสานกำลังสมาคมดินโลก กรมพัฒนาที่ดิน มูลนิธิดั่งพ่อสอน และมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ลงนามบันทึกข้อตกลง
พร้อมส่งเสริมการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของดิน การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวันดินโลกและแนวพระราชดำริด้านการจัดการดินอย่างยั่งยืน ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผ่านกิจกรรวันดินโลก กิจกรรมด้านวิชาการ ศิลปะแก่ภาครัฐ เอกชน เยาวชน เกษตรกร และประชาชนทั่วไป
รวมถึงการนำศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหา วชิราลงกรณ์ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นแนวทางในการปฏิบัติและช่วยเหลือโดยการถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรแก่ประชาชนในพื้นที่ทั่วไป หรือในเขตทุรกันดารเพื่อนำไปปรับใช้ในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้ดียิ่งขึ้น