• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

ภาษีคาร์บอน ราคาที่ต้องจ่ายเพื่อสิ่งแวดล้อมยั่งยืน

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  3 มกราคม 2568

เราต่างก็ทราบดีว่าโลกกำลังเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เลวร้าย ควบคู่ไปกับการลดลงของทรัพยากรธรรมชาติและสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ จนนานาประเทศต้องทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และคืนสมดุลให้โลก เกิดเป็นมาตรการระดับประเทศเพื่อใช้บริหารจัดการและจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ที่เรียกว่า “การจัดเก็บภาษีคาร์บอน” นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ

สำหรับประเทศไทย มีเจตนารมณ์ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 20-25 ภายในปี พ.ศ. 2564-2573 (ค.ศ. 2021-2030) หรือก็คือลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้อย่างน้อย 111 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2065 ส่งผลให้ประเทศไทยกำลังจะมีการจัดเก็บภาษีคาร์บอนให้ได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ และออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำในอนาคตอันใกล้มาก ๆ เช่นกัน

ภาษีคาร์บอนคืออะไร องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) (องค์การมหาชน) มีหลักการและแนวคิดของภาษีคาร์บอน (Carbon..Tax)..ว่าเป็นหลักการที่กำหนดให้ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะต้อง “จ่ายค่าปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ตามหลักการของ “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” (Polluter..Pay Principal)..โดยรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดอัตราภาษีต่อหน่วยการปล่อย (ต่อ 1 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า) ซึ่งอาจเก็บจากการใช้ประโยชน์ เช่น การเก็บภาษีตามปริมาณคาร์บอนในน้ำมันเชื้อเพลิง (Carbon Tax) หรือเก็บจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของแหล่งปล่อย (Emission Tax) ก็ได้

ภาษีคาร์บอน จัดเป็นหนึ่งในกลไกราคาคาร์บอน (Carbon..Pricing..Mechanism) ซึ่งเป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่ใช้ในการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีการกำหนดต้นทุนหรือราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของตัวเงิน และราคาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะมีต้นทุนที่ชัดเจน จึงสามารถผลักดันให้ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม การที่หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้กำหนดภาษี ข้อดี คือมีความชัดเจนและง่ายต่อการบริหารจัดการ แต่ก็ต้องมีการกำหนดอัตราภาษีที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจมากเกินไป

ที่มา : Ryt9.com (https://www.ryt9.com/s/prg/3573112)


© 2025 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.