• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กอนช. ขอให้ประชาชนตอนบนของประเทศและภาคใต้ระวังเกิดฝนตกบางพื้นที่ พร้อมเร่งส่งน้ำให้พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งเชียงรากเพาะปลูกข้าวนาปี เพื่อได้เก็บเกี่ยวก่อนหน้าน้ำหลาก

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  24 เมษายน 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนตอนบนของประเทศและภาคใต้ระวังเกิดฝนตกบางพื้นที่ พร้อมเร่งส่งน้ำให้พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งเชียงรากเพาะปลูกข้าวนาปี เพื่อได้เก็บเกี่ยวก่อนหน้าน้ำหลาก

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (24 เม.ย.65) ว่า ประเทศไทยตอนบนมีฝนน้อยแต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณ จ.จันทบุรี 71 มิลลิเมตร , อุบลราชธานี 53 มิลลิเมตร และเพชรบูรณ์ 49 มิลลิเมตร ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั่วประเทศทุกขนาด 23,585 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 41 จุดเฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ส่วนคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคและการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา บางปะกง แม่กลองอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นแม่น้ำท่าจีนมีปริมาณออกซิเจนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้ติดตามการเตรียมส่งน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งเชียงราก เพื่อพร้อมรับมือฤดูฝนปีนี้ โดยให้กรมชลประทาน เตรียมพร้อมส่งน้ำให้เกษตรกรพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งเชียงรากเพาะปลูกข้าวนาปี เพื่อให้เกษตรกรได้เก็บเกี่ยวข้าวก่อนหน้าน้ำหลาก ด้วยการเร่งนำเครื่องสูบน้ำเข้าติดตั้งบริเวณปากคลองส่งน้ำ 6 ขวา ต.หนองหม้อ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ สูบน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสัก เข้าสู่คลองส่งน้ำ 6 ขวา สำหรับให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำเชียงราก บริเวณ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท และอ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ซึ่งเริ่มเพาะปลูกตามการปรับปฏิทินการเพาะปลูกให้เร็วขึ้น โดยเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จก่อนหน้าน้ำหลากจะมาถึงนี้ ถือเป็นการลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย จากนั้นจะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำหลากลดผลกระทบพื้นที่ตอนล่างต่อไป

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ยังให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ เร่งกำจัดวัชพืชและขุดลอกตะกอนดินในคลอง 6 ขวา เพื่อให้การลำเลียงน้ำมายังพื้นที่ลุ่มต่ำเชียงรากเป็นไปอย่างเต็มศักยภาพ สามารถส่งน้ำให้เกษตรกรได้เพาะปลูกตามแผนที่กำหนดได้อย่างทั่วถึง


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.