• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กอนช. ขอให้ประชาชนทั่วประเทศระวังเกิดฝนตก พร้อมระวังระดับน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน หลังเขื่อนจิ่งหงของประเทศจีนปรับเพิ่มการระบายน้ำและมีฝนตกท้ายเขื่อน

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  22 เมษายน 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนทั่วประเทศระวังเกิดฝนตก พร้อมระวังระดับน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน หลังเขื่อนจิ่งหงของประเทศจีนปรับเพิ่มการระบายน้ำและมีฝนตกท้ายเขื่อน

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (22 เม.ย.65) ว่า ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัว , ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเกิดฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้เกิดฝนฟ้าคะนอง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ชลบุรี 97 มิลลิเมตร , นครราชสีมา 81 มิลลิเมตร และอุตรดิตถ์ 68 มิลลิเมตร ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 23,800 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 41 จุดเฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ส่วนคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคและการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา บางปะกง แม่กลองอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นแม่น้ำท่าจีนมีปริมาณออกซิเจนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หลังเขื่อนจิ่งหงของประเทศจีนเพิ่มขึ้นสะสมต่อเนื่องจากวันที่ 18 –21 เมษายนประมาณ 2 เมตร หรืออัตราการระบายน้ำสะสม 1,590 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เนื่องมาจากการระบายน้ำเพิ่มขึ้นและมีฝนตกบริเวณท้ายเขื่อน เบื้องต้นได้ประเมินระดับน้ำในแม่น้ำโขงจากสถานการณ์ดังกล่าวคาดการณ์ว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องช่วงวันที่ 22 – 29 เมษายน โดยช่วงเหนือเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว บริเวณสถานีเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องรวมระดับน้ำเพิ่มขึ้นสะสมในช่วงเวลาดังกล่าวประมาณ 1.90 - 2 เมตร และช่วงท้ายเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว ตั้งแต่สถานีเชียงคาน จังหวัดเลย ลงมาถึงสถานีโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องมากกว่า 50 เซนติเมตร ซึ่งขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนไซยะบุรี


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.