• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

AI กับการเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อมและพลังงาน

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  14 กันยายน 2567

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (https://www.bangkokbiznews.com/tech/1144324)

การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในภาคเอกชนและภาครัฐ ได้เปิดยุคใหม่ของการเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ซึ่งทวีความรุนแรงจากการแย่งชิงทรัพยากรในการประมวลผล พัฒนาและปรับใช้ตัวแบบ AI ขั้นสูงหรือ Generative AI  ที่เชื่อมโยงกับการใช้พลังงานและน้ำอย่างสุดขีด

          เทคโนโลยี AI ถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นรากฐานสำคัญของนวัตกรรมทางการทหาร การแข่งขันอิทธิพลของมหาอำนาจและการแย่งชิงพลังงาน (ไฟฟ้า) ไม่เพียงเป็นความพยายามเพื่อผลกำไร นวัตกรรมและความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี แต่ยังเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญกับความมั่นคงแห่งชาติ ความต้องการใช้พลังงานอย่างเข้มข้นของ Generative AI เชื่อมโยงกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของศูนย์ข้อมูล (data center) บริการระบบคอมพิวเตอร์แบบเครือข่ายออนไลน์ (cloud service) และวงจรอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก (chips) ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น การสืบค้นข้อมูลบน ChatGPT อาจใช้พลังงานมากกว่าการสืบค้นจาก Google ถึง 25 เท่า

วงจรชีวิตการสร้างตัวแบบ AI มีขั้นตอนที่กระทบสิ่งแวดล้อมมากที่สุด คือ การฝึกตัวแบบการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) โดยอัลกอริธึมเรียนรู้ข้อมูลการฝึกเพื่อคาดการณ์และหรือตัดสินใจด้วยการอนุมาน (inference) ข้อสรุปที่ได้มาจากความรู้และความเข้าใจ รองศาสตราจารย์ Mosharaf Chowdhury แห่งภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและวิทยาการคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยมิชิแกน ระบุว่า การฝึกตัวแบบ GPT-3 หนึ่งรอบใช้พลังงานไฟฟ้า 1,287 MWh ซึ่งเพียงพอสำหรับใช้ในครัวเรือนทั่วไปของสหรัฐฯ เป็นเวลา 120 ปี ขณะที่ World Economic Forum ระบุว่าขั้นตอนการอนุมานของตัวแบบ AI มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมถึงร้อยละ 80 ส่วนขั้นตอนการฝึกกระทบร้อยละ 20

Petr Spelda และ Vit Stritecky แห่งมหาวิทยาลัย Charles ได้ศึกษาวิจัยต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมของการเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับ AI พบว่า ทรัพยากรคอมพิวเตอร์ที่จำเป็นสำหรับการประมวลผล ML เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทุก ๆ 3-4 เดือนตั้งแต่ปี 2012 การประมวลผลในปัจจุบันใช้เวลาหลายร้อยเพตาฟลอป/วินาที  ตัวแบบ ML ถูกปรับให้มีความแม่นยำเกินกว่าที่จำเป็น ส่งผลให้การดำเนินการไม่มีประสิทธิภาพและเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ Rene Haas ผู้บริหารบริษัท Arm เตือนว่าภายในสิ้นทศวรรษนี้ ศูนย์ข้อมูล AI อาจใช้พลังงานไฟฟ้า ร้อยละ 20 – 25 ของความต้องการพลังงานของสหรัฐฯ ปัจจุบันความต้องการพลังงานอยู่ที่ร้อยละ 4 หรือ ต่ำกว่า

สหรัฐฯ เป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่อันดับสองของโลกรองจากจีน ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นหากทั้งสองประเทศยังคงแข่งขันกันในด้านเทคโนโลยีและการทหาร ประเทศอื่นๆ ที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุด ได้แก่ รัสเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น บราซิล และเกาหลีใต้

ในปี 2022 กระทรวงกลาโหม (DoD) สหรัฐฯ ประเทศเดียวเป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุด โดยใช้พลังงานร้อยละ 76 ของการใช้พลังงานของรัฐบาลกลาง ระบบป้องกันประเทศของสหรัฐฯใช้ AI ประมวลผลต่าง ๆ เช่น การวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ ยานพาหนะขับเคลื่อนอัตโนมัติ ความปลอดภัยทางไซเบอร์และการดำเนินงานข่าวกรอง

สำหรับไทย การเติบโตของศูนย์ข้อมูลและ AI ยังคงเผชิญความท้าทายจากทรัพยากรพลังงานมีจำกัด ค่าไฟฟ้าสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านและที่ตั้งไม่โดดเด่นทางยุทธศาสตร์ คาดว่าความจุของศูนย์ข้อมูลในอาเซียนจะเพิ่มขึ้น 9 เท่าภายในปี 2035 นำโดยมาเลเซียและอินโดนีเซีย ส่วนแบ่งตลาดของไทยจะลดลงเล็กน้อย ทั้งนี้มาเลเซียจะได้ประโยชน์จากอุปสงค์เพิ่มขึ้นของสิงคโปร์ที่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่และการจัดหาพลังงานไม่เพียงพอ


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.