• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

สารบัญ

ข้าวสารัช สถานการณ์และการดำรงอยู่

ปัจจุบันข้าวสารัชดำเนินการผลิตโดยวิสาหกิจชุมชนสวายสอ ประกอบด้วย เกษตรกรจำนวนทั้งสิ้น 40 ราย และมีพื้นที่สำหรับปลูกข้าวจำนวน 619 ไร่ ใช้รูปแบบการปลูกข้าวแบบนาปี หรือการปลูกข้าวปีละ 1 ครั้งในฤดูฝนและเก็บเกี่ยวในฤดูแล้ง

ภาพที่ 2 การปลูกข้าวของเกษตรกรในพื้นที่ของนกกระเรียน
ที่มา: GIZ Thailand (2562)

ภาพที่ 3 การเก็บเกี่ยวข้าวของเกษตรกรสมาชิกวิสาหกิจชุมชนสวายขอ
ที่มา: ธาริน (2560)

กระบวนการผลิตข้าวยังคงใช้วิถีการเกษตรแบบดั้งเดิม นั่นคือ การใช้แรงงานคนเป็นหลักในการผลิต ตั้งแต่กระบวนการปลูก เก็บเกี่ยว คัดเมล็ด ไปจนถึงบรรจุลงบรรจุภัณฑ์ ในด้านหนึ่งการผลิตในรูปแบบนี้เป็นการอนุรักษ์วิถีชีวิตของคนไทยแบบดั้งเดิมเอาไว้ แต่ในขณะเดียวกัน รูปแบบการผลิตเช่นนี้ส่งผลให้วิสาหกิจชุมชนไม่สามารถผลิตข้าวได้ทันในกรณีที่มียอดการสั่งซื้อจำนวนมาก ปัญหาที่วิสาหกิจชุมชนสวายสอเผชิญเมื่อเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น คือ ไม่มีโรงสีขนาดใหญ่รองรับการสีข้าวจำนวนมาก ทำให้วิสาหกิจต้องแก้ปัญหาด้วยการจ้างโรงสีเอกชนขนาดใหญ่ส่งผลต่อการเพิ่มต้นทุนการผลิต ประกอบกับคู่แข่งทางด้านสินค้าข้าวอินทรีย์ในประเทศไทยมีเป็นจำนวนมากทำให้ข้าวสารัชต้องเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้มากขึ้น ทั้งด้านกระบวนการผลิตและกระบวนการจัดจำหน่าย

กระบวนการจัดจำหน่ายในปัจจุบันใช้ช่องทางทั้งผ่านไลน์ เฟสบุ๊ค ร้านค้าท้องถิ่น วางขายร้านของฝากในจังหวัดบุรีรัมย์ และบริษัท เรียล เบฟเวอร์เรจ สยาม จำกัด ที่รับซื้อข้าวสารและนำไปบรรจุในตราสัญลักษณ์อื่น ซึ่งช่องทางการจัดจำหน่ายยังคงมีน้อย ดังภาพที่ 4

ภาพที่ 4 ช่องการจัดจำหน่ายของข้าวสารัช
ที่มา: จากการรวบรวมข้อมูลของคณะผู้วิจัย

ข้าวอินทรีย์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวายสอในปัจจุบันจำหน่ายภายใต้ตราสัญลักษณ์ “ข้าวสารัช” ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ผู้บริโภคยังไม่รับรู้เรื่องราวอันทรงคุณค่าระหว่างเกษตรกรกับนกกระเรียน อันเนื่องจากการประชาสัมพันธ์เรื่องราวของข้าวสารัชยังมีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งการประชาสัมพันธ์ในปัจจุบันใช้รูปแบบการบรรยายในกิจกรรมการดูงานของกลุ่ม การออกบูธขายสินค้าพร้อมกับการประชาสัมพันธ์ ประชาสัมพันธ์ผ่าน Fan Page Facebook แต่การอัพเดทเนื้อหามีไม่บ่อยนัก และองค์การสวนสัตว์ช่วยประชาสัมพันธ์ ประกอบกับคู่แข่งทางการค้าของสินค้าข้าวอินทรีย์ในประเทศไทยมีอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น ข้าวสารัชจึงต้องพัฒนาช่องการรับรู้ให้แก่ผู้บริโภคเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในตลาดข้าวอินทรีย์

บทความนี้ใช้ SWOT Analysis เป็นเครื่องมือวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคของการจัดจำหน่ายข้าวสารัช เพื่อชี้ให้เห็นช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภค และเพื่อหาวิธีการเข้าถึงการรับรู้ของผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสมกับสินค้า

SWOT Analysis ประกอบด้วย การวิเคราะห์จุดแข็ง (Strength) คือ การวิเคราะห์ปัจจัยภายในอันส่งผลดีต่อผลิตภัณฑ์ข้าวสารัช ทำให้เกิดความเข้มแข็งของธุรกิจที่นำไปสู่ความได้เปรียบทางการตลาด การวิเคราะห์จุดอ่อน (Weakness) คือ การวิเคราะห์ปัจจัยภายในอันส่งผลเสีย หรือเป็นปัญหาบกพร่องภายใน ซึ่งทำให้เกิดจุดอ่อนที่สร้างความเสียเปรียบทางการตลาดให้แก่ผลิตภัณฑ์ข้าวสารัช การวิเคราะห์โอกาส (Opportunity) คือ การวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกที่ช่วยเอื้อประโยชน์ให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปได้ด้วยดี ซึ่งส่งผลดีต่อผลิตภัณฑ์ข้าวสารัช และการวิเคราะห์อุปสรรค (Threat) คือ การวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกอันเกิดจากสภาพแวดล้อมภายนอกองค์กร ซึ่งสร้างข้อจำกัดให้แก่การดำเนินธุรกิจ และส่งผลเสียต่อผลิตภัณฑ์ข้าว สารัช

จากการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคของสินค้าข้าวสารัช พบว่า ปัจจัยภายในที่เป็น จุดแข็งที่สำคัญสำหรับข้าวสารัช คือ เรื่องเล่าที่ทรงคุณค่าของนกกระเรียนอันเป็นสัญลักษณ์ของการทุ่มเทพยายามในการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับสัตว์ คุณภาพสินค้าข้าวอินทรีย์ที่ดีต่อสุขภาพ มีกระบวนการผลิตที่ใส่ใจ และได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภายนอก นั่นคือ องค์การสวนสัตว์ อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนที่เป็นอุปสรรคต่อการจำหน่ายสินค้า คือ ขาดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารออนไลน์ ส่งผลให้ช่องทางการสื่อสารหรือช่องทางการสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้บริโภคมีน้อย ตราสัญลักษณ์นกกระเรียนยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อสินค้าข้าวสารัช ได้แก่ โอกาส คือ ข้าวสารัชได้รับการสนับสนุนจากองค์การสวนสัตว์ในด้านการประชาสัมพันธ์ ส่งผลให้ข้าวสารัชเป็นที่รู้จักในกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อ นอกจากนี้ กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของโลกกำลังเป็นที่ตระหนักในปัจจุบัน ประกอบกับกระแสการดูแลสุขภาพกำลังเป็นที่นิยม การรับประทานอาหารที่มีกระบวนการผลิตแบบอินทรีย์ รวมถึงข้าวอินทรีย์กำลังเป็นที่นิยม ส่วนด้านอุปสรรค คือ กระบวนการผลิตข้าวขึ้นอยู่กับสถานการณ์ธรรมชาติทำให้ในบางปีผลิตข้าวได้น้อยอันเนื่องจากฝนฟ้าไม่เป็นตามตามคาดหมาย และคู่แข่งทางด้านการค้ามีเป็นจำนวนมาก เนื่องจากประเทศไทยมีสินค้าข้าวอินทรีย์เป็นจำนวนมาก

จากสถานการณ์ปัจจุบันด้านช่องทางการจัดจำหน่ายของข้าวสารัชสามารถสรุปได้ดังภาพที่ 5

ภาพที่ 5 การวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันด้านช่องทางการจัดจำหน่ายของข้าวสารัช ด้วย SWOT Analysis
ที่มา : คณะผู้วิจัย

จากภาพสถานการณ์ปัจจุบันของข้าวสารัชย้ำให้เห็นว่าปัญหาหลักของการขายสินค้าข้าวสารัชในตลาด คือ ผู้บริโภคไม่สามารถรับรู้ได้ถึงคุณค่าและความหมายของข้าวสารัช ซึ่งวิธีการสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้บริโภคประการหนึ่ง คือ การสร้างอัตลักษณ์ให้แก่สินค้าเพื่อให้สินค้ามีเอกลักษณ์และเป็นที่น่าจดจำ


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.