การบรรยายด้านการวิจัย (Research Talk) เรื่อง “ขั้นตอนการส่งบทความในวารสารผ่านระบบสากล Editorial Manager และการสืบค้นดัชนีวัดคุณภาพวารสาร (Journal Metric) ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ
คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยงานบริหารการวิจัยได้จัดกิจกรรมบรรยายด้านการวิจัย (Research Talk) ในหัวข้อเรื่อง “ขั้นตอนการส่งบทความในวารสารผ่านระบบสากล Editorial Manager และการสืบค้นดัชนีวัดคุณภาพวารสาร (Journal Metric) ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ” ในวันพุธที่ 18 สิงหาคม 2564 เวลา 13.20 – 15.00 น. แบบออนไลน์ ผ่านทาง Cisco Webex และ Facebook live
โดยมี นางสาวอิสรีย์ อภิญญา Journal manager วารสาร EnNRJ เป็นผู้บรรยาย
สรุปเนื้อหาสำคัญแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
1. ระบบ Editorial Manager
- ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับระบบวารสารออนไลน์ Editorial Manager เป็นระบบสำหรับการส่งบทความทางวิชาการออนไลน์ของ Aries Systems และใช้สำหรับบริหารจัดการงานวารสารทางวิชาการ ที่ใช้กันโดยแพร่หลายในระดับสากล ซึ่งระบบนี้จะช่วยให้การจัดการงานวารสารง่าย สะดวกและรวดเร็ว อีกทั้งมีการดำเนินงานที่การเชื่อมโยงระหว่าง ผู้ส่งบทความ บรรณาธิการ และผู้ตรวจประเมินบทความ ระบบยังมีระบบการติดตามและการแจ้งเตือนอัตโนมัติจึงทำให้การทำงานของวารสารเป็นไปได้อย่างเรียบร้อย
- ขั้นตอนการส่งบทความในวารสารผ่านระบบ Editorial Manager ผู้ใช้งาน จะต้องสมัครเข้าใช้งานหน้าเว็บไซต์ของวารสารที่ผู้เขียนสนใจ ตัวอย่างเช่น วารสาร Environment and Natural Resources Journal (EnNRJ) โดยไปที่ เว็บไซต์ https://www.editorialmanager.com/ennrj/default.aspx โดยผู้เขียนต้อง Register (สำหรับผู้ใช้งานครั้งแรก) และ Login เพื่อส่งบทความเข้าระบบตามขั้นตอน
- ในขั้นตอนการส่งบทความ ผู้แต่งจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนการส่งบทความตั้งแต่การระบุประเภทของบทความ การแนบไฟล์ตามที่วารสารต้องการ การใส่ข้อมูลเบื้องต้นของผู้เขียน รวมทั้งการระบุหมวดหมู่ของบทความ ซึ่งมีความเป็นที่จะต้องระบุให้ถูกต้องและสอดคล้องกับบทความมากที่สุด เนื่องจากหมวดหมู่นี้จะถูกเชื่อมโยงเพื่อให้เหมาะสมกับความเชี่ยวชาญของผู้เชี่ยวชาญที่จะเป็นผู้ตรวจประเมินบทความในขั้นตอนต่อไป และขั้นตอนที่สำคัญของการส่งบทความอีกอย่างหนึ่งคือ ข้อมูลรายละเอียดของบทความ มีความจำเป็นจะต้องกรอกข้อมูลให้ถูกต้องครบถ้วนทั้งหมด ก่อนที่จะทำการส่งบทความ
- สำหรับอาจารย์ยังมีอีกหน้าที่ที่อาจจะได้ใช้งานระบบ EM คือ ท่านได้รับเชิญให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการตรวจประเมินบทความ (Reviewer) โดยระบบจะมีอีเมลส่งเชิญไปยังผู้เชี่ยวชาญ ท่านสามารถตอบรับหรือปฏิเสธที่จะอ่านบทความได้ หากตอบรับตรวจประเมิน ลิงก์จะเชื่อมต่อไปยังระบบ EM ในส่วนการประเมินบทความให้ผู้เชี่ยวชาญได้ทำการประเมินบทความได้อย่างสะดวก - ระบบ EM จะมีการอัพเดทสถานะของบทความอย่างเป็นปัจจุบัน ซึ่งผู้แต่งสามารถเข้าไปเช็คการอัพเดทได้ตลอดเวลา
2. ประกาศมหาวิทยาลัยและส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนค่าตอบแทนผลงานตีพิมพ์ และดัชนีวัดคุณภาพวารสาร (Journal Metrics) เบื้องต้นและที่เกี่ยวข้องกับประกาศ
- ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับประกาศของมหาวิทยาลัย (3 ประกาศ) และส่วนงาน (1 ประกาศ) ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนค่าตอบแทนผลงานตีพิมพ์ หลักเกณฑ์ ข้อกำหนดต่างๆ ที่ควรรู้
- ความหมายของดัชนีวัดคุณภาพวารสารที่สำคัญของฐานข้อมูลหลัก 2 ฐานข้อมูล ได้แก่ Scopus และ Web of Science
- การแปลความหมายของดัชนีวัดคุณภาพวารสารในฐานข้อมูล Scopus ที่สำคัญและจำเป็น ได้แก่ CiteScore, Scimago Journal & Country Rank (SJR) และ Quartile ของ SJR
- การแปลความหมายดัชนีวัดคุณภาพวารสาร (Journal Metric) ในฐานข้อมูล Web of Science ที่สำคัญและจำเป็น ได้แก่ Journal Impact Factor (JIF) และ Quartile ของ JIF
- สาธิตขั้นตอนและวิธีการสืบค้นข้อมูลดัชนีวัดคุณภาพวารสาร ได้แก่ 1) การสืบค้นค่า Top10% ในฐานข้อมูล 2) การสืบค้นข้อมูลวารสารในฐานข้อมูล Scopus และข้อมูลของดัชนีวัดคุณภาพวารสารที่ควรรู้ 3) การสืบค้นข้อมูลวารสารในฐานข้อมูล Web of Science และข้อมูลของดัชนีวัดคุณภาพวารสารที่ควรรู้
โดยการบรรยายนี้ผู้เข้าร่วมชมจำนวน 57 คน