• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

แม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประจำปี 2557

ผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นแม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประจำปี 2557

คุณแม่อรุณพร นุปา

ภาคเหนือ
นางอรุณพร นุปา จ.ลำพูน
อายุ 51 ปี อาชีพ เกษตรกร
บุตร ชาย 1 คน อายุ 16 ปี

การทำงานด้านสิ่งแวดล้อม
•ก่อนปี พศ. 2542 แกนนำกลุ่มออมทรัพย์ของชุมชน ซึ่งจะมีบทบาทนำในการร่วมจัดกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การทำแนวกันไฟป่า
•พ.ศ.2542 แกนนำชุมชนบ้านฆ้องคำ นำกลุ่มสตรีในหมู่บ้านดำเนินกิจกรรมการอนุรักษ์พื้นที่ป้าไม้ 169 ไร่ และป่าอนุรักษ์พื้นที่ 1,500 ไร่ บริเวณบ้านดอนมูลซึ่งเป็นป่าอนุรักษ์ ที่อยู่ในสภาวะเสื่ยงการบุกรุกแผ้วถางจากเกษตรที่มีพื้นที่ทำกินรอบพื้นที่ป่าไม้
•พ.ศ 2545 ร่วมพัฒนาโครงการและบริหารจัดการ โครงการส่งเสริมบทบาทสตรีในการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสมุนไพรกับการสร้างเสริมสุขภาพ ต.บ้านปวง อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน รับทุนจาก สสส.
•พ.ศ. 2546 ประธานโครงการส่งเสริมบทบาทเด็กและเยาวชนในการติดตามเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศลุ่มน้ำแม่ลี้ ในเขต อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน รับทุนจาก สสส.
•พ.ศ. 2547 แกนนำการพัฒนาระบบการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากการผลิตไบโอแก๊ส จากมูลสัตว์บ้านฆ้องคำ ต.บ้านปวง อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน รับทุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก
•พ.ศ.2555 วิทยากรด้านการประสานเรื่องน้ำ/การประสานชุมชน/ร่วมกับคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัย UNU จากประเทศเยอรมัน ศึกษาวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของฝนกับผลกระทบต่อการย้ายถิ่นของเกษตรกรในพื้นที่ ต. บ้านปวง รับทุนจากมูลนิธิรักษ์ไทย
•พ.ศ. 2542- ปัจจุบัน แกนนำชุมชนในการดำเนินกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ป่า 169 ไร่ และพื้นที่ป่า 1,500 ไร่ โดยจะมีกิจกรรมการป้องกันไฟ ปลูกป่า สร้างฝายดักตะกอน และกำหนดกฎระเบียบการจัดการป่า


ผลงานที่โดดเด่น
• อนุรักษ์ป่าและฟื้นฟูป่าต้นน้ำ แม่ลี้และป่าห้วยไถ
การเลี้ยงดูบุตร
•สอนลูกให้มีความขยัน อดทน และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลูกสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับชุมชนถึงวิธีการใช้ประโยชน์จากมูลสัตว์ (หมู) มาผลิตแก๊สชีวภาพให้กับคนในชุมชนได้

คุณแม่นิรมล เพียโคตร


ภาคกลาง
นางนิรมล เพียโคตร จ.ปราจีนบุรี
อายุ 53 ปี อาชีพ เกษตรกร
บุตร 2 คน ผู้หญิง 1 คน ผู้ชาย 1 คน


การทำงานด้านสิ่งแวดล้อม
•พ.ศ.2538 เป็นผู้นำในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยเริ่มต้นจากที่ดินว่างเปล่าจำนวนพื้นที่ 30 ไร่
•พ.ศ.2553 พัฒนามาเป็นศูนย์การเรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอำเภอ นาดี (ขับเคลื่อนขยายผลภาคประชาชน) ทำการเกษตรอินทรีย์ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกพืชผัก ผลไม้ตามฤดูกาล เลี้ยงปลา เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ปลูกข้าวนาโยน พัฒนาสูตรปุ๋ยน้ำหมักจากรกหมู ทำฝายเพื่อกักเก็บมีผู้สนใจมาศึกษาดูงานทั้งประชาชน ภาครัฐ และเยาวชนมากกว่า 200 กลุ่มต่อปี
•พ.ศ. 2555 จดทะเบียนผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จังหวัดปราจีนบุรี สินค้ามีวางจำหน่ายทั่วประเทศ ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร อาทิ แชมพู น้ำยาล้างจาน ลูกประคบ ฯลฯ ยกระดับสินค้าให้มีคุณภาพด้วยการจด อย. และปรับปรุงออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถเป็นของที่ระลึก ของขวัญ เป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ได้อย่างดี


ผลงานที่โดดเด่น
•เป็นแกนนำช่วยบำบัดน้ำเสียจากลานมัน ด้วยน้ำหมัก เพื่อช่วยบำบัดกลิ่นและน้ำเสีย ลดปัญหาที่ชุมชนได้รับ รณรงค์การปลูกต้นไม้ที่อุทยานแห่งชาติทับลาน โดยมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง อาทิ ปลูกต้นไม้จำนวน 8,400 ต้น ในกิจกรรมเทิดพระเกียรติผู้จัดการธนาคารต้นไม้ เริ่มทำเมื่อปลายปี พ.ศ. 2556 คุณแม่ได้เป็นแกนนำตั้งกลุ่ม เพื่อรณรงค์ไม่ให้มีการตัดต้นไม้ใหญ่

การเลี้ยงดูบุตร
•คุณแม่เลี้ยงลูกทั้ง 2 คนด้วยความรักและปลูกฝังให้ลูกๆ ทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับคุณแม่ตลอด ทำให้ลูกๆมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีส่วนร่วมการขับเคลื่อนงานของศูนย์การเรียนรู้เป็นอย่างมาก อาทิ วิทยากร การพัฒนาคุณภาพสินค้า การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในด้านการเกษตร ทำให้ศูนย์มีแนวทางในการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ

คุณแม่จำเนียร โลกวิจิตร



ภาคใต้
คุณแม่จำเนียร โลกวิจิตร จังหวัดนครศรีธรรมราช
อายุ 62 ปี อาชีพปัจจุบัน : ชาวสวน
บุตร 5 คน ผู้หญิง 4 คน ผู้ชาย 1 คน


ผลงานด้านสิ่งแวดล้อม
•พ.ศ. 2530-2555 เป็นผู้ใหญ่บ้านหญิงคนแรกและคนเดียวในอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมอายุการทำงาน 25 ปี
•พ.ศ. 2531 ประสานกับนายอำเภอ เจ้าหน้าที่ อส. ตำรวจภูธรกะปาง และเจ้าหน้าที่ 37 คน จับกุมกลุ่มนายทุนและชาวบ้านในพื้นที่บางส่วนที่ได้บุกรุกพื้นที่ป่าอ่าวอ้ายยอ ซึ่งเป็นผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ และเป็นป่าต้นน้ำของหมู่บ้านถ้ำตลอด
•พ.ศ. 2545 ร่วมมือกับชุดตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.427) และประชาชนในหมู่บ้านดูแลรักษาป่าและได้ส่งป่าอ่าวอ้ายยอเข้าประกวดจนได้รับพระราชทานธง "พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต" จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
•พ.ศ. 2546 รับรางวัลป่าชุมชน การอนุรักษ์ป่าชุมชนจากกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
•พ.ศ. 2548 รับรางวัลระดับภาคใต้ โครงการคนรักษ์ป่า ป่าชุมชนดีเด่น จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
•พ.ศ.2552 รับรางวัลป่าตัวอย่างระดับจังหวัด จากการไฟฟ้าเวลดิ้งและกรมป่าไม้
•พ.ศ.2553 รับรางวัลด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าต้นน้ำ และ ได้รับรางวัลเมืองมงคล คนทำดี ของจังหวัดนครศรีธรรมราช
•พ.ศ.2554 ร่วมมือกับสำนักงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพสำรวจความหลากหลายด้านไลเคนพร้อมกับบุตร
•พ.ศ.2556 ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวจากบริษัท ปตท. และได้รับรางวัลแม่ดีเด่นของโรงเรียนบ้านถ้ำตลอด


ผลงานที่โดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม
•ทำให้ผืนป่ากลับมาเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ และได้ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมเพื่อพี่น้องประชาชน ถือว่าการเสียสละตัวเอง แม้แต่ชีวิตเพื่อส่วนรวมก็ถือว่าคุ้มค่า เมื่อผลที่ตามมาทำให้ทุกคนมีความสุข มีรอยยิ้ม มีอากาศที่บริสุทธิ์ มีทรัพยากรป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีป่าต้นน้ำ (ป่าอ่าวอ้ายยอ) จนผู้คนจะได้ขนานนามได้เป็นที่รู้จักในอนาคตวันข้างหน้าในระดับประเทศหรือในระดับโลกต่อไป
การเลี้ยงดูบุตร
•สอนให้บุตรปฏิบัติตนเป็นประชาชนที่ดีของสังคม ไม่ว่าจะในฐานะบุตรหรือสมาชิกในชุมชน รวมไปถึงในสังคม ให้ยึดมั่นปฏิบัติตนอยู่ในคุณธรรม ไม่ทำลายป่า ไม่เบียดเบียนสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ ช่วยกันสอดส่องดูแลสมบัติของส่วนรวม
•สอนให้บุตรประพฤติตนให้เป็นคนมีคุณค่า ทุ่มเท เสียสละ โดยการเข้ารับการอบรมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีการจัดเข้ารับการอบรมในด้านการอนุรักษ์ ร่วมกันปลูกป่า ทดแทนป่าที่ถูกทำลายไป
•ส่งเสริมและสนับสนุนให้บุตรมีส่วนเข้าไปศึกษา เรียนรู้ สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพบริเวณป่าอ่าวอ้ายยอร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
•สอนบุตรให้ช่วยกันรักษาและใช้แหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ในธรรมชาติอย่างประหยัดในการดำรงชีวิต
•สอนให้บุตรรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยให้เข้าใจกฎระเบียบของสังคมว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ สอนให้ทำตนให้เป็นประโยชน์ รู้จักสร้างความสุขให้กับผู้อื่นและไม่ทำอะไรที่กระทบต่อส่วนรวม และที่สำคัญคือการสอนให้เคารพกฎหมาย ใครทำผิดต้องได้รับผิด

รางวัลแม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

นางจินตนา แก้วขาว จ.ประจวบคีรีขันธ์ (รางวัลแม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประจำปี 2550)

รางวัลแม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน : นางจินตนา แก้วขาว จ.ประจวบคีรีขันธ์

นางจินตนา แก้วขาว
(รางวัลแม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประจำปี 2550)

นางจินตนา แก้วขาว
คุณสมบัติส่วนบุคคล
แม่อนุรักษ์ฯ มีความมุ่งมั่นทำงานเดิมจนสำเร็จสมบูรณ์ และยังทำงานเดิมนั้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้ดำเนินงานใหม่ที่เป็นการต่อยอดงานเก่า หรือเป็นงานที่แตกต่างจากเดิม เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงและสมบูรณ์ของชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่ใน 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ
•ในด้านสิ่งแวดล้อมหลังจากต่อสู้เพื่อบ้านเกิดเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ จนวันนี้โรงไฟฟ้าถ่านหินไม่สามารถสร้างในพื้นที่ของบ้านกรูด จ.ประจวบฯได้แล้ว ตนได้เล็งเห็นว่าถ้าชุมชนเพิกเฉยไม่สนใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องก็อาจตามไม่ทันการพัฒนาตามแผนการพัฒนาของประเทศได้ จึงได้มีการหารือกันในกลุ่มสมาชิกของกลุ่มอนุรักษ์ฯ บ้านกรูดถึงการติดตามข้อมูลข่าวสารจากเพื่อนมิตร และนักวิชาการรวมถึงจากสื่อมวลชน ติดตามโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักในพื้นที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบฯ พบว่าจังหวัดประจวบฯ ถูกกำหนดโดยสภาพัฒน์ฯ และรัฐบาลให้จังหวัดประจวบฯ เป็นเป้าหมายอุตสาหกรรมหนัก หรือเมืองหน้าด่านภาคใต้ ที่สำคัญในอำเภอบางสะพานที่แม่ฯ และชาวบ้านในพื้นที่ที่ร่วมกันต่อสู้กับโรงไฟฟ้าเดิมก็ได้รับผลกระทบจากการกำหนดการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กต่อเนื่อง และยังเป็นพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจร โดยกำหนดพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลทั้งหมดให้เป็นพื้นที่สีม่วง ชาวบ้านในชุมชนจึงรวมตัวกันเมื่อผังเมืองเดิมที่กำหนดพื้นที่ของชาวบ้านให้เป็นสีม่วงหมดอายุลง โดยมีการกดดันให้เปลี่ยนพื้นที่ทีเป็นของชาวบ้านให้กลับมาเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเหมือนเดิม และกดดันต่อให้นิคมอุตสาหกรรมต้องฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่ หลังมีการกำหนดให้พื้นที่ชาวบ้านเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเบื้องต้นนิคมอุตสาหกรรมตัดสินใจยกเลิกการทำอุตสาหกรรมในพื้นที่อำเภอบางสะพานแล้วเมื่อปลายปี 2555 ด้วยเหตุผลที่ประชาชนได้ตรวจสอบพบว่าพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมคือพื้นที่อ่อนไหวทางนิเวศวิทยา มีสภาพเป็นป่าพรุชุ่มน้ำขนาดใหญ่ มีป่าเสม็ด ป่ากกขนาดใหญ่ หนาทึบเกือบพันไร่ และทำหน้าที่เป็นแหล่งอาหารของสัตว์บก สัตว์น้ำ ปลายทางของป่าพรุคือต้นคลองแม่รำพึงซึ่งไหลลงสู่ทะเลเป็นแหล่งอาหารของปลาทูที่บริเวณแหลมแม่รำพึง และไหลลงสู่ทะเล ซึ่งบริเวณแหลมแม่รำพึงก็เป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการวางไข่ของปลาทูที่หนาแน่นของอ่าวไทย ที่ระบุอยู่ในงานวิชาการของกรมประมงรวมถึงมีการประกาศปิดอ่าวช่วงสามเดือนทุกปีเพื่อให้ปลาทูได้มีจังหวะเวลาวางไข่และขยายพันธุ์ และพื้นที่นี้ชาวบ้านในเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ฯ ยังได้ช่วยผลักดันให้พื้นที่ป่าพรุชุ่มน้ำขนาดใหญ่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับชาติตามมติ ครม.เมื่อเดือนตุลาคม 2555 และตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการผลักดันให้เป็นพื้นที่แรมซาร์ต่อไป ขณะเดียวกันเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ฯ ยังได้ร่วมกันในการผลักดันให้พื้นที่ชายฝั่งทะเลของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัด เพื่อเป้าหมายในการรักษาทรัพยากร ทั้งทางบก และชายฝั่งทะเล ให้คงสภาพให้มากที่สุด ซึ่งบริษัทเอกชนที่ไดรับการอนุมัติให้สร้างโรงถลุงเหล็กได้ออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติไปเป็นพื้นที่ของตัวเองตามการกำหนดพื้นที่การพัฒนาตามแผนที่ผังเมืองเดิมที่กำหนดตำบลแม่รำพึงให้เป็นเมืองอุตสาหกรรม การต่อสู้ในหลายมิติของชาวบ้านที่อำเภอบางสะพาน ทำให้การนิคมอุตสาหกรรมต้องยกเลิกการลงทุนในพื้นที่ไป
•แต่ในขณะเดียวกัน การดำรงชีพของคนในภาวะปัจจุบันทำให้การรวมตัวกันอย่างต่อเนื่องทำได้ยากยิ่ง แม่ฯจึงเห็นการรวมตัวกันเพื่อต่อยอดด้านเศรษฐกิจจึงมีความเหมาะสม รวมถึงต้องอิงต่อการพัฒนาที่สามารถรักษาสิ่งแวดล้อมได้ด้วย จนเกิดการหารือเรื่องการเปลี่ยนผ่านจากการทำเกษตรแบบเดิม เพราะส่วนใหญ่มีอาชีพทำการเกษตร ซึ่งพืชหลักชนิดหนึ่งคือ สวนมะพร้าว ที่ผ่านมาต้องพึ่งพิงกลุ่มทุน หรือพวกนายหน้าคนกลางในพื้นที่ ถูกเอารัด เอาเปรียบ เช่น ถ้าขายมะพร้าวเกษตรกรขายมะพร้าว 10 ลูกต้องแถมฟรี 1 ลูกเป็นต้น การริเริ่มเรียนรู้การเปลี่ยนผ่านการทำเกษตรอินทรีย์ที่จะให้เกิดการพึ่งพาตนเอง และไม่ต้องพึ่งพิงกลไกตลาด เกษตรกรสามารถกำหนดราคาขาย ส่งได้เอง ตั้งราคาประกันของตนเองได้ ที่สำคัญเกษตรกรในชุมชน ได้เรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านการพัฒนาแบบทำเกษตรอินทรีย์ เกิดการคิดเป็นกระบวนการในการพัฒนาพื้นที่ที่ต้องทำการเกษตร การทำเกษตรแบบไร้สารเคมีจึงเป็นแนวต้านให้ชุมชุนของแม่ฯ นั้นเล็งเห็นความจำเป็นในการรักษาพื้นที่ทำเกษตรแบบอินทรีย์ซึ่งจะขัดแย้งเป็นอย่างมากที่จะปล่อยให้พื้นที่ต้องพัฒนาเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่สกปรก และต้องปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ คู คลอง ทะเล เมื่อชาวบ้านสามารถกำหนดอัตราการขายเองได้ ก็ทำให้พืชผลของชาวบ้านมีราคาส่งขาย สูงกว่าท้องตลาดปกติ และไม่ต้องขึ้นตรงกับพ่อค้าคนกลางในพื้นที่ แต่สามารถส่งออกต่างประเทศได้เอง และมีความรักในวิถีชีวิตมากขึ้น เนื่องจากชาวบ้านทราบดีว่าการมีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่อาจส่งผลโดยตรงกับตัวของชาวบ้านเอง เพราะสารเคมีปนเปื้อนในผลผลิตที่ส่งออกจะทำให้เกษตรกรไม่สามารถส่งออกผลผลิตได้ เขาจึงรวมตัวกันคัดค้านโครงการขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง เพียงเพราะพวกเขาต้องการรักษาผลผลิตมิให้เกิดการปนเปื้อนสารเคมีนั่นเอง
•นอกจากการทำอินทรีย์ เพื่อการส่งออกของชาวบ้านในเครือข่ายแล้ว เรายังได้ตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในการจัดการผลผลิตที่มิได้เข้าโครงการเกษตรอินทรีย์ ให้มีการรวมตัวกันเองในรูปสหกรณ์ เพื่อต่อรองราคากับพ่อค้าคนกลางที่เอารัด เอาเปรียบชุมชน โดยการจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็ก และมีการศึกษาดูงานจากนักศึกษาบ่อยครั้งในด้านกระบวนการ ทำให้ชาวบ้านในชุมชน มีความทันสมัยอยู่เสมอ ในแง่ของการพัฒนาองค์ความรู้ ที่ต้องแลกเปลี่ยนกับบุคคลภายนอก

ในการดำเนินงานดังกล่าวข้างต้น แม่อนุรักษ์ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในความรู้ใหม่จากเครือข่าย และทำการถ่ายทอดความรู้ทั้งเก่าและใหม่ให้กับคนรุ่นใหม่อย่างมีระบบและเป็นแบบแผนชัดเจนอย่างไร
•ในส่วนงานด้านสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่มีการประชุมกันอยู่แล้วทุกสัปดาห์ ในทุกวันจันทร์ ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเองในระกับชาวบ้านในชุมชน และระดับแกนนำชาวบ้านที่เดินทางไปประชุมกับองค์กรอื่น และเครือข่ายชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในที่อื่นๆ มาปรับใช้ และเรียนรู้บทเรียนร่วมกัน และทางกลุ่มยังจัดตั้งสถานีวิทยุของตัวเองเพื่อใช้รณรงค์กิจการของกลุ่มอนุรักษ์ฯ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มพัฒนาเกษตรอินทรีย์
•ในด้านเศรษฐกิจ ชาวบ้านในชุมชนได้แลกเปลี่ยนการทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่พัฒนาเกษตรอินทรีย์ระหว่างกลุ่มต่อกลุ่ม ในกลุ่มตำบล สามตำบลในพื้นที่ของอำเภอบางสะพาน เช่น ตำบลธงชัย ตำบลชัยเกษม ตำบล แม่รำพึง จนเกิดการพัฒนาการทำพืชเกษตรประเภทนี้ได ปัจจุบันเกษตรกรของกลุ่มอนุรักษ์ฯบ้านกรูด ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์( มกท. )จากกรมวิชาการเกษตร และสามารถส่งออกมะพร้าวอินทรีย์ไปยังสหภาพยุโรปได้ปีละ 3,000,000 ล้านลูก โดยการจัดการกันเองในนามกลุ่มพัฒนาเกษตรอินทรีย์บ้านกรูดทำให้เกิดการลดต้นทุนในกระบวนการผลิต จนถึงการประกันราคา ทำให้สินค้าราคาสูงกว่าราคาตลาดปกติ ช่วยไม่ให้นายทุนขูดรีดผลผลิตของเกษตรกร
•ให้ชาวบ้านในชุมชนได้เรียนรู้การทำเกษตรแบบไม่พึ่งสารเคมีที่ส่งผลอันตรายต่อชุมชนของตน และทำให้เยาวชนได้เปรียบเทียบ รับรู้พิษภัยที่เกิดขึ้นจากเคมีอื่นๆ เช่น การเกิดอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่อำเภอบางสะพานอาจทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของชุมชนไม่สามารถส่งออกไปยังสหภาพยุโรปได้ เท่ากับทำให้เศรษฐกิจของครัวเรือนได้รับผลกระทบไปด้วย
•มีการตั้งกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาพื้นที่อย่างเป็นระบบ เปิดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างกลุ่มอนุรักษ์ฯในพื้นที่ที่เป็นเครือข่ายของผู้ใหญ่ และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเยาวชนนอกพื้นที่ในนาม “กลุ่มเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อมประจวบฯ”ในเครือข่ายเยาวชนด้วยกัน เพื่อให้รับรู้เรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ของตัวเอง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

• แม่อนุรักษ์มีความสามารถหรือทักษะในการสื่อสาร ทำความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชนอย่างไร เพื่อลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น และนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
•ในกิจการงานของชุมชนที่ส่งผลกระทบ หรือที่ชุมชนมีส่วนได้เสียต่อผลกระทบ ส่วนใหญ่ภาครัฐไม่ค่อยให้ข้อมูลกับชาวบ้าน และกว่าจะรู้เรื่องที่เกี่ยงข้องก็ทำให้เกิดความขัดแย้ง แม่อนุรักษ์ฯ จึงคิดร่วมกันกับพี่น้องในชุมชน ว่าควรมีสถานีวิทยุชุมชนของชาวบ้านเองเพื่อสื่อสารสาธารณะของชาวบ้าน จึงรวมรวมเงินในรูปแบบของการทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อนำเงินมาซื้อที่ดิน ตั้งเสารับสัญญาณ ซื้ออุปกรณ์ของสถานี ผ่านการร่วมไม้ ร่วมมือของชาวบ้าน ขนวันนี้ทางกลุ่มของเรามีสถานีวิทยุชุมชนชื่อ “สถานีวิทยุชุมชนเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบางสะพาน 100.75 MHz ทำให้ชาวบ้านในชุมชนสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้ทัน และสถานีวิทยุยังเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญในการหยุดยั้งความขัดแย้ง ความไม่เท่าทันกลไกของรัฐที่อาจทำให้พี่น้องประชาชนขาดโอกาสทางด้านใด ด้านหนึ่ง

ปัจจัยของครอบครัวและชุมชน

คนในครอบครัวและชุมชนของแม่อนุรักษ์มีส่วนสนับสนุนการทำงานต่อยอดหรือแผนงานใหม่ อย่างมีส่วนร่วมและอย่างต่อเนื่อง
•คนในครอบครัวของแม่อนุรักษ์ฯเองนั้นตระหนักดีถึงภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบในฐานะผู้นำ ทุกคนให้ความร่วมมือ และร่วมรับผิดชอบเสมอ ยกตัวอย่างเมื่อแม่ถูกตัดสินพิพากษาจำคุก เรื่องการต่อสู้กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน เมื่อแม่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ทุกคนทางบ้านต้องทำหน้าที่ดูแลมวลชน และดูแลแม่ในเรือนจำได้เป็นอย่างดี และคนในชุมชนของแม่อนุรักษ์ฯมีส่วนร่วมมาตั้งแต่ ปี 2540 จนปัจจุบัน แม้การต่อสู้เรื่องเดิมจะหมดไป มีการต่อสู้ที่ต้องเริ่มใหม่ทุกคนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จนทำให้วันนี้แผนการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ลงมาทับที่ทินทางการเกษตรของชาวบ้านได้ถูกต่อต้านจากชาวบ้านในชุมชน จนวันนี้มีการฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐหลายคดี ทั้งศาลปกครอง ศาลยุติธรรม

ผลสำเร็จของงานนำไปสู่ความสามัคคีและการช่วยเหลือเกื้อกูลของคนในชุมชน (สังคม)อย่างไร รวมถึงความมั่นคงและสมดุลของการใช้และจัดสรรทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และการลดปัญหาความยากจนหรือลดช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวมภายในชุมชน (เศรษฐกิจ)
•ความสามัคคีในชุมชนนี้เองทำให้ชาวบ้านในจังหวัดประจวบฯ ที่เป็นเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เข้าพบกับ นายวีระ ศรีวัฒนะตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ เมื่อคราวแผนพัฒนาจังหวัดหมดวาระ และต้องจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดฉบับใหม่ขึ้น โดยต้องผ่านการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ทุกชุมชน เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงร่วมร่างแผนพัฒนาจังหวัดขึ้นใหม่ โดยผลักดันให้จังหวัดประจวบฯ ต้องยกเลิกอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้พลังงานสูง และเป็นอุตสาหกรรมที่สกปรก ออกจากพื้นที่จังหวัดประจวบฯได้สำเร็จจนปัจจุบันแผนพัฒนาจังหวัด มีการกำหนดการพัฒนาจังหวัดไว้ใน 4 ประเด็น ดังนี้ 1.ท่องเที่ยวอย่างทรงคุณค่า
2.มะพร้าว สัปปะรดที่หนึ่งของโลก
3.สังคมแห่งมิตรไมตรี
4.เปิดเส้นทางสู่ประชาคมอาเซียน
การต่อสู้ของชาวบ้านในพื้นที่ก็ยังดำรงไปอย่างต่อเนื่อง เพราะแม้เราจะหยุดยั้งการพัฒนาได้บ้างบางส่วน แต่ก็ยังต้องวางระบบที่ดีให้มากที่สุด เช่นต้องแก้การกำหนดการใช้ที่ดินที่มีการวางผังเมืองตามใจภาครัฐ และเอกชนเจ้าของที่ดิน ให้เป็นการวางผังเมืองให้ตรงกับความเป็นจริง และอิงกับผลประโยชน์ของประชาชนในระยะยาว

นางกานดาภร ไชยปากดี จ.หนองคาย (รางวัลแม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประจำปี 2553)

รางวัลแม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน : นางกานดาภร ไชยปากดี จ.หนองคาย

นางกานดาภร ไชยปากดี
(รางวัลแม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประจำปี 2553)



ผลงานด้านสิ่งแวดล้อม
•การประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ ทำสวนเห็ด ทำเกษตรอินทรีย์ การทำปุ๋ยใช้เอง/การขายใช้ชุมชน การทำงานเกษตรผสมผสานเพื่อลดความเสี่ยงด้านอาชีพ ต่อยอดกิจกรรมพ่อ-แม่ตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยัง เป็นวิทยากรด้านอาชีพ และนักประชาสังคม/นักการเมือง

ผลงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำต่อยอด
•การเป็นวิทยากรการเพาะเห็ดแบบครบวงจร
•การประกอบอาชีพด้านการเกษตรพัฒนาต่อยอดการเพาะเห็ดและขยายตลาดผลิตให้มากขึ้นทำให้เป็นรายได้หลักเลี้ยงครอบครัว
•ชักชวนเพื่อนบ้านที่มีอาชีพเหมือนกันให้เข้ามาเรียนรู้เกิดการระดมทุนรวมกัน จนเกิดสถาบันการเงินชุมชน/แก้ไขปัญหาการเงินของสมาชิก
•การจัดสวัสดิการชุมชนดูแลผู้ด้อยโอกาส

ด้านสิ่งแวดล้อม
•การเป็นแบบอย่างนำภาวะชุมชนเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม
•การค้นหาวิธีการทำงานแบบมีส่วนร่วมในการตั้งกลไกเครือข่ายอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลง/เครือข่ายเยาวชนฮักบึง
•การเชื่อมโยงการทำงานกับภาคีที่เกี่ยวข้องในการอนุรักษ์บึงโขงหลง
•การระดมความคิดเห็นของชุมชนในการแก้ไขปัญหาหาดคำสมบูรณ์จนประสบผลสำเร็จ/การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่จากหน่วยงานภาครัฐ
• การจัดตั้งศูนย์ระบบข้อมูลพื้นฐานของพื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลง
•การส่งเสริมการวิจัยการลดสารเคมีไหลลงบึงฯและการทำแปลงสาธิตการปลูกมะแป่มเพื่อลดสารเคมีในสวน ยางพาราแทนน้ำกรด
•การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น 4 อปท.ในการแก้ไขปัญหาภาพร่วมที่พื้นที่บึงโขงหลงพื้นที่ชุ่มน้ำโลก อันดับ 2 ของประเทศไทย
•การจัดตั้งกดระเบียนข้อบังคับพื้นที่ชุ่มน้ำร่วมกันในนาม“นักสานพลัง”การทำเขต นสล. (หนังสือสำคัญที่หลวง)
•การแก้ไขปัญหาภาพรวมเรื่องการบุกรุกที่ดินการสร้างแพในพื้นที่ชุ่มน้ำโลกจนสำเร็จ
•การพัฒนาอาชีพในชุมชนคือการพาแม่บ้านทำอาชีพที่มีอยู่มาต่อยอดให้เกิดมูลค่าเพิ่ม สร้างงานสร้างรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้เกิดความยั่งยืน
•การพัฒนาเครือข่ายที่พักนักท่องเที่ยวที่มีอยู่ในชุมชน ให้เกิดเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยมีกติการ่วมกัน
•การพัฒนาผู้ประกอบการในการรองรับการท่องเที่ยว/AEC (ขณะนี้ยังดำเนินการบางกิจกรรมยังต้องค่อยเรียนรู้เพื่อศึกษา)

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้
•การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลพื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลงเพื่อให้เป็นที่ศึกษาของทุกคนทั้งเด็ก/เยาวชน/และพื้นที่อื่นที่เข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน
•การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพน้ำ/การศึกษาการปรับตัวของภูมิอากาศชุมชนในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลง/กรมทรัพยากรน้ำ/WWWF /MRC
•การเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้/ศึกษาดูงานเรียนการจัดการน้ำ/การศึกษานก ปลา และระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ
•ในการลดความขัดแย้งของชุมโดยการพูดเรื่องความสำคัญของทรัพยากร ประโยชน์ที่ทุกคนจะได้รับในภาพรวมในการทำกิจกรรมแต่ละกิจกรรมและนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการทำงาน ให้ตระหนักถึงคุณค่าของการอยู่รวมกันการใช้ทรัพยากรร่วมกันน่าจะมีกฎกติการ่วม
•การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม การให้โอกาสแสดงออกถึงความเป็นเจ้าของพื้นที่หาทางออกร่วมกัน ในงานพัฒนาภาครัฐก็ไม่ควรยืดกฎหมายชี้ผิดจนเกินไป ทำตามนโยบายจนทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนมันก็ทำให้ชาวบ้านขาดความเป็นเจ้าของ

ครอบครัว
•เป็นสิ่งสำคัญมากในงานพัฒนาโดยเฉพาะผู้หญิง ถ้าครอบครัวไม่ให้โอกาสก็คงไม่มีวันนี้ ครอบครัวเป็นผู้ส่งเสริมทำงานควบคู่กันไปกับการประกอบอาชีพ ครอบครัวจะมาร่วมกิจกรรมตลอดโดยเฉพาะลูกๆ ถ้าลูกมีเวลาจะให้มาช่วยทำกิจกรรมโดย เสนอแลกเปลี่ยนเป็นเงินหรือสิ่งของบ้างให้ได้รู้ว่าการทำงานเพื่อแลกเป็นอย่างอื่นที่เขาต้องการเป็นการเรียนรู้ชีวิตจริงที่จะต้องเจอในวันข้างหน้า และฝึกการเรียนรู้ให้แก้ไขปัญหาและหาประสบการณ์จากการปฎิบัติจริง ได้เห็นกระบวนการเห็นบริบทของเรา เป็นการฝึกเตรียมความพร้อมที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณค่า

ผลสำเร็จของงานนำไปสู่ความสามัคคีและการช่วยเหลือเกื้อกูลของคนในชุมชน
•การออกกฎระเบียบที่ให้เอื้อกับคนยากไร้ที่ไม่มีที่ทำมาหากินเช่น การทำเขตห้ามจับปลาต้องให้เขามามีส่วนในการวางแผนงานชี้เขต
•การจัดทรัพยากรให้มีที่สำหรับคนจนได้พักผ่อนหาอาหารเลี้ยงชีพ
•การจัดให้โอกาสทางการเงินเวลามีปัญหามีจุดเสนอทางออกโดยใช้เครือข่ายเป็นแกนช่วยเวลาคับขัน เช่น เครือข่ายงาน/เครือข่ายช้อนหนี้

© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.