• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กอนช. เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 9 แห่ง จากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักก่อนหน้านี้ ขณะที่กรมชลประทานได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  13 สิงหาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 9 แห่ง จากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักก่อนหน้านี้ ขณะที่กรมชลประทานได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อาจกระทบประชาชนนอกแนวคันกั้นน้ำ

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (13 ส.ค.65) ว่า ประเทศไทยมีฝนลดลงแต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.พะเยา 187 มิลลิเมตร , เชียงใหม่ 183 มิลลิเมตร และเชียงราย 108 มิลลิเมตร พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่ประสบอุทกภัยบริเวณ จ.เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ นครพนม เลย ปราจีนบุรี ภาพรวมปัจจุบัน จ.เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน และพิษณุโลก ยังคงเกิดอุทกภัยอยู่ ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 47,971 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 58 พร้อมเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 9 แห่ง คือ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม ป่าสักชลสิทธิ์ อุบลรัตน์ น้ำพุง หนองปลาไหล บางพระ และบึงบระเพ็ด

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน ระดับน้ำล้นตลิ่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) ปรับการควบคุมระดับน้ำและปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยให้กรมชลประทานปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อัตราอยู่ระหว่าง 1,100 - 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ให้สอดคล้องกับ

การคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาช่วงนี้จะเกิดฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคเหนือ ทั้งนี้ คาดการณ์ปริมาณน้ำช่วงนี้บริเวณสถานีวัดน้ำ C.2 จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอัตราประมาณ 1,100 - 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนที่แม่น้ำสะแกกรัง สถานี Ct.19 ประมาณ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และลำน้ำสาขา อัตราประมาณ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณระหว่าง 1,400 - 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จำเป็นต้องระบายน้ำเพิ่มขึ้นในอัตราระหว่าง 1,100 - 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 20 - 60 เซนติเมตร อาจส่งผลกระทบต่อชุมชน บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.