นางศิริกุล รินฤทธิ์ จังหวัดน่าน
แม่ศิริกุล เป็นแม่ที่เข้มแข็งทั้งที่เป็นหญิงอยู่ในสถานภาพหย่าร้าง แต่ก็พากเพียรเลี้ยงดูบุตรสาวคนเดียวได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องมาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี อีกทั้งยังดำรงบทบาทเป็นผู้นำชุมชนในฐานะผู้ใหญ่บ้าน คอยชี้แนะผู้คนในชุมชนให้รู้จักรักษาทรัพยากรในท้องถิ่น โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำ ด้วยเล็งเห็นว่าหากต้นน้ำสมบูรณ์ดี คนที่อยู่ปลายน้ำก็พลอยได้รับผลแห่งความอุดมสมบูรณ์นั้นไปด้วย แนวคิดนี้แม่ศิริกุลได้ส่งต่อถึงน้องกิ๊บ บุตรสาว ทั้งด้านความเป็นผู้นำและการดำรงอยู่อย่างรู้คุณค่าของทรัพยากร ซึ่งขณะนี้น้องกิ๊บ ได้รับเลือกเป็นประธานนักเรียน และรวมกลุ่มเพื่อนทำกิจกรรมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลายอย่าง เช่น เป็นแกนนำจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และคาดหวังที่จะเข้าศึกษาต่อทางด้านธรณีวิทยา ภายหลังเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาไปแล้วด้วยเหตุที่มีบิดาเป็นนักอนุรักษ์ตัวยง แม่ศิริกุล จึงเดินตามรอยผู้เป็นบิดาตั้งแต่นั้นมา โดยมีบทบาทด้านการอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำ ผลักดันให้เกิดโครงการกำจัดขยะในครัวเรือน และเป็นผู้ประสานงานโครงการอนุรักษ์ที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงความคิดชาวบ้านในท้องถิ่นให้เลิกทำไร่เลื่อนลอย โดยเข้าไปพูดคุย พบปะ และทำตัวอย่างให้เห็น การทำงานด้านสิ่งแวดล้อม แม้จะทำให้เวลาของแม่กับลูกไม่ตรงกันในบางครั้ง แต่แม่ศิริกุลก็ภูมิใจที่ลูกเข้าใจและส่งเสริมแนวคิดของแม่ อีกทั้งยังเข้าร่วมกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมด้วยดีเสมอมา
นางสี สานาผา จังหวัดนครพนม
ด้วยวัยชราภาพของแม่ใหญ่สี แม้บัดนี้สุขภาพไม่ค่อยจะสู้ดี แต่ทุกครั้งที่ได้บอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้เพื่อผืนป่าดงกระแสนที่รักและหวงแหนยิ่งชีวิต แม่ใหญ่สีก็รู้สึกกระชุ่มกระชวยขึ้นมาทุกครั้ง ย้อนไปเมื่อหลายสิบปีก่อน แม่ใหญ่สีกับสามีช่วยกันรักษาผืนป่าที่เป็นเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำจากการบุกรุกของกลุ่มนายทุน ทั้งคู่ต่อสู้มาได้ราว 30 ปี ผู้เป็นสามีก็ล้มป่วยตายจาก ทิ้งให้แม่ใหญ่สี เลี้ยงดูลูกๆ ทั้ง 14 คนตามลำพัง ครานั้นอาหารการกิน หรือแม้แต่ยารักษายามเจ็บไข้ได้ป่วย แม่ใหญ่ก็เสาะหาเอาจากป่าดงกระแสน และได้สั่งสอนลูกๆ ต่อไปถึงรุ่นหลาน และรุ่นต่อๆ ไป ให้สำนึกในคุณค่าของผืนป่า จนกระทั่งบัดนี้ทายาททุกรุ่นต่างรู้ซึ้งถึงคำสอนของแม่ใหญ่สี และช่วยกันปกป้องป่าดงกระแสนกันเรื่อยมา ด้วยความที่เป็นครอบครัวใหญ่ มีลูกหลานนับร้อยคน จึงเป็นเสมือนเกาะกำบังที่เข้มแข็ง ส่งผลให้ผืนป่าแห่งนี้ยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่ได้กว่าค่อนชีวิตที่แม่ใหญ่สี ต่อสู้เพื่อปกป้องป่าดงกระแสน ผ่านปัญหาและอุปสรรคนานัปการ โดยเฉพาะการข่มขู่จะทำร้ายถึงขั้นเอาชีวิต ที่กลุ่มผลประโยชน์คอยระรานเรื่อยมา แต่ก็ไม่ทำให้ท้อถอย กลับแน่วแน่ในเจตนารมณ์เดิมที่จะต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งผืนป่าแห่งนี้ ไม่ว่าจะต้องเผชิญหน้ากับชาวบ้านที่นิยมในผลประโยชน์ นายทุนผู้บุกรุก หรือแม้กระทั่งข้าราชการที่คิดไม่ซื่อ ท้ายที่สุดความพยายามก็ไม่ทำให้หญิงชราผู้นี้ผิดหวัง เมื่อนานวันเข้าชาวบ้านรอบข้างเริ่มสำนึกในคุณค่าของผืนป่า และร่วมกันปกปักรักษาจนหลุดพ้นจากการบุกรุก แม่ใหญ่สีบอกเล่าถึงความยากลำบากเหล่านี้ให้คนรุ่นหลังฟัง และบอกกับหลายๆ คนว่า ชีวิตนี้ไม่ต้องการอะไรจากผืนป่ามากไปกว่า ขอต้นไม่สักต้นไว้ต่อโลงยามสิ้นลมหายใจ แล้วดวงวิญญาณของแม่ใหญ่ก็จะคอบปกป้องผืนป่าดงกระแสนตลอดไป
นางรัชนี มงคลอินทร์ จังหวัดลพบุรี
การเป็นแม่บ้านที่ไม่ขาดตกบกพร่อง ทำงานเป็นช่างตัดเสื้อที่ใจรัก และการเลี้ยงดูลูกสาวทั้ง 2 ให้เป็นเด็กดี เป็นภารกิจที่แม่รัชนีให้ความสำคัญเสมอ ถึงแม้สภาพสังคมที่ทันสมัยขึ้นจะมีอิทธิพลต่อเยาวชนสักแค่ไหน แต่แม่รัชนี ก็สามารถอบรมเลี้ยงดูลูกๆ ได้อย่างชาญฉลาดเสมอ ทั้งการให้อิสระทางความคิดกับลูกๆอย่างเต็มที่ และคอยปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมควบคู่กันไป ตลอดจนชักชวนลูกมาร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้พวกเขารับเอาค่านิยมเหล่านี้มาจากผู้เป็นแม่อย่างชัดเจน อย่างเช่น น้องโม ลูกสาวคนโตถือเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้งานด้านการอนุรักษ์ของแม่รัชนีดำเนินไปได้อย่างสะดวกขึ้น ด้วยคอยให้การช่วยเหลือทั้งกำลังกาย และกำลังความสามารถจนเป็นที่ประจักษ์แก่เพื่อร่วมชมรมอนุรักษ์ตลอดมาในบรรดาแกนนำชมรมรักษ์เขาเอราวัณ แม่รัชนีเป็นแกนนำผู้หญิงเพียงคนเดียว แต่กลับมีบทบาทสำคัญที่ทำให้กลุ่มอนุรักษ์สามารถต่อสู้กับกลุ่มทุนที่ต้องการระเบิดภูเขา เพื่อสร้างโรงงานปูนซิเมนต์ได้สำเร็จ สมาชิกชมรมท่านหนึ่งบอกว่า การต่อสู้ที่สำเร็จมาได้ แม่รัชนีมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ไม่เพียงมีความรอบคอบและความจำเป็นเลิศ แต่การประสานงานต่างๆ ก็ทำได้ดีอย่างไร้ที่ติ ที่สำคัญ คือไม่เคยเป็นภาระให้ผู้ชายต้องกังวล การต่อสู้เพื่อเขาเอราวัณ ต้องฝ่าฟันปัญหาและอุปสรรคมากมาย ทั้งอิทธิพล และกระแสความไม่เข้าใจของคนในชุมชน เคยถูกขู่ฆ่าเอาชีวิต สามีถูกระรานหน้าที่การงาน แต่ทุกคนในครอบครัวก็เข้าใจกันดี วันนี้เขาเอราวัณ หลุดพ้นจากการถูกบุกรุก เป็นความภาคภูมิใจที่แม่รัชนีบอกต่อได้อย่างยิ้มแย้ม และยืนยันว่าจะทำหน้าที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่อไป ตราบใดที่ยังมีแรง
นางละเมียด รัตนะ จังหวัดตรัง
แม่ละเมียดมีวิธีเลี้ยงลูกแบบติดดิน คือ สอนลูกให้รู้จักบทบาทหน้าที่ของตน หากเป็นเรื่องการศึกษา ลูกๆ ทุกคนตั้งใจศึกษาเล่าเรียนจนสำเร็จการศึกษาในระดับสูง หากเป็นเรื่องการใช้ชีวิตและการทำงาน แม่ละเมียดสอนให้ลูกมีสัมมาคาราวะต่อผู้อาวุโส และต้องรู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม แม่ละเมียดปลูกฝังให้ลูกรักป่าของตน โดยการพาไปและทำให้เห็นไม่ว่าจะไปทำนา ทำสวน สิ่งที่ลูกได้เห็นแม่ทำงานจนเป็นภาพที่ชินตา นั่นคือ ภาพที่แม่ละเมียดเสียสละทำงานเพื่อส่วนรวม และอนุรักษ์ผืนป่าของตน สิ่งเหล่านี้ได้ตกผลึก จนกลายเป็นนิสัยติดตัวไปยังลูกๆ ของแม่ด้วยแม่ละเมียดเป็นผู้จุดประกายให้คนในชุมชนหันมาอนุรักษ์ป่าสาคู ซึ่งเปรียบเหมือนแหล่งทำมาหากินของชุมชน แม่เห็นว่า การขุดลอกคลองและทำลายป่าสาคูเพื่อนำพื้นที่ไปปลูกยางพารานั้น ทำลายสิ่งแวดล้อมและทำลายแหล่งทำกินเป็นอย่างยิ่ง แม่ละเมียดใช้ความพยายามและชักชวนให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าของป่าสาคู จนทุกวันนี้ ชาวบ้านได้ร่วมกันอนุรักษ์ป่าสาคู และใช้ประโยชน์จากป่าสาคูในการสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน รวมถึงคุณค่าของป่าสาคูยังขยายผลไปสู่โรงเรียนจนกลายเป็นหลักสูตรท้องถิ่น เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้และเห็นความสำคัญของป่าสาคู แม่ละเมียดมีความเชื่อว่า สิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่ต้นไม้หรือป่าสาคูเท่านั้น แต่หากรวมถึงคนด้วย เมื่อสิ่งแวดล้อมดี คุณภาพชีวิตก็จะดีไปด้วย