นางมิยะ หะหวา
นางมิยะ หะหวา เป็นแกนนำชาวประมงพื้นบ้าน บ้านเจ้าไหม ที่ดำเนินกิจกรรม และมีคุณูปการต่องานด้านสิ่งแวดล้อม จ.ตรัง มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 จวบจนถึงปัจจุบัน ด้วยผลงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานราชการและเอกชน ทั้งระดับจังหวัด และระดับประเทศ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการหลายรายการ ทั้งยังเป็นแม่ตัวอย่างที่สามารถปลูกสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมสู่ลูกจนประสบความสำเร็จ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
ประวัติผลงาน
- แกนนำชาวประมงพื้นบ้าน บ้านเจ้าไหม จ.ตรัง เพื่อดำเนินกิจกรรมดูแลรักษาแหล่งหากินและบริบาลสัตว์น้ำ คือหญ้าทะเล ป่าชายเลนชุมชน โดยผลสำเร็จที่เกิดขึ้นคือ
- สัตว์น้ำเศรษฐกิจกับมาอุดมสมบูรณ์ในทะเลหน้าบ้าน หลังจากที่ประมาณปี 2534 สัตว์น้ำเหล่านี้แทบจับหาเลี้ยงชีพไม่ได้จนในปัจจุบัน ทะเลหน้าบ้านกลายเป็นที่พึ่งพิงของชาวประมงในหมู่บ้านทุกครอบครัว
- สัตว์น้ำหายาก จำพวก พะยูน โลมา ที่ครั้งหนึ่งเคยพบเห็นได้ยาก กลับมาหากินและอยู่อาศัยในทะเลหน้าบ้าน จนกลายเป็นกระแสด้านการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในส่วนราชการของจังหวัดตรังจนถึงปัจจุบัน
- สัตว์ป่าหายากจำพวกค่าง นกบางชนิด และพืชสมุนไพร อาศัยเจริญเติบโตอยู่ในป่าชายเลนที่ดูแลรักษาจนถึงปัจจุบัน
- การดูแลรักษาหญ้าทะเล ป่าชายเลน จนอุดมสมบูรณ์ เป็นเงื่อนไขให้สามารถผลักดันส่วนราชการเกิดการป้องปราม และตรวจจับเครื่องมือประมงทำลายล้างที่เข้ามารุกล้ำเขตหวงห้ามจนเกิดผลปฏิบัติจริง
- สร้างความร่วมมือด้านการวางแผนการจัดการสิ่งแวดล้อมระหว่างชาวบ้านกับส่วนราชการให้เกิดขึ้น
- สร้างกระแสจิตสำนึกด้านการจัดการดูแลสิ่งแวดล้อมของคนในหมู่บ้าน และขยายเครือข่ายไปสู่หมู่บ้านชาวประมงพื้นที่อื่น ๆ
- พิสูจน์ให้เจ้าหน้าที่อุทยานเจ้าไหม เห็นว่าชาวบ้านสามารถจัดการดูแลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้ แม้จะเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยาน จนในปัจจุบันชาวบ้านกับทางอุทยานแห่งชาติสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติ
- ฯลฯ
- แกนนำจัดตั้งชมรมชาวประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินกิจกรรมด้านการจัดการดูแลทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และสิทธิของชาวประมงในด้านต่าง ๆ จนสามารถขยายเครือข่ายครอบคลุมสมาชิกกว่า 30 หมู่บ้าน ซึ่งในปัจจุบันตนดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสของชมรมฯ
- แกนนำจัดตั้งสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ ซึ่งเป็นเครือข่ายชาวประมงทั้ง 13 จังหวัดภาคใต้ที่ดำเนินกิจกรรมด้านการจัดการดูแลทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และสิทธิของชาวประมงในด้านต่าง ๆ ทั้งในระดับพื้นที่และระดับนโยบายปัจจุบันตนดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสของสมาพันธ์ฯ
- ได้รับเชิญจากองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมประชุมในเรื่องสำคัญต่าง ๆ เช่น การจัดแผนแม่บท จังหวัดตรัง การจัดแผนการจัดการทรัพยากร ฯลฯ นอกจากนี้ยังได้รับเชิญให้เข้าร่วมศึกษาดูงานในต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน ประเทศฝรั่งเศษ เป็นต้น
- เข้ารับเป็นอาสาสมัครสาธารณะสุข (อสม.) มาเกือบ 20 ปี
- นอกจากนี้ยังดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมตามวาระต่าง ๆ อีกมากมาย (ตั้งแต่ปี 2534-ปัจจุบัน) เช่น กิจกรรมปลูกป่า กิจกรรมศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าชายเลน และหญ้าทะเล กิจกรรมด้านการเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมตามวาระต่างๆที่รับเชิญกว่า 50 ครั้ง เป็นต้น การปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมสู่ลูก ๆ
ตลอดระยะเวลาที่ได้ดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2534 นั้นสิ่งที่ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมสู่ลูกๆ โดยมากจะเป็นการปลูกฝังให้เกิดการเรียนรู้โดยตรงทั้งสิ้น
การปลูกฝังด้วยวิธีการแบบนี้นั้น เกิดผลจนทำให้รายการโทรทัศน์ "รายการทุ่งแสงตะวัน" ซึ่งเป็นรายการสารคดีเด็กเคยมาทำเรื่องชีวิตของลูกๆถึง 2 ครั้ง โดยการปลูกฝังด้วยวิธีดังกล่าว ที่ดำเนินการมาตลอดคือ
- ให้เกิดการเรียนรู้จากวิถีชีวิตที่ดำรงอยู่ ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุว่าเป็นครอบครัวชาวประมง ซึ่งเป็นลักษณะครอบครัวที่จะต้องฝึกให้ลูกๆ อยู่กับทะเลให้ได้ โดยการนำลูกๆ ออกทะเลเพื่อสะสมความช่ำชองทางอาชีพประมง และช่วงเวลาเหล่านี้การสอดแทรกเรื่องสิ่งแวดล้อมจะสามารถทำได้ง่าย เพราะลูกๆ จะพบเห็นของจริง เช่น เมื่อจะอธิบายว่าป่าชายเลน หรือหญ้าทะเล เป็นแหล่งบริบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ลูกๆ ก็จะได้เห็นของจริง และเข้าใจว่าหญ้าทะเล หรือ ป่าชายเลนควรดูแลรักษา หากทำลายสิ่งเหล่านี้ก็เท่ากับทำลายชีวิตของตัวเอง เพราะอาชีพของเราคือประมง หรือหากจะอธิบายว่าสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติจะต้องมีความสมดุลโดยวิธีของธรรมชาติ ลูกๆ ก็จะได้เห็นของจริงที่สามารถอธิบายสอดแทรกยามออกทะเลประกอบอาชีพว่า หากยามใดที่เครื่องมือประมงทำลายล้างจำพวกเรืออวนลาก เรืออวนรุน (ซึ่งเป็นของผิดธรรมชาติ) เข้ามาทำลายทะเลหน้าบ้านอยู่ทุกเมื่อเชื่อว่าหายนะก็จะเกิดแก่ทะเล และชาวประมงในที่สุด
- ให้เกิดการเรียนรู้โดยการนำลูกๆ เข้าร่วมกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ไปพร้อม ๆ กันตามโอกาสจะอำนวยอย่างสม่ำเสมอ เพราะการเรียนรู้ลักษณะนี้จะทำให้ลูกๆ เกิดความภูมิใจ ในกิจกรรมที่ได้ทำ จนกลายเป็นจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมในที่สุด ทั้งยังเป็นการเปิดโลกทัศน์และชีวทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านอื่น ๆ แก่ลูกๆ เพราะเวลาดำเนินกิจกรรมเหล่านี้มักจะมีผู้เข้าร่วมหลากหลาย
หลังจากที่ปลูกฝังเรื่องสิ่งแวดล้อมแบบนี้แก่ลูกๆ มาตลอดในปัจจุบันลูกๆ ทุกคนล้วนมีความรัก หวงแหน และเห็นความสำคัญในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะได้สืบทอดเจตนารมย์ของแม่ที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้า
นางบุญเติม ณรงค์ศิลป์
แม่อึ่งแม่ผู้ให้โอกาสลูกอยู่เสมอ
แม่อึ่งเป็นแม่คนหนึ่งที่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ ไม่ว่าจะทำอะไรแม่อึ่งไม่เคยเกี่ยง ถึงแม้ว่างานที่ทำจะหนักและเหนื่อยแค่ไหนแม่อึ่งก็ทำเพื่อให้ได้เงินมา แม่อึ่งรับจ้างชำแหละปลา ทำปลาส้มขายและแลกข้าว แม่อึ่งได้เงินประมาณวันละ 100 บาทก็จะรวบรวมไว้ให้ลูกๆ ไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาของลูก ทั้งสามคน แม่อึ่งบอกลูกๆ อยู่เสมอว่า "แม่ไม่มีสมบัติอะไรจะให้นอกจากให้ลูกได้เรียนหนังสือสูงๆ เพราะคนที่เรียนต่ำๆ ก็จะลำบากเหมือนแม่" เมื่อแม่อึ่งส่งลูกคนเล็กเข้าโรงเรียนสายอาชีพในตัวจังหวัด ด้วยความที่เป็นวัยรุ่นจึงมีความคิด อยากรู้อยากเห็น กรอปกับมีโอกาสพบเพื่อนเยอะ จึงถูกเพื่อนชักชวนให้หลงผิดไปติดยาเสพย์ติด ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับโทษจากสารเสพติด จนทำให้ขาดสติสัมปชัญญะ ความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองลดลง ต่อมาได้รับการบำบัดจากศูนย์บำบัดผู้ติดสารเสพติดที่จังหวัดนครพนม ในปัจจุบันแม่อึ่งจึงยังคงรับภาระเลี้ยงดูลูกชายอยู่ แม่อึ่งพูดถึงลูกชายเสมอว่า "จะดีจะชั่วก็ยังคงเป็นลูก" ปัจจุบันแม่อึ่งดูแลลูกชายโดยการให้ลูกชายได้มีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนๆ ให้กำลังใจลูก และให้มีโอกาสช่วยงานพ่อหนอกเท่าที่จะทำได้ เช่น ช่วยหาปลา ช่วยทำงานบ้านบ้างบางโอกาส บางครั้งแม่อึ่งก็แอบร้องไห้คนเดียวเพราะเมื่อลูกชายคนเดียวของแม่อึ่งหลงผิดติดยาเสพย์ติด ทำให้แม่อึ่งต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้ในการดูแลรักษาบำบัดลูกชาย แต่เมื่อทำใจได้แล้วแม่อึ่งกับครอบครัวก็สมารถใช้ชีวิตอยู่ได้ตามปกติสุข
ก้าวย่างในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
ด้วยวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำของแม่อึ่ง ทำให้แม่อึ่งมีความผูกพันกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นลำน้ำสงคราม ป่าบุ่งป่าทามที่เป็นแหล่งอาหารของชุมชน เช่น กุ้ง หอย ปู ปลาที่มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ในน้ำสงคราม หน่อไม้ เห็ด สมุนไพร ผักต่างๆที่ชาวบ้านในชุมชนสามารถใช้เป็นอาหารได้อีกด้วย และเมื่อสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (inuc) เข้ามาทำงานในพื้นที่ แม่อึ่งเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ในฐานะนักวิจัยกลุ่มพันธุ์พืชในงานวิจัยไทบ้าน นอกจากนี้ยังสนับสนุนสามีให้เป็นนักวิจัยพันธุ์ปลาซึ่งแม่อึ่งเห็นว่าสามีมีความถนัดในด้านนี้สูง หลายต่อหลายครั้งที่ครอบครัวของแม่อึ่งถูกเพื่อนบ้านตั้งคำถามอยู่เสมอ "ทำงานร่วมกับ สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUNC) งวดนี้ได้ค่าตอบแทนเท่าไหร่" แม่อึ่งกับสามีก็ต้องตอบคำถามนี้บ่อยๆว่า "ไม่ได้หรอก" และคำพูดที่มักได้ยินบ่อยๆก็คือ "เป็นบ้าหรือเปล่าทำงานไม่ได้เงินไปทำทำไม" แม่อึ่งก็พยายามอธิบายและชักชวนทำความเข้าใจกับเพื่อนๆในชุมชนเสมอ จนในที่สุดความตั้งใจจริงของแม่อึ่งก็ได้รับการยอมรับจากคนในสังคม ในการทำงานแม่อึ่งและทีมนักวิจัยกลุ่มพันธุ์พืช ต่างทำงานวิจัยด้วยความรักและเต็มใจ โดยที่แม่อึ่งให้เหตุผลเกี่ยวกับการทำงานวิจัยครั้งนี้ว่า "เป็นการศึกษา ค้นคว้า เก็บความหลากหลายของพันธุ์พืชในป่าบุ่งป่าทามเป็นการเก็บรวบรวมภูมิความรู้ต่างๆ ที่มี่ไว้เพื่อไว้ให้ลูกๆลานๆได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำสงครามที่มีความสัมพันธ์และพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ชุมชนเองจะได้ใช้เป็นแนวทางการวางแผนการจัดการอนุรักษ์ความหลากหลายของพันธุ์พืชที่มีอยู่ในป่าบุ่งป่าทามอันเป็นมรดกบรรพบุรุษเหลือไว้ให้ ใช้ประโยชน์ได้ยั่งยืน"
เป้าหมายชีวิตที่แม่หวังไว้
อนาคตข้างหน้าแม่อึ่งได้แต่หวังว่าลูกชายจะหายเป็นคนปรกติ แต่ถึงแม้ว่าลูกไม่หายแม่อึ่งก็จะดูแลลูกชายให้ดีที่สุดให้สมกับความรักความห่วงใยของผู้เป็นแม่
เรื่องงานอนุรักษ์
ในด้านการทำงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในอนาคตของแม่อึ่ง แม่อึ่งก็บอกว่าจะตั้งใจแน่วแน่ทำงานวิจัยไทบ้านให้สำเร็จ ไม่ว่าจะยากลำบากแค่ไหน ไม่ว่าจะใช้เวลานานเท่าไรก็ตามแม่อึ่งก็จะทำให้สำเร็จ เพื่อจะทำหน้าที่ของความเป็นนักวิจัย ทำหน้าที่ตัวแทนของชุมชนในการที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้คงอยู่กับลูกหลานตลอดไป และถึงแม้ว่าในวันหนึ่งไม่มีโครงการของ สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์(IUNC)ไม่มีงานวิจัยไทบ้านแล้วแม่อึ่งก็ยังจะดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในป่าบุ่งป่าทามไว้ตลอดไป
นางสมพร ปานโต
ประวัติผลงาน
ทำงานด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปี 2522 ถึงปัจจุบัน ดังต่อไปนี้ ริเริ่มโครงการเด็กรักป่าของกลุ่มโรงเรียนห้วยสะพาน (เดิม) อบต. หนองโรง จัดทำโครงการเสนอของบประมาณให้กับป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคีและเครือข่ายป่าชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี อื่น ๆ
ประวัติด้านความเป็นแม่ (แม่ของลูกและแม่พิมพ์ของชาติ)
มีบุตร 2 คน คนโตชื่อ นายสมชาติ ปานโตอายุ 21ปีเรียนจบจากโรงเรียนผู้ช่วยทันตแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำงานที่โรงพยาบาลทันฑสถานเรือนจำกลาง คลองเปรม กรุงเทพฯ และกำลังศึกษาต่อด้วยตนเอง คนเล็กชื่อ นายวรรณกาญจน์ ปานโต อายุ 18 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนพนมทวนชนูปถัมภ์ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี
รับราชการครูเมื่ออายุเพียง 18 ปี 3 เดือน เป็นคนขยันถึงจะเรียนไม่เก่งแต่มีความมานะพยายามตั้งใจเรียนมาก เรียนได้เกรดเฉลี่ย 3 กว่า และสอบชิงทุนการศึกษาขององค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรีได้ทำงานโดยไม่ย่อท้อต่อความลำบากถึงแม้จะต้องเดินไปทำงานเป็นระยะทาง 66 กิโลเมตรและต้องขี่รถจักรยานยนต์ข้ามฟากแม่น้ำเนื่องจากช่วงแต่งงานมีบุตรก็ต้องการให้ความรักความอบอุ่นและเลี้ยงดูสั่งสอนลูกเองจึงให้ญาติคือพ่อแม่และน้องๆ ของสามีช่วยดูแลให้ในช่วงกลางวันเนื่องจากต้องทำงานเดินทางทำงานไกลได้ประมาณ 8 ปี ได้เก็บออมเงินปลูกสร้างบ้านในพื้นที่ของแม่ตนเองที่อยู่ในปัจจุบันซึ่งอยู่ใกล้ที่ทำงานคือไป-กลับวันละ 22 กิโลเมตร ปี 2540 เก็บออมเงินซื้อรถยนต์เพื่อใช้เดินทางไปทำงานรวมถึงเครื่องอำนวยความสะดวกต่างโดยที่ไม่ก่อภาระหนี้สินให้กับครอบครัว ดูแลสั่งสอนลูกให้เป็นคนดีของสังคม ส่งเสริมและสนับสนุนให้ศึกษาอย่างเต็มความสามารถโดยให้รู้จักคุณค่าของเงินและใช้สิ่งแวดล้อมต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดมีความรับผิดชอบ ต่อครอบครัวและหน้าที่การงานสูง ทำงานด้วยความตั้งใจ มุ่งมั่น ปฏิบัติงานอย่างดียิ่ง สร้างชื่อเสียงให้แก่ตนเอง ครอบครัว วงศ์ตระกูล ชุมชน สังคม
ประวัติในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
- ให้ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ปลูกฝังให้ลูกและลูกศิษย์รู้จักคุณค่าสิ่งแวดล้อมตลอดจนการใช้อย่างเหมาะสม เป็นแบบอย่างในเรื่องการประหยัด ได้แก่ ประหยัดน้ำ ประหยัดพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประหยัดเวลา เช่น การทำแยกขยะโดยจัดทำถังแยกขยะซึ่งนอกจากไม่เสียเวลามากแล้วยังมีประโยชน์โดยขายขยะได้เงินเพิ่มอีกด้วย ขณะนี้กำลังดำเนินการเกี่ยวกับขยะในชุมชนจะจัดตั้งธนาคารขยะเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของชุมชนด้วย โดยเอาครอบครัวของตนเองเป็นตัวอย่าง
- เลี้ยงดูลูกและสั่งสอน(ลูกศิษย์) ให้รักและหวงแหนธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรป่าไม้ให้ความรู้เรื่องพันธุ์ไม้/พืชสมุนไพร ช่วยกันสำรวจข้อมูลพรรณไม้ที่มีอยู่ในป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคีบนพื้นที่ 1,008 ไร่ จะพาไปเรียนรู้ห้องเรียนทางธรรมชาติแห่งนี้ซึ่งเปรียบเสมือนซุปเปอร์มาร์เก็ตชุมชนส่งเสริมและสนับสนุนให้ร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยมีทั้งบทบาทของผู้นำและผู้ตาม มีส่วนร่วมในชุมชนและสังคม รู้จักใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่มาทำให้เกิดเป็นรายได้ เช่น นำใบตะโกมาประดิษฐ์เป็นดอกไม้หลากหลายแบบ, เก็บตอไม้แห้งๆ ในป่าฯ มาประดิษฐ์ตกแต่งให้สวยงามเพิ่มมูลค่าผลผลิตในชุมชน เป็นต้น
- ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์โดยถ่ายทอดและให้ความรู้เกี่ยวกับหลักสูตรป่าชุมชนแก่ผู้ที่สนใจมาศึกษาดูงานที่ป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคีและไปบรรยายนอกสถานที่ในช่วงวันหยุดเป็นประจำโดยค่าตอบแทนที่ได้รับจะมอบให้แก่กองทุนป่าชุมชนฯ ทุกครั้ง เป็นวิทยากรพิเศษของป่าไม้จังหวัดกาญจนบุรี และป่าไม้เขตบ้านโป่ง จ.ราชบุรี เป็นแกนนำหลักของชุมชนทุกเรื่องได้รับแต่งตั้งและคัดเลือกจากองค์กรชุมชนได้แก่ เป็นคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี, เป็นคณะกรรมการ(เหรัญญิก)ของเครือข่ายป่าชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี, เป็นคณะกรรมการกองทุนต่างๆ ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด, เป็นคณะทำงานประสานงานระหว่างภาครัฐและและประชาชน (ศอช.ต.)
- เป็นผู้จัดทำแบบสำรวจรายจ่ายในครัวเรือนโดยเริ่มที่ตนเองก่อนเมื่อรู้จักตนเองแล้วจึงขยายไปยังเพื่อนบ้าน ได้จัดทำแบบสำรวจข้อมูลครัวเรือน รายรับ-จ่าย ข้อมูลทุกอย่างที่ชุมชนต้องการรู้นำมาร่วมกันวิเคราะห์สรุปหาข้อมูลที่ชัดเจนนำไปสู่การจัดทำแผนชุมชนพึ่งตนเอง เป็นแบบอย่างให้กับหมู่บ้าน/ชุมชนอื่น มีชุมชนต่าง ๆ มาศึกษาเรียนรู้อยู่เป็นประจำ จัดตั้งร้านค้าชุมชนมีผลกำไรตอบแทนให้สมาชิกเมื่อสิ้นปี
- ส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรในชุมชนได้พัฒนาศักยภาพโดยจัดพาไปศึกษาดูงาน/อบรมเชิงปฏิบัตินำมาถ่ายทอดและให้ความรู้แก่ชุมชนซึ่งเป็นแผนงานของชุมชนที่ร่วมกันวางไว้เป็นการจดรายจ่าย-เพิ่มรายได้
- ทำให้ชุมชนเห็นประโยชน์จากการสำรวจข้อมูลเห็นตนเองและเริ่มแก้ไขปัญหากันเองโดยไม่รอให้ใครช่วยเหลือเป็นแกนนำในการปลูกผักไร้สารของหมู่บ้านโดยทำร่วมกัน นอกจากจะได้รับประทานผักที่ปลอดสารพิษแล้วยังเป็นสถานที่พบปะสนทนากันในช่วงเวลาเช้า-เย็นอีกด้วย (เพราะต้องมารดน้ำผัก แทนการนั่งดื่มสุราเหมือนก่อน) ร่วมกิจกรรมปลูกป่ากับชุมชน, กำจัดขยะและสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ
- แต่งเพลงและร้องเพลงประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับ การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ให้กับป่าไม้จังหวัดกาญจนบุรี นอกจากนี้ยังจัดทำเอกสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ป่าชุมชนฯ ทำหนังสือคู่มือป่าชุมชนฯ เพื่อให้ครูและนักเรียนได้นำไปใช้ตลอดจนผู้สนใจทั่ว ๆ ไป
นางบุญนำ ยามาโมโต้
ผลงานที่เคยได้รับ
- ได้รับการยกย่องให้เป็นครอบครัวตัวอย่างจากรายการน้ำหนึ่งใจเดียว ททบ. 5
- ได้รับโล่ห์เนื่องในโอกาสที่ปฏิบัติหน้าที่ครูด้วยความวิริยะ อุตสาหะ จากกลุ่มโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษาที่ 2 จ.กาญจนบุรี
งานในปัจจุบัน
- เป็นประธานมูลนิธิสานฝัน สันติภาพ
- เป็นผู้ประสานงานโครงการบ้านสานฝัน
- เป็นประธานเครือข่ายฮักสะเมิง
- เป็นประธานกองทุนหมู่บ้าน บ้านงาแมง หมู่ 3 ต.แม่สาบ อ.สะเพิง จ.เชียงใหม่
- เป็นประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้าน ต.แม่สาบ อ.สะเพิง จ.เชียงใหม่
- เป็นคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนวัดงิ้วเฒ่า ต.แม่สาบอ.สะเพิงจ.เชียงใหม่
แม่ชื่อ "นางบุญนำ ยามาโมโต้" นามสกุลอาจจะดูแปลกไปจากนามสกุลของคนไทยทั่วไป เนื่องจากแม่มีสามีเป็นคนญี่ปุ่น ชื่อ "นายโตชิยูกิ ยามาโมโต้" ถึงแม้เขาจะเป็นคนญี่ปุ่น แต่เขาก็ยินดีจะเป็นส่วนหนึ่งของประชากรไทย เขามีทะเบียนบ้านอยู่ในเมืองไทย ทำงานช่วยเหลือเด็กไทยที่ขาดโอกาสซึ่งแม่ก็รู้สึกภูมิใจในตัวเขามาก แม่มีลูก 3 คน คือ ลูกสาวคนโต ชื่อ ด.ญ. สันติภาพ ยามาโมโต้ (ซากุระ) ลูกชายคนที่ 2 ชื่อ ด.ช.ไทจิ ยามาโมโต้ (ฟูจิ) และลูกชายคนที่ 3 ชื่อ ด.ช. เคนจิ ยามาโมโต้ (หิมะ) ครอบครัวเราทั้ง 5 ชีวิต พักพิงอยู่ในบ้านหลังหนึ่งของโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก มูลนิธิเด็ก ที่ จ.กาญจนบุรี เพราะแม่เป็นครูสอนอยู่ในโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก และเขาของแม่ก็เป็นอาสาสมัครญี่ปุ่น ที่ทำงานให้กับโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก มูลนิธิเด็ก โดยมีหน้าที่รณรงค์หาทุนให้กับโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก มูลนิธิเด็ก ทุนในที่นี้เป็นทั้งเงินทุน เสื้อผ้า ของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวันรวมไปถึงทุนที่เป็นประสบการณ์ชีวิตที่ดีของเด็ก ๆ หลายคนในโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ในบ้านพักที่ครอบครัวเราพักพิงกันนั้น ยังมีเด็กๆ ที่ขาดโอกาสทางสังคมอีกหลายชีวิตอยู่กับเราด้วย เป็นครอบครัวเดียวกัน เด็กๆ เรียกแม่ว่า "แม่จุ๊ง" เราดูแลซึ่งกันและกันในบ้านเป็นอย่างดี ยามว่างเราก็จะนั่งคุยเล่นกัน มีแต่เสียงหัวเราะของเด็กๆ ดังกึกก้องไปทั่วบ้าน แม่เองก็นั่งมองดูอยู่ด้วยความรู้สึกอิ่มเอมใจที่ได้เห็นเด็กอีกหลายๆ ชีวิตได้มีโอกาสดี ๆ เพื่อเป็นพื้นฐานของการเป็นคนดี รวมทั้งลูกๆ 3 คนของแม่ที่ต่างก็โตขึ้น และพร้อมที่จะเป็นพลังที่เข้มแข็งของชาติต่อไป การเรียนการสอนของโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ต่างจากการเรียนการสอนของโรงเรียนต่าง ๆ ในระบบทั่วไป เด็กๆ จึงมีความสุขและสนุกสนานกับการเรียนทั้งทางด้านวิชาการและการดำเนินชีวิต เมื่อมีเวลาว่างแม่และลูกๆ ทั้งหลายก็จะเข้าไปในเกษตร(เกษตร คือ พื้นที่ภายในโรงเรียนซึ่งพวกเราใช้เป็นพื้นที่ในการปลูกผัก ปลูกผลไม้ สมุนไพรต่าง ๆ ) ในวันหยุดแม่ชวนลูกๆ และเด็กๆ ช่วยกันทำขนมบ้าง ปลูกต้นไม้บ้าง โดยต้นไม้ที่ปลูกจะเป็นต้นไม้ที่ลูกๆ และเด็กๆ ชอบ เพื่อที่เขาจะได้หมั่นดูแลเอาใจใส่ เฝ้าดูความเจริญเติบโตของต้นไม้นั้นด้วยความรักและเกิดเป็นความหวงแหน ไม่ยอมให้ใครมาทำลายลงได้ ต้นไม้เหล่านั้นก็เหมือนกับลูกๆ ของแม่และเด็กๆ ทั้งหลาย ที่นับวันก็จะเติบโตขึ้นเป็นร่มเงาที่แข็งแรง ซึ่งเป็นผลมาจากการดูแลเอาใจใส่จากใจจริงของผู้ปลูก และแล้วความอิ่มเอมใจของแม่ก็เหมือนแห้งไป เมื่อตอนบ่ายวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ 2538 มันเป็นความรู้สึกที่ยากจะระบายออกมาจริง ๆ เมื่อแม่รู้ว่า แม่ได้สูญเสียลูกสาวคนโตและลูกชายคนที่ 2 ไปแล้วจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ตัวแม่เองอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย แม่แขนและขาซ้ายหักต้องอยู่โรงพยาบาลตลอดไม่มีโอกาสแม้จะได้ดูหน้าลูกทั้งสองคนเป็นครั้งสุดท้าย แม่เองก็ไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกแล้ว แต่เมื่อได้ยินเสียงร้องไห้ของลูกชายคนที่ 3 ซึ่งปลอดภัยดีก็สงสารเขาเพราะยังเล็กมาก ร้องหาแม่เพื่อขอดื่มนม แต่แม่ก็ไม่สามารถให้นมลูกดื่มได้ นึกน้อยใจกับโชคชะตาของตัวแม่เอง แม่ต้องประคับประคองชีวิตตนเองไว้เพื่อดูแลลูกคนที่ 3 ต่อไป ต้องใช้พระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจเพื่อให้คลายความโศกเศร้าจากการสูญเสียลงไปบ้าง เฝ้าบอกกับตัวเองอยู่เสมอว่า "ลูกของแม่ได้หลับพักผ่อนสบายและสุขสงบแล้ว"
แม่ต้องฝึกเดินเหมือนเด็ก ทรมานทั้งกายและใจไม่มีโอกาสได้อุ้มได้กอดลูก ไม่มีโอกาสได้ให้นมได้เล่นกับลูกทำได้แค่เพียงเฝ้ามองดูเขาเล่นอยู่ใกล้ ๆ ร้องเรียกชื่อพี่ทั้งสองที่จากไปมาเล่นด้วย น้ำตาแม่ไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว บอกกับเขาว่า "พี่ซากุระกับพี่ฟูจิไปสวรรค์แล้วคงไม่ได้มาเล่นกับน้องหิมะอีกแล้ว" และความอดทนของแม่ก็ประสบความสำเร็จ แม่กลับมาเดินได้อีกครั้ง แขนซ้ายทำงานได้ปกติ แม่กลับไปสอนหนังสือให้เด็กๆ เหมือนเคย เวลาว่างก็ช่วยกันดูแลต้นไม้กับลูกๆ และเด็กๆ ในบ้าน ในปี 2542 แม่มีลูกชายอีกคนชื่อ ด.ช.มาสะยูกิ ยามาโมโต้ (โคจิ) เพราะทนคำรบเร้าของหิมะไม่ได้ว่าอยากมีน้อง โคจิเลี้ยงง่ายเหมือนกับพี่ฟูจิ จนแม่อดคิดเข้าข้างตนเองไม่ได้ว่า ฟูจิกลับมาอยู่กับแม่อีกครั้ง
และแล้วในปี 2543 พวกเราก็ย้ายบ้านใหม่กัน เนื่องจากแม่ทำโครงการเสนอคุณครูใหญ่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก หรือครูแอ๊ว ที่ใครๆ ในแวดวงการศึกษารู้จักกัน ชื่อโครงการสานฝัน หมู่บ้านเด็กมีจุดประสงค์ที่จะให้ความช่วยเหลือแก่เด็กชาวไทยภูเขาที่ขาดโอกาสทางการศึกษาในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งเป็นความตั้งใจของแม่ และแม่แอ๊วก็อนุมัติ พวกเรา 14 ชีวิตจากโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก กาญจนบุรี มุ่งตรงสู่บ้านงาแมง ต.แม่สาบ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นบ้านหลังใหม่ของพวกเรา และเป็นบ้านเกิดของแม่เองเราอยู่บ้านหลังเดียวกันทั้งหมด พี่ๆ ดูแลน้องๆ ทุกคนถือเป็นครอบครัวเดียวกัน มี พ่อ แม่และลูกๆ จนถึงปัจจุบันครอบครัวเรามีสมาชิกกันทั้งหมด 26 คน แม่ดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิเอง ชื่อมูลนิธิสานฝัน สันติภาพ ซึ่งได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2546 คนส่วนใหญ่เรียกบ้านที่พวกเราอยู่กันว่า "บ้านสานฝัน" ซึ่งพวกเราก็รักและชื่นชมกับบ้านหลังนี้มาก ในตอนเช้าส่วนหนึ่งช่วยกันทำอาหารในครัว ส่วนที่เหลือก็ช่วยกันทำความสะอาดบริเวณบ้าน โดยจะมีผู้ใหญ่และพี่โตๆ คอยดูแลช่วยเหลือน้องๆ เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย เด็กๆ ก็จะเตรียมตัวไปโรงเรียน
หลังเลิกเรียนกลับถึงบ้านทุกคนก็จะช่วยกันทำงานตามที่ได้รับมอบหมายตามความสามารถของแต่ละคนจะทำได้ ช่วยกันตำข้าว นำแกลบที่ได้ไปเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เกี่ยวหญ้าให้วัว เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ ดูแลแปลงผัก ซึ่งเรายึดหลักการทำการเกษตรปลอดสารพิษ เกษตรแบบพอเพียง ในวันหยุดพวกเราก็พากันไปปลูกต้นไม้ ซึ่งส่วนใหญ่เด็กๆ จะเลือกปลูกต้นผลไม้ โดยตั้งความหวังตามประสาเด็กๆ ว่าในวันข้างหน้าเขาจะต้องได้รับประทานผลของมัน แม่มองเหตุการณ์เหล่านั้นด้วยความรู้สึกเป็นสุขที่ได้มีโอกาสสร้างคนให้เป็นคนดี แม่จะสอนให้เด็กๆ ได้รู้จักกับสรรพคุณของสมุนไพรต่างๆ ทั้งที่มีในบริเวณบ้านและที่เราจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อที่จะได้หามาปลูกเพิ่มเติม ซึ่งแม่เองก็รู้สึกภูมิใจมากเมื่อเห็นว่าสิ่งที่แม่ปลูกฝังให้แก่พวกเขาไม่สูญเปล่าเลย คือ เมื่อมีเด็กคนหนึ่งมีอาการไอ เพื่อนก็จะไปหาเก็บมะแว้ง ซึ่งมีสรรพคุณบรรเทาอาการไอ มาให้เพื่อนทาน (แม่ลืมบอกไปว่าแม่มีผู้ช่วย 3 คนเป็นหญิงส่วน คนที่ 1 มาช่วยแม่ด้านบัญชีและงานวิชาการต่างๆ และสอนหนังสือเด็กระดับโต คนที่ 2 ช่วยงานแม่ด้านการเกษตรและสอนหนังสือเด็กเล็ก และคนที่ 3 ช่วยแม่ทางด้านงานอาชีพเสริมและดูแลความเรียบร้อยทั่วๆ ไป โดยคนที่ 2 และ 3 เป็นเด็กที่เติบโตมาจากการดูแลช่วยเหลือของแม่เอง ส่วนคนที่ 1 แม่หอบหิ้วเขามาจากกาญจนบุรี ซึ่งแม่ก็คิดว่าเขาเป็นลูกคนหนึ่งของแม่เหมือนกัน) บ้านสานฝันของเราอยู่ติดกับภูเขา เป็นสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ที่สุด เด็กๆชอบให้แม่พาขึ้นเขาหรือขึ้นดอยไปปลูกต้นไม้ สมุนไพรต่างๆ และอีกที่หนึ่งที่เด็กๆ ชอบไปก็คือทุ่งนา แม่จะพาเด็กๆไปหว่านกล้า ดำนา ซึ่งแม่เฝ้าดูแลพฤติกรรมที่แสดงออกมาว่ามีความสุข สนุก แล้วแม่ก็รู้สึกสุขใจด้วย เมื่อต้นข้าวที่เราปลูกเขียวชะอุ่มดีแล้ว เด็กๆ ก็จะร้องขอให้แม่พาไปนาในวันหยุด พวกเราชอบทุ่งนาสีเขียว ชอบจับปูนา วิ่งเล่นกันตามประสาเด็กชนบท ถึงเวลาเกี่ยวข้าวก็ได้เกี่ยวกันอย่างเต็มที่ เด็กโตเกี่ยวข้าวเด็กเล็กก็อาสาเสิร์ฟน้ำให้ หลังฤดูทำนาเราก็ปลูกกระเทียม หอมแดง และผักต่างๆ ไว้รับประทาน เพื่อประหยัดรายจ่ายของบ้าน อย่างไหนมีมากก็นำออกจำหน่ายเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว แม่บอกกับลูกๆ ทุกคนเสมอว่า " ให้เติบโตอย่างต้นไม้ ให้ผล ให้ร่มเงา และให้ชีวิต เพราะ ต้นไม้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม ทุกชีวิตรอดอยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมที่ดี"
นางบุญรัตน์ ปุญสิริ
นางบุญรัตน์จัดตั้งสถานผดุงครรภ์ส่วนตัวโดยประกอบวิชาชีพด้วยความเมตตาและมีคุณธรรมอันสูงส่ง การทำคลอดก็มิได้เรียกร้องค่าตอบแทนอย่างไร้เมตตา หากแต่เป็นไปตามฐานะของผู้ป่วยซึ่งยากจนเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น การทำคลอดของสถานบุญรัตน์ผดุงครรภ์ที่เป็นการทำให้เปล่าโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินนั้นมีมากรายแต่ความสำนึกในบุญคุณที่ผู้ป่วยเหล่านั้นมีอยู่ในใจก็มีเป็นอันมาก จึงเป็นเหตุให้นางบุญรัตน์ ปุญสิริ ได้รับความเคารพนับถือเป็นอย่างสูงจากสังคมชนบท การเผยแพร่ความรู้ในด้านสุขวิทยา อนามัย การครองตน การวางแผนครอบครัว ฯลฯ ที่นางบุญรัตน์ ได้เผยแพร่ให้ความรู้แก่บุคคลเหล่านั้น จึงได้รับความเชื่อถือ อันเป็นส่วนช่วยให้สังคมนั้น ๆ ได้พัฒนาขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ นางบุญรัตน์ ปุญสิริ ได้รับเชิญเป็นวิทยากรในการฝึกอบรมประชุมสัมมนาต่าง ๆ ทั้งในจังหวัดกาญจนบุรีและสถานที่อื่น ๆ เช่น
- บรรยายแก่นักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- วิทยากรอบรมกลุ่มแม่บ้านเกษตร
- วิทยากรอบรมเยาวชนต่อต้านยาเสพติด
- กรรมการสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ พ.ศ. 2526-2528
- กรรมการสภาสตรีแห่งชาติ ฯ ประจำภาคกลาง พ.ศ. 2530-2532
- กรรมการประจำวิทยาลัยครู พ.ศ. 2533-2535
- ฯลฯ
- รองประธานชมรมประวัติศาสตร์เมืองกาญจนบุรี
- อนุกรรมการส่งเสริมและประสานงานการพัฒนาเด็กและเยาวชน จังหวัดกาญจนบุรี
- กรรมการจัดหาทุนสร้างห้องสมุดประชาชน "เฉลิมราชกุมารี" อำเภอทองผาภูมิ
- เลขานุการเหล่ากาชาดจังหวัดกาญจนบุรี
- ที่ปรึกษาวิทยาลัยเกษตรกรรมจังหวัดกาญจนบุรี
- ฯลฯ
- สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยยกย่องให้เป็นแม่ดีเด่นแห่งชาติ พ.ศ. 2524
- ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เบญจมาภรณ์ช้างเผือก พ.ศ. 2525
- สมาคมสตรีชาวนาไทยได้มอบโล่เกียรติคุณให้ในฐานะที่ได้อุทิศกำลังสติปัญญาและความสามารถ ด้วยความวิริยะอุตสาหะ และสร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคม ฯ เป็นอย่างมาก พ.ศ. 2532
- ได้รับพระราชทานเหรียญกาชาดสรรเสริญ พ.ศ. 2533
- ฯลฯ
ในส่วนของงานด้านสิ่งแวดล้อม
นางบุญรัตน์ ตระหนักว่าปัญหาของสิ่งแวดล้อมนั้นเกิดมาจาก "คน" มากที่สุด การแก้ไขปัญหาจึงต้องมุ่งไปที่ "พัฒนาคน" ให้การศึกษาแก่คนเป็นสำคัญลำดับต้น ในการได้รับเชิญเป็นวิทยากรที่ต่าง ๆ นางบุญรัตน์ได้สอดแทรกเรื่องการรักษาน้ำ การรักษาป่า การปลูกต้นไม้ การไม่ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำ การให้ความรู้ การจูงใจให้มีความตระหนักรู้โดยการนำให้ดูไปพร้อม ๆ กันนั้นได้ผลเป็นที่น่าพอใจทั้งนี้เพราะนางบุญรัตน์ ปุญสิริ มีกลวิธีในการเข้าถึงประชาชน การปลุกจิตสำนึกให้คนทั่วไปรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อมให้ปลอดมลพิษนั้น ถ้าหากเขาได้เห็นตัวอย่างที่ดีและมีความศรัทธาเชื่อถือต่อผู้ดำเนินการแล้วก็น่าจะได้ผลมากกว่ามีโครงการซึ่งจัดทำโดยหน่วยราชการ ดังนั้น การพัฒนาคนให้มีจิตสำนึกตระหนักรู้ถึงคุณค่าของทรัพยากรและความใสสะอาดของสิ่งแวดล้อมต้องทำหลาย ๆ วิธีไปพร้อมกัน ดังที่ นางบุญรัตน์ ปุญสิริ ได้กระทำมาแล้วเป็นเวลาเนิ่นนานหลายสิบปี
คุณธรรม จริยธรรม และความรู้ต่าง ๆ นั้นมิได้ปลูกฝังให้แก่รุ่นลูกเท่านั้น ยังขยายผลไปถึงรุ่นหลานอีกด้วย นอกจากนี้แล้วทุกชุมชน ทุกกลุ่มอาชีพที่นางบุญรัตน์ ได้มีส่วนร่วมพัฒนา ก็ได้สอดแทรกความรู้คู่คุณภาพต่าง ๆ เหล่านี้ไว้ทุกโอกาส นางบุญรัตน์ ปุญสิริ จึงนับว่าเป็น "แม่" ที่มีคุณค่าต่อลูกและต่อสังคม อย่างหาได้ยากยิ่ง จากการที่เป็นบุคคลที่มีคุณธรรมสูง เสียสละ อุทิศตนให้งานพัฒนาสังคมและการที่ได้อุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน นางบุญรัตน์ ปุญสิริ จึงได้รับพระราชทานปริญญาบัตรกิตติมศักดิ์ ดังนี้
- พ.ศ. 2536 ปริญญาศิลปศาสตบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สายสังคมศาสตร์ โปรแกรมวิชาการพัฒนาชุมชน จากวิทยาลัยครูกาญจนบุรี
- พ.ศ. 2545 ปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา จากสถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
ปัจจุบัน (พ.ศ. 2547) ถึงแม้อายุของนางบุญรัตน์ ปุญสิริ จะได้เวียนมาถึง 83 ปีแล้ว พลกำลังได้ลดน้อยถอยลงไป แต่น้ำใจ ความเสียสละที่จะทำงานเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมยังมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม และไม่หยุดยั้งที่จะเสนอแนะ สอน ทำให้ดู เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ชนรุ่นหลังอยู่อย่างสม่ำเสมอ