• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

"Launch of the Carbon Neutrality Teacher's Manual": Classrooms Paving the Way for Global Change

18 กรกฎาคม 2568 คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดงานแนะนำการใช้ "คู่มือครูความเป็นกลางทางคาร์บอน" อย่างเป็นทางการ โดยมีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งคุณครู ผู้อำนวยการโรงเรียน และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนความรู้ด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนสู่ระดับห้องเรียน โรงเรียน และหน่วยงานทั่วประเทศ

ในพิธีเปิด รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ได้กล่าวเน้นย้ำว่า คู่มือฉบับนี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้ครูสามารถเปลี่ยนห้องเรียนให้เป็นพื้นที่แห่งคนนักเรียนซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะเรียนรู้ ลงมือปฏิบัติ และสร้างแรงบันดาลใจในการเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงโลก ผ่านการกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นการดำเนินรอยตามการตั้งเป้าหมายในระดับชาติเพื่อลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยองค์ความรู้จากคู่มือดังกล่าวจะนำไปสู่การพัฒนา "School Living Lab" ซึ่งเป็นการสร้างพื้นที่เรียนรู้และทดลองแนวทางการลดคาร์บอนในระดับโรงเรียน และการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มนักเรียนต่อไป

คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มุ่งมั่นในการส่งเสริมการศึกษาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผ่านโครงการ Carbon Neutrality Campus (CNC) ภายใต้ทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับความร่วมมือจากองค์กรระดับนานาชาติ ได้แก่ UNESCAP และ Shanghai Jiao Tong University โดยได้ขยายผลลงสู่ระดับโรงเรียน ด้วยความเชื่อมั่นว่าเยาวชนคือพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมในระยะยาว และมีเป้าหมายหลักเพื่อรวบรวมและเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับความเป็นกลางทางคาร์บอน การพัฒนาความรู้และทักษะที่ส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาไทยบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

"คู่มือครูความเป็นกลางทางคาร์บอน" ประกอบด้วยเนื้อหาครอบคลุม 8 บทเรียนสำคัญ ได้แก่ ความยั่งยืนและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs), การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, ก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบ, แนวคิดวัฏจักรชีวิต, คาร์บอนฟุตพริ้นท์, การดูดกลับก๊าซเรือนกระจก, การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในคู่มือมีรายละเอียดที่ช่วยให้ครูสามารถนำไปใช้ได้จริง เช่น จุดประสงค์ของบทเรียน สาระสำคัญ แนวทางการจัดการเรียนรู้ ตัวอย่างกิจกรรม แบบทดสอบ และแนวทางการวัดและประเมินผล

ในช่วงท้ายของงาน คณะผู้จัดได้เชิญชวนโรงเรียนเครือข่ายทุกแห่งร่วมกันสะท้อนความคิดเห็นและแบ่งปันภาพกิจกรรมที่ใช้คู่มือฉบับนี้ พร้อมกันนี้ ได้มีการประกาศแนวคิด "School Living Lab" ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ในการสร้างพื้นที่เรียนรู้และทดลองแนวทางการลดคาร์บอนในระดับโรงเรียน

รับชมงาน "เปิดตัวคู่มือครูความเป็นกลางทางคาร์บอน" แบบย้อนหลังได้ที่
https://www.facebook.com/share/v/1Fadj9UvtY/

ลิงก์ข่าวในสื่ออื่นๆ
https://siamrath.co.th/n/637210
https://www.karnmuangchumchon.com/2025/41600
https://tinyurl.com/4kw3knjs
https://www.opt-news.com/news/51641
https://www.5forcenews.com/?p=515707
https://www.phimthai.com/2025/07/blog-post_98.html
https://www.facebook.com/share/p/19brfpvA8A/


© 2025 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.