• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ปี 2567

นำเสนอผลการดำเนินงานวิจัยและเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ภายใต้โครงการสนับสนุนโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จัดกิจกรรม “นำเสนอผลการดำเนินงานวิจัยและเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ภายใต้โครงการสนับสนุนโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์” เพื่อถ่ายทอด และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่หน่วยงานบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม หน่วยงานปฏิบัติการวิจัย เมื่อวันพุธที่ 27 พฤศจิกายน 2567 ณ หอประชุมสิริรำไพพรรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี โดยมี พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี และประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธาน พร้อมด้วย นางสาวเสาวนีย์ มุ่งสุจริตการ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ผศ.ดร.ไวกูณฑ์ ทองอร่ามอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นายธานินทร์ ผะเอม อดีตรองเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายสมบูรณ์ วงค์กาด อดีตรองเลขาธิการสำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายสุพจน์ อาวาส อดีตกรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงค์ ดร.ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมมาตรฐานลาดตะเวนเชิงคุณภาพ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช และนางสาวช่อแพร ทินพรรณ์ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมและพัฒนาตามแนวพระราชดำริ กรมป่าไม้
โดยคณะนักวิจัย นายสัตวแพทย์ ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการ การศึกษาช้างป่าแบบบูรณาการเพื่อลดผลกระทบความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่า ภาคตะวันออกอย่างยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้นำเสนอผลการวิจัยที่ดำเนินการแล้วเสร็จให้องคมนตรี ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ร่วมงานกว่า 200 คนได้ทราบถึงผลการศึกษาและการพัฒนาระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยจากช้างป่า ด้วยข้อมูลตำแหน่งและเส้นทางการเคลื่อนที่ของช้างป่าจำนวน 5 ตัวที่คณะผู้วิจัยได้ทำการติดปลอกคอ GPS ที่รับส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม และได้ร่วมเวทีเสวนาเผยแพร่ผลงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาช้างป่ากับเครือข่ายพันธมิตร
จากนั้น รศ.ดร.รองลาภ สุขมาสรวง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ผศ.ดร.วิชาญ ทุมทอง มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี หัวหน้าโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ได้รายงานความก้าวหน้าให้แก่คณะผู้ทรงคุณวุฒิทราบ โดยคณะผู้บริหารและผู้ทรงคุณวุฒิจาก วช. ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์คชานุรักษ์ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และ องค์การบริหารส่วนตำบลคลองตะเกรา จ. ฉะเชิงเทรา และ พื้นที่ทดลองการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ที่ อ. สอยดาว จ. จันทบุรี
ในงานนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ในฐานะหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมได้เริ่มขับเคลื่อนและประสานการดำเนินโครงการวิจัยและนวัตกรรม ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 เพื่อให้ได้องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สามารถเข้าไปช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในการแก้ปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า รวมทั้งการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ รอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก โดยได้สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม ให้กับ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อดำเนินโครงการในด้านนิเวศวิทยา ในเรื่องการศึกษาถิ่นที่อยู่อาศัย โครงสร้างประชากร ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายและออกนอกพื้นที่ของช้างป่า ให้ได้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งนำไปสู่แนวทางการบริหารจัดการการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและช้างป่า เกิดเทคโนโลยีตรวจจับและแจ้งเตือนช้างป่าออกนอกพื้นที่ เพื่อให้ชุดอาสาสมัครเตรียมความพร้อมและใช้วิธีการผลักดันช้างกลับสู่พื้นที่อย่างถูกวิธี และลดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่รอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการดำเนินงานต่างๆ ที่บรรลุผลสำเร็จในอนาคต ซึ่งจะทำให้งานวิจัยเกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่น ตลอดจนภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนได้อย่างแท้จริง
เครดิตภาพ: สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี


© 2025 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.