• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

บริการตรวจวัดและวิเคราะห์คุณภาพสิ่งแวดล้อม

ห้องปฏิบัติการสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานสากล

บริการตรวจวัดและวิเคราะห์ด้านดิน

ห้องปฏิบัติการสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานสากล คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถให้บริการตรวจวิเคราะห์หาปริมาณธาตุอาหารของพืชในดิน เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปตัสเซียม ค่าปริมาณสารอินทรีย์วัตถุ ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง และขนาดอนุภาพของดิน เป็นต้น ดังนั้น การนำดินมาวิเคราะห์ที่ให้ผลวิเคราะห์ออกมาได้ถูกต้อง จึงควรคำนึงถึงการเก็บตัวอย่างดิน และการเตรียมตัวอย่างดินก่อนนำมาวิเคราะห์ ดังนี้

การเก็บตัวอย่างดิน

การเก็บตัวอย่างดินที่นิยมทำกันมีอยู่ 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นการเก็บตัวอย่างดินเพื่อใช้ในการจำแนกดิน และประเภทที่ 2 เป็นการเก็บตัวอย่างดินเฉพาะหน้าดิน เพื่อใช้ตรวจวิเคราะห์สำหรับประเมินความอุดมสมบูรณ์ของดินหรือเพื่อนำมาใช้แนะนำการใช้ปุ๋ยสำหรับพืชที่ต้องการปลูก (สำนักวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน, 2547)

การเก็บตัวอย่างดิน

1) เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการเก็บตัวอย่างดิน

  1. อุปกรณ์ขุดดิน ได้แก่ เสียม จอบ พลั่ว ออร์เกอร์ (Auger) เป็นต้น
  2. ถังพลาสติก หรือแผ่นพลาสติกขนาด 1x1 เมตร
  3. กระดาษกาว หรือสติ๊กเกอร์ สำหรับเขียนชื่อตัวอย่าง
  4. ถุงพลาสติกร้อน ขนาด 10 x 15 นิ้ว และยางรัดของ

2) หลักการในการเก็บตัวอย่างดิน เพื่อให้ได้ข้อมูลจากการศึกษาและวิเคราะห์ที่ถูกต้อง ควรมีหลักการดังนี้

  1. ตัวอย่างดินจะต้องเป็นตัวแทนที่ดีของดินในบริเวณที่ศึกษา โดยใช้วิธีการเก็บดินที่ถูกต้องเหมาะสม
  2. อุปกรณ์และภาชนะต่าง ๆ ที่ใช้ในการเก็บและเตรียมตัวอย่างดินจะต้องสะอาด
  3. พื้นที่ในการเก็บตัวอย่างดินต้องไม่เกิน 50 ไร่ ซึ่งต้องเป็นดินลักษณะเหมือนกัน หากมีลักษณะแตกต่างกันต้องแยกเก็บ
  4. การเก็บตัวอย่างดินควรเก็บหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิต หรือก่อนการเตรียมดินในการปลูกพืชครั้งต่อไป แนะนำให้เก็บก่อนปลูก 2 เดือน
  5. เพื่อแนะนำการจัดการดินที่ถูกต้อง และเหมาะสม ควรบันทึกข้อมูลการใช้และการจัดการดินในช่วงเวลาที่ผ่านมาอย่างละเอียด

3) วิธีการเก็บตัวอย่างดิน

  1. การเก็บตัวอย่างดินในกรณีที่เป็นที่นาหรือ ที่ยังไม่มีการเพาะปลูกให้กระจายเก็บตัวอย่างดินแปลงละ 15 จุด
  2. ก่อนการเก็บตัวอย่างดินให้นำเศษหญ้า เศษใบไม้ที่คลุมดินออก แล้วทำการเก็บตัวอย่างดินดังนี้
    1. ใช้พลั่วขุดดินเป็นรูปลิ่มลึก 15 เซนติเมตร หลังจากนั้นเก็บดิน ใช้พลั่วแซะข้างหลุมที่เรียบหนา 2 – 3 เซนติเมตร จนถึงก้นหลุม ดินที่เก็บได้ใส่ถังพลาสติก หรือถุงพลาสติกคลุกเคล้าให้เข้ากัน ถ้าเป็นไม้ผลให้เก็บในส่วนที่เป็นทรงพุ่มต้นละหนึ่งจุด ทั้งหมด 15 ต้น
    2. นำดินที่เก็บทั้ง 15 จุด เทรวมกันอีกครั้งบนแผ่นพลาสติกที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน โดยยกมุมพลาสติกทีละสองมุมที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกัน ให้สลับมุมกัน 3 – 4 ครั้ง
    3. ทำกองดินเป็นรูปฝาชี ใช้มือขีดเป็นเครื่องหมายบวก (+) ซึ่งดินจะถูกแบ่งเป็น 4 ส่วน นำ 1 ส่วนไปวิเคราะห์ ให้ได้น้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม เขียนชื่อตัวอย่าง วันที่เก็บตัวอย่าง บนกระดาษกาว ให้ถูกต้อง ชัดเจน
  3. กรณีต้องการศึกษาคุณสมบัติในแต่ละชั้นดินให้ใช้ออร์เกอร์ (Auger) ในการเก็บ เก็บตัวอย่างดินส่วนที่ไม่ได้สัมผัสออร์เกอร์ (Auger) ใส่ถุงพลาสติก แยกส่วนที่ความลึกต่าง ๆ กัน

การเตรียมตัวอย่างดิน

การเตรียมตัวอย่างดินที่นำมาวิเคราะห์จะต้องปฏิบัติดังนี้

  1. จะต้องนำดินผึ่งตากให้แห้งในที่ร่ม การผึ่งดินต้องวางในห้องที่สะอาด ไม่มีฝุ่นหรือสารเคมีปนเปื้อน เลือกเศษพืชหรือเศษกรวดหินทิ้งให้หมด ซึ่งระยะเวลาในการตากให้แห้งขึ้นอยู่กับความชื้นของตัวอย่างดิน ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ ควรเขียนชื่อตัวอย่างดินให้ชัดเจน
  2. ดินที่แห้งแล้วให้บดด้วยเครื่องบดดินที่สะอาดไม่มีสิ่งเจือปน และร่อนด้วยตะแกรงขนาด 2 มิลลิเมตร หลังจากนั้นนำดินที่ร่อนผ่านตะแกรงเก็บใส่ในถุงพลาสติกหรือกระบอกเก็บตัวอย่างดิน เขียนชื่อตัวอย่างให้ถูกต้อง ชัดเจน

 



การเก็บตัวอย่างน้ำ

ห้องปฏิบัติการสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานสากล คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ม.มหิดล สามารถให้การวิเคราะห์ได้ทั้งน้ำอุปโภค-บริโภค และน้ำเสีย บริการตรวจวิเคราะห์หาค่า BOD, COD, DO, Coliform Bacteria, Oil & Grease, ค่าการนำไฟฟ้า ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง ความกระด้างของน้ำ ของแข็งละลายทั้งหมด โลหะที่มีอยู่ในน้ำ และสารกลุ่ม pesticide (organochlorines), ซัลเฟต ฟอสเฟต ไนเตรต คลอไรด์ แอมโมเนีย ฯลฯ รวมถึงให้คำปรึกษาและแนะนำในการควบคุมคุณภาพน้ำ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสียตามหลักวิชาการบริการจัดการคุณภาพน้ำ เป็นต้น

ห้องปฏิบัติการสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานสากล เห็นความสำคัญต่อผลการตรวจวัดและวิเคราะห์เป็นอย่างมาก เพื่อให้ผลการตรวจวัดและวิเคราะห์ที่ได้มีความถูกต้อง ดังนั้น จึงควรคำนึงถึงการเก็บตัวอย่างน้ำก่อนนำมาวิเคราะห์ ดังนี้

จุดเก็บน้ำ

จุดเก็บตัวอย่างน้ำทิ้ง โรงงานอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรม

  1. การเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งให้เก็บ ณ จุดที่ระบายลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะหรือออกสู่สิ่งแวดล้อมนอกเขตที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมหรือนิคมอุตสาหกรรม ในกรณีที่มีการระบายทิ้งหลายจุดให้เก็บทุกจุด
  2. วิธีการเก็บ ความถี่และระยะเวลาในการเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งให้เป็นไป ดังนี้
    - โรงงานอุตสาหกรรม จำพวกที่ 2 และจำพวกที่ 3 ให้เก็บแบบจ้วง 1 ครั้ง
    - นิคมอุตสาหกรรม ให้เก็บแบบผสมผสาน โดยเก็บ 4 ครั้งๆ ละ 500 มิลลิลิตร ทุก 2 ชั่วโมงต่อเนื่องกัน

จุดเก็บตัวอย่างน้ำผิวดิน

  1. แหล่งน้ำไหล ซึ่งได้แก่ แม่น้ำ ลำคลอง เป็นต้น ให้เก็บที่จุดกึ่งกลางความกว้างของแหล่งน้ำ และกึ่งกลางความลึก เว้นแต่แบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมดและแบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์ม ให้เก็บที่ระดับความลึก 30 เซนติเมตร (โดยเปิดขวดโคลิฟอร์ม ใต้น้ำ และเก็บปริมาตร 2 ใน 3 ขวด)
  2. แหล่งน้ำนิ่ง ซึ่งได้แก่ ทะเลสาบ หนอง บึง อ่างเก็บน้ำ เป็นต้น ให้เก็บที่ระดับความลึก 1 เมตร สำหรับแหล่งน้ำที่มีระดับความลึกเกิน 2 เมตร และให้เก็บที่จุดกึ่งกลางความลึกเว้นแต่แบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมดและแบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์ม ให้เก็บที่ระดับความลึก 30 เซนติเมตร (โดยเปิดขวดโคลิฟอร์ม ใต้น้ำ และเก็บปริมาตร 2 ใน 3 ขวด)

จุดเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งชุมชน

  1. น้ำทิ้งชุมชนมีจุดที่ระบายน้ำทิ้งอยู่หลายจุดแต่มักจะมีท่อระบายน้ำทิ้งรวมและมักจะเก็บที่ท่อระบายน้ำโสโครก หรือเก็บน้ำในบ่อตรวจการระบาย (Manhole) หรือจากบ่อสูบ แต่จุดเก็บตัวอย่างที่สำคัญจุดหนึ่งที่ต้องเก็บคือจุดที่ระบายน้ำทิ้งลงสู่แหล่งรองรับน้ำทิ้ง

วิธีเก็บน้ำตัวอย่าง

สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

  • 1.การเก็บตัวอย่างแบบจ้วง (Grab Sampling)
    เป็นการเก็บตัวอย่างครั้งเดียว ที่จุดเดียวในเวลาใดเวลาหนึ่ง แล้วนำมาวิเคราะห์โดยจะได้ผลแสดงคุณสมบัติของน้ำเสีย ณ จุดนั้นและในเวลานั้นเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นตัวแทนของน้ำเสียอย่างแท้จริง การเก็บตัวอย่างแบบนี้จะทำให้ทราบถึงคุณสมบัติของน้ำเสียในแต่ละจุดว่ามีคุณสมบัติเป็นอย่างไร มีความเข้มข้นระดับไหนสมควรจะนำมารวมกับน้ำเสียจากจุดอื่นๆ ก่อนเข้าระบบบำบัดหรือไม่ หรือควรแยกออกมาบำบัดเฉพาะส่วนจะเหมาะสมและประหยัดกว่า ซึ่งจะเห็นความผันแปรของปริมาณและความเข้มข้นของน้ำเสียในจุดต่างๆ ได้อย่างชัดเจน
  • 2.การเก็บตัวอย่างแบบผสมรวม (Composite Sampling)
    การเก็บตัวอย่างน้ำเสีย ณ จุดหนึ่งจุดใดติดต่อกันตลอดวัน แล้วจึงนำน้ำเสียจากจุดเก็บต่างๆ มาร่วมกันการเก็บน้ำเสียแบบนี้ปริมาณที่เก็บจะต้องเป็นปฏิภาคโดยตรงกับปริมาณของการไหลของน้ำเสีย ถ้าน้ำเสียไหลออกมากก็เก็บมาก ถ้าไหลออกมาน้อยก็เก็บน้อย การเก็บแต่ละครั้งจะห่างกันประมาณ 2 ชั่วโมง หรือ 3 ชั่วโมง ตามความเหมาะสมจนครบ 1 วัน (ถ้าเก็บ 2 ชั่วโมงครั้งจะต้องเก็บ 12 ตัวอย่าง) แล้วจึงนำเอาน้ำเสียที่เก็บได้มารวมกันก็จะได้น้ำเสียที่เป็นตัวแทนจริงๆ (ปริมาณน้ำเสียรวมเพื่อการวิเคราะห์จะต้องไม่น้อยกว่า 4 ลิตร) ผลจากการวิเคราะห์ของน้ำเสียที่เก็บด้วยวิธีนี้สามารถนำไปออกแบบระบบบำบัดได้
  • 3.การเก็บตัวอย่างจากบ่อรวม (Sump Sampling)
    เป็นการเก็บน้ำเสียจากบ่อ (Sump) ที่เป็นที่รวมของน้ำเสียจากแหล่งต่างๆ น้ำเสียจากบ่อรวม จัดได้ว่าเป็นตัวแทนของน้ำเสียที่แท้จริงได้เช่นเดียวกัน หากน้ำเสียถูกกักไว้ในบ่อนานกว่า 6 ชั่วโมง เมื่อนำมาวิเคราะห์ทราบคุณสมบัติแล้วสามารถนำไปออกแบบระบบบำบัดได้เช่นกัน
ที่มา : "คู่มือวิเคราะห์น้ำเสีย" โดยสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย, พิมพ์ครั้งที่ 4 .2547 หน้า 1--3

การเก็บรักษาสภาพตัวอย่างน้ำ

เพื่อให้ได้ผลการวิเคราะห์คุณลักษณะหรือค่าดัชนีคุณภาพน้ำหรือผลการวิเคราะห์ปริมาณของสารที่ต้องการทราบในตัวอย่างน้ำมีความถูกต้องและน่าเชื่อถือมากที่สุดจะต้องทำการเก็บตัวอย่างและทำการวิเคราะห์ในทันทีแต่ถ้าหากไม่สามารถดำเนินการวิเคราะห์ได้ในทันทีจะต้องทำการรักษาสภาพของตัวอย่างให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพน้อยที่สุด ซึ่งวิธีการรักษาสภาพของตัวอย่างน้ำที่ใช้กันทั่วไปและใช้กันมากที่สุดก็คือการเก็บตัวอย่างไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิต่ำ (ประมาณ 4 องศาเซลเซียส) เพื่อลดการเปลี่ยนแปลงลักษณะของน้ำ หลักการโดยทั่วไปใช้ในการรักษาสภาพตัวอย่างน้ำ เช่น การชะลอปฏิกิริยาทางชีววิทยา (Biological Reaction) การชะลอการเปลี่ยนแปลงของสารประกอบในกระบวนการไฮโดรไลซีส (Hydrolysis of compounds and complexes) ลดการระเหยขององค์ประกอบไอน้ำ

ปริมาณตัวอย่างที่ใช้ในการวิเคราะห์

  1. วิเคราะห์พารามิเตอร์ BOD ใช้ปริมาณน้ำอย่างน้อย 1 ลิตร
  2. วิเคราะห์พารามิเตอร์ pH TSS TDS TKN และ COD ใช้ปริมาณน้ำอย่างน้อย 3 ลิตร
  3. วิเคราะห์พารามิเตอร์ Oil & Grease ใช้ปริมาณน้ำอย่างน้อย 2 ลิตร (ใส่ในขวดแก้ว)
  4. วิเคราะห์พารามิเตอร์ Total Coliform Bacteria และ Fecal Coliform Bacteria ให้มารับขวดที่ฆ่าเชื้อแล้ว ที่งานปฏิบัติการสิ่งแวดล้อมฯ
  5. วิเคราะห์ในพารามิเตอร์ ข้อ 1 ข้อ 2 และอื่นๆ เพิ่มเติม ให้ใช้ปริมาณน้ำอย่างน้อย 5 ลิตร

ภาชนะที่ใช้ในการเก็บตัวอย่าง (Sample Bottle)

  1. ควรใช้ขวดแก้วปากกว้าง หรือขวดพลาสติกที่มีคุณภาพดี ล้างให้สะอาด และก่อนที่จะบรรจุน้ำตัวอย่างลงในขวดให้ล้างขวดด้วยน้ำตัวอย่าง อย่างน้อย 2-3 ครั้ง
  2. วิเคราะห์พารามิเตอร์ Total Coliform Bacteria และ Fecal Coliform Bacteria ให้มารับขวดที่ฆ่าเชื้อแล้ว ที่งานปฏิบัติการสิ่งแวดล้อมฯ
  3. ติดฉลากที่ขวดเก็บตัวอย่าง เพื่อบอกรายละเอียดของตัวอย่าง เช่น จุดเก็บตัวอย่าง วันที่ ชื่อผู้เก็บ เป็นต้น

ข้อแนะนำสำหรับการตรวจคุณภาพน้ำบริโภค : Suggestions for drinking water sample containers

พารามิเตอร์ ภาชนะและปริมาตรตัวอย่าง การเก็บรักษา
pH , Color , Turbidity , TS , TDS , Total Hardness , Chloride , Nitrate , Nitrite , Sulphate ขวดแก้ว หรือขวดพลาสติก PP/PE ปริมาตร 2,000 ml แช่เย็นที่ 4 °C ในที่มืด
Total Coliform Bacteria (TCB)
Fecal Coliform Bacteria (FCB)
ขวดแก้วที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้วเก็บน้ำไม่เต็มขวดเหลือที่ว่างไว้ ¾ นิ้ว แช่เย็นที่ 4 °C ในที่มืด
Heavy Metals
(Fe , Mn , Cu , Zn , Pb , Cr , Cd)
ขวดพลาสติก PP/PE ปริมาตร 500 ml เติมกรด HNO3 2-3 ml (pH < 2) แช่เย็นที่ 4 °C ในที่มืด

พารามิเตอร์ที่ตรวจวิเคราะห์ในคุณภาพน้ำ : Parameter analysis of drinking water

ลำดับที่ พารามิเตอร์ วิธีตรวจวิเคราะห์
1 pH pH Meter
2 Color Visual Comparison Method
3 Turbidity Turbidity meter
4 Total Solids (TS) Dried at 103-105 ºC
5 Total Dissolved Solids (TDS) Dried at 103-105 ºC or 180 ºC
6 Total Hardness EDTA Titrimetric Method
7 Chloride Argentometric Method
8 Nitrate  
9 Nitrite Colorimetric Method
10 Sulphate Turbidimetric Method
11 Heavy Metals (Fe , Mn , Cu , Zn , Pb , Cr , Cd) AAS (Flame)
12 Total Coliform Bacteria (TCB) MPN Technique
13 Fecal Coliform Bacteria (FCB) MPN Technique

ข้อแนะนำสำหรับการเตรียมน้ำตรวจคุณภาพน้ำทิ้ง : Suggestions for wastewater sample containers

ลำดับที่ พารามิเตอร์ วิธีตรวจวิเคราะห์
pH , EC , TSS , TDS , Settleable Solids , BOD , Total Phosphate , Orthophosphate , Ammonia ขวดพลาสติก PP/PE ปริมาตร 2,000 ml แช่เย็นที่ 4 ºC ในที่มืด
Chlorine (Residual) ขวดพลาสติก PP/PE
ปริมาตร 2,000 ml
แช่เย็นที่ 4 ºC ในที่มืด
Sulfide ขวดบีโอดี 300 ml 2 N. Zn(C4H6O4) 0.6 ml แช่เย็นที่ 4 ºC ในที่มืด
TKN , COD ขวดพลาสติก PP/PE ปริมาตร 1,000 ml เติมกรด H2SO4 2-3 ml (pH < 2) แช่เย็นที่ 4 ºC ในที่มืด
Total Coliform Bacteria (TCB)
Fecal Coliform Bacteria (FCB)
ขวดแก้วที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้วเก็บน้ำไม่เต็มขวดเหลือที่ว่างไว้ ¾ นิ้ว แช่เย็นที่ 4 oC ในที่มืด
Heavy Metals
(Fe , Mn , Cu , Zn , Pb , Cr , Cd)
ขวดพลาสติก PP/PE ปริมาตร 500 ml เติมกรด HNO3 2-3 ml(pH < 2) แช่เย็นที่ 4 ºC ในที่มืด

พารามิเตอร์ที่ตรวจวิเคราะห์ในคุณภาพน้ำทิ้ง : Parameter analysis of wastewater

ลำดับที่ พารามิเตอร์ วิธีตรวจวิเคราะห์
1 pH pH Meter
2 Conductivity (EC) Conductivity Meter
3 Suspended Solids (SS) Dried at 103-105 ºC
4 Settleable Solids Imhoff cone
5 Total Dissolved Solids (TDS) Dried at 103-105 ºC or 180 ºC
6 Sulfide Iodmetric Method
7 Total Kjeldahl Nitrogen (TKN) Kjeldahl Method
8 Grease & Oil Soxhlet Extraction Method
9 Biochemical Oxygen Demand (BOD) Azide Modification (at 20ºC for 5 days)
10 Chemical Oxygen Demand (COD) Closed Reflux
11 Total Phosphate , Orthophosphate , Ascorbic acid
12 Chlorine (Residual) Iodmetric Method I
13 Ammonia Distillation and Titrimetric Method
14 Heavy Metals (Fe , Mn , Cu , Zn , Pb , Cr , Cd) AAS (Flame)
15 Total Coliform Bacteria (TCB) MPN Technique
16 Fecal Coliform Bacteria (FCB) MPN Technique

ข้อแนะนำสำหรับการเตรียมน้ำตรวจคุณภาพน้ำผิวดิน : Parameter analysis of surface water

พารามิเตอร์ ภาชนะและปริมาตรตัวอย่าง การเก็บรักษา
pH , Color , DO, BOD , TS Nitrate , Ammonia ขวดแก้ว หรือขวดพลาสติก PP/PE ปริมาตร 2,000 ml แช่เย็นที่ 4 ºC ในที่มืด
Total Coliform Bacteria (TCB)
Fecal Coliform Bacteria (FCB)
ขวดแก้วที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว เก็บน้ำไม่เต็มขวดเหลือที่ว่างไว้ ¾ นิ้ว แช่เย็นที่ 4 ºC ในที่มืด
Heavy Metals
(Fe , Mn , Cu , Zn , Pb , Cr , Cd)
ขวดพลาสติก PP/PE ปริมาตร 500 ml เติมกรด HNO3 2-3 ml
แช่เย็นที่ 4 ºC ในที่มืด

พารามิเตอร์ที่ตรวจวิเคราะห์ในคุณภาพน้ำผิวดิน : Parameter analysis of surface water

ลำดับที่ พารามิเตอร์ วิธีตรวจวิเคราะห์
1 pH pH Meter
2 Color  
3 DO Azide Modification
4 BOD Azide Modification (at 20ºC for 5 days)
5 Total Solids (TS) Dried at 103-105 ºC
6 Ammonia Distillation and Titrimetric Method
7 Heavy Metals (Fe , Mn , Cu , Zn , Pb , Cr , Cd) AAS (Flame)
8 Total Coliform Bacteria (TCB) MPN Technique
9 Fecal Coliform Bacteria (FCB) MPN Technique

การบริการตรวจวัดและวิเคราะห์ด้านอากาศ

ห้องปฏิบัติการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ม.มหิดล สามารถให้บริการตรวจวิเคราะห์หาฝุ่นรวม (TSP) ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5), ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) ในบรรยากาศ, ตรวจวิเคราะห์ Nitrogen Dioxide, Sulfur Dioxide ตลอดจนตรวจวัดก๊าซ และสารระเหยชนิดต่างๆ ในบรรยากาศ พร้อมทั้งมีรถปฏิบัติการตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบเคลื่อนที่ สำหรับติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในบรรยากาศและสภาพอากาศทางอุตุนิยมวิทยาในระดับพื้นผิว


© 2025 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.