บริการตรวจวัดและวิเคราะห์ด้านดิน
ห้องปฏิบัติการสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานสากล คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถให้บริการตรวจวิเคราะห์หาปริมาณธาตุอาหารของพืชในดิน เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปตัสเซียม ค่าปริมาณสารอินทรีย์วัตถุ ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง และขนาดอนุภาพของดิน เป็นต้น ดังนั้น การนำดินมาวิเคราะห์ที่ให้ผลวิเคราะห์ออกมาได้ถูกต้อง จึงควรคำนึงถึงการเก็บตัวอย่างดิน และการเตรียมตัวอย่างดินก่อนนำมาวิเคราะห์ ดังนี้
การเก็บตัวอย่างดิน
การเก็บตัวอย่างดินที่นิยมทำกันมีอยู่ 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นการเก็บตัวอย่างดินเพื่อใช้ในการจำแนกดิน และประเภทที่ 2 เป็นการเก็บตัวอย่างดินเฉพาะหน้าดิน เพื่อใช้ตรวจวิเคราะห์สำหรับประเมินความอุดมสมบูรณ์ของดินหรือเพื่อนำมาใช้แนะนำการใช้ปุ๋ยสำหรับพืชที่ต้องการปลูก (สำนักวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน, 2547)
การเก็บตัวอย่างดิน
1) เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการเก็บตัวอย่างดิน
- อุปกรณ์ขุดดิน ได้แก่ เสียม จอบ พลั่ว ออร์เกอร์ (Auger) เป็นต้น
- ถังพลาสติก หรือแผ่นพลาสติกขนาด 1x1 เมตร
- กระดาษกาว หรือสติ๊กเกอร์ สำหรับเขียนชื่อตัวอย่าง
- ถุงพลาสติกร้อน ขนาด 10 x 15 นิ้ว และยางรัดของ
2) หลักการในการเก็บตัวอย่างดิน เพื่อให้ได้ข้อมูลจากการศึกษาและวิเคราะห์ที่ถูกต้อง ควรมีหลักการดังนี้
- ตัวอย่างดินจะต้องเป็นตัวแทนที่ดีของดินในบริเวณที่ศึกษา โดยใช้วิธีการเก็บดินที่ถูกต้องเหมาะสม
- อุปกรณ์และภาชนะต่าง ๆ ที่ใช้ในการเก็บและเตรียมตัวอย่างดินจะต้องสะอาด
- พื้นที่ในการเก็บตัวอย่างดินต้องไม่เกิน 50 ไร่ ซึ่งต้องเป็นดินลักษณะเหมือนกัน หากมีลักษณะแตกต่างกันต้องแยกเก็บ
- การเก็บตัวอย่างดินควรเก็บหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิต หรือก่อนการเตรียมดินในการปลูกพืชครั้งต่อไป แนะนำให้เก็บก่อนปลูก 2 เดือน
- เพื่อแนะนำการจัดการดินที่ถูกต้อง และเหมาะสม ควรบันทึกข้อมูลการใช้และการจัดการดินในช่วงเวลาที่ผ่านมาอย่างละเอียด
3) วิธีการเก็บตัวอย่างดิน
- การเก็บตัวอย่างดินในกรณีที่เป็นที่นาหรือ ที่ยังไม่มีการเพาะปลูกให้กระจายเก็บตัวอย่างดินแปลงละ 15 จุด
- ก่อนการเก็บตัวอย่างดินให้นำเศษหญ้า เศษใบไม้ที่คลุมดินออก แล้วทำการเก็บตัวอย่างดินดังนี้
- ใช้พลั่วขุดดินเป็นรูปลิ่มลึก 15 เซนติเมตร หลังจากนั้นเก็บดิน ใช้พลั่วแซะข้างหลุมที่เรียบหนา 2 – 3 เซนติเมตร จนถึงก้นหลุม ดินที่เก็บได้ใส่ถังพลาสติก หรือถุงพลาสติกคลุกเคล้าให้เข้ากัน ถ้าเป็นไม้ผลให้เก็บในส่วนที่เป็นทรงพุ่มต้นละหนึ่งจุด ทั้งหมด 15 ต้น
- นำดินที่เก็บทั้ง 15 จุด เทรวมกันอีกครั้งบนแผ่นพลาสติกที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน โดยยกมุมพลาสติกทีละสองมุมที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกัน ให้สลับมุมกัน 3 – 4 ครั้ง
- ทำกองดินเป็นรูปฝาชี ใช้มือขีดเป็นเครื่องหมายบวก (+) ซึ่งดินจะถูกแบ่งเป็น 4 ส่วน นำ 1 ส่วนไปวิเคราะห์ ให้ได้น้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม เขียนชื่อตัวอย่าง วันที่เก็บตัวอย่าง บนกระดาษกาว ให้ถูกต้อง ชัดเจน
- กรณีต้องการศึกษาคุณสมบัติในแต่ละชั้นดินให้ใช้ออร์เกอร์ (Auger) ในการเก็บ เก็บตัวอย่างดินส่วนที่ไม่ได้สัมผัสออร์เกอร์ (Auger) ใส่ถุงพลาสติก แยกส่วนที่ความลึกต่าง ๆ กัน
การเตรียมตัวอย่างดิน
การเตรียมตัวอย่างดินที่นำมาวิเคราะห์จะต้องปฏิบัติดังนี้
- จะต้องนำดินผึ่งตากให้แห้งในที่ร่ม การผึ่งดินต้องวางในห้องที่สะอาด ไม่มีฝุ่นหรือสารเคมีปนเปื้อน เลือกเศษพืชหรือเศษกรวดหินทิ้งให้หมด ซึ่งระยะเวลาในการตากให้แห้งขึ้นอยู่กับความชื้นของตัวอย่างดิน ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ ควรเขียนชื่อตัวอย่างดินให้ชัดเจน
- ดินที่แห้งแล้วให้บดด้วยเครื่องบดดินที่สะอาดไม่มีสิ่งเจือปน และร่อนด้วยตะแกรงขนาด 2 มิลลิเมตร หลังจากนั้นนำดินที่ร่อนผ่านตะแกรงเก็บใส่ในถุงพลาสติกหรือกระบอกเก็บตัวอย่างดิน เขียนชื่อตัวอย่างให้ถูกต้อง ชัดเจน