Welcome To Research Coordination Office of the Sustainable City

  • "Sustainable City "
  • "โครงการเมืองยั่งยืน"

หลักการและเหตุผลของชุดโครงการ

โครงการเมืองยั่งยืนเป็นโครงการที่พยายามใช้กระบวนการวิจัยในการหาคำตอบเพื่อนำสู่การแก้ไขปัญหาของการเจริญเติบโตของเมืองที่ตกอยู่ภายใต้ภาวะของการเปลี่ยนแปลงในเชิงลบ โดยอาศัยการดำเนินงานในลักษณะเชิงพื้นที่ ที่มีกรอบแนวทางการดำเนินงานภายใต้บริบทของแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการพยายามสร้างให้เกิดดุลยภาพของมิติ 3 พื้นฐาน ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องมีความเชื่อมโยงสู่ 17 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ภายใต้บริบทของสังคมไทย และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12

กรอบการดำเนินงานของการพัฒนาเมืองยั่งยืน ประกอบด้วย

1) การเพิ่มประสิทธิภาพ กรอบการดำเนินงานที่มุ่งสร้างดุลยภาพระหว่างมิติเชิงเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยหลักการประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษญกิจ (Eco-Efficiency) ของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพภายใต้พื้นฐานของทรัพยากรที่มีจำกัด การพัฒนาเมืองเพื่อรองรับต่อกระแสของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดวางผังเมือง และโครงสร้างทางกายภาพที่ตอบสนองต่อความต้องการของคนภายในเมืองบนฐานคิดของความมีประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของการใช้ทรัพยากร การสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์และบริการของกลุ่มคนภายในเมือง เป็นต้น

2) สุขภาพ กรอบการดำเนินงานที่มุ่งสร้างดุลยภาพระหว่างมิติสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านกระบวนการสร้างจิตสำนึกของการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทั้งในด้านความคิด และพฤติกรรมของคนภายในเมือง ตัวอย่างเช่น แนวทางการส่งเสริมให้เกิดวิถีเกษตรอินทรีย์ การเปลี่ยนพฤติกรรมด้านโภชนาเพื่อสุขภาพของคนในเมือง การเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

3) การลดความเหลื่อมล้ำ กรอบการดำเนินงานที่มุ่งสร้างดุลยภาพระหว่างมิติเชิงเศรษฐกิจและสังคม โดยอาศัยกลไกเชิงเศรษฐกิจที่สามารถลดความเหลื่อมล้ำของคนภายในสังคมเมือง การสร้างความร่วมมือของกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียภายในเมืองผ่านกลไกการสร้างเวทีสาธารณะที่ช่วยลดความขัดแย้งของการแย่งชิงทรัพยากรภายในพื้นที่ การพัฒนาเมืองให้มีความเจริญบนวิถีชีวิตเดินคนภายในเมือง เป็นต้น

วัตถุประสงค์ของชุดโครงการ

1. เพื่อสนับสนุนการพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยทั้งในลักษณะของงานวิจัยใหม่ และงานวิจัยต่อยอดที่มีความเชื่อมโยงกับงานวิจัยเดิม หรือบูรณาการเชื่อมโยงกับงานวิจัยฝ่ายอื่นที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัยให้การสนับสนุน เพื่อนำไปสู่งานวิจัยด้านการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน

2.เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเครือข่ายวิจัยที่ร่วมกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐ หน่วยงานท้องถิ่น เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อรูปแบบการพัฒนาเมืองให้มีความยั่งยืน

3.เพื่อทำหน้าที่ประสานงาน ติดตามความก้าวหน้า และจัดทำบทสรุปผลการดำเนินงานของแต่ละโครงการวิจัย

แผนการดำเนินงานของชุดโครงการ

1.ให้การสนับสนุนทุนวิจัยจำนวน 1 โครงการ เพื่อรวบรวมประเด็นปัญหา ทบทวนวรรณกรรม และรวบรวมโครงการวิจัยที่ผ่านมาที่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นการพัฒนาเมืองสู่ความยั่งยืนภายใต้กรอบแนวคิดการสร้างดุลยภาพระหว่าง 3 มิติพื้นฐานของกรอบแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อนำผลที่ได้จากการวิจัยเบื้องต้นมาวิเคราะห์ และสังเคราะห์ประเด็นที่ใช้หนุนเสริมการกำหนดเป็นโจทย์วิจัย

2.การจัดเวทีระดมสมองเพื่อการพัฒนาโจทย์วิจัย และการให้ทุนสนับสนุนโครงการวิจัยภายใต้กรอบการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน ได้แก่
- สร้างโจทย์วิจัยที่เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของเมืองอย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วมจำนวน 2 โครงการ
- การสร้างโจทย์วิจัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดการรูปแบบเมืองที่รองรับต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจำนวน 2 โครงการ
- การพัฒนาโจทย์วิจัยในมิติอื่นๆที่มีความเชื่อมโยง และบูรณาการเพื่อหนุนเสริมกับทิศทางการดำเนินของโครงการวิจัยจากฝ่ายต่างๆ ภายในสกว. จำนวน 2 โครงการ

3.จัดทำเอกสารเผยแพร่ชุดโครงการสู่สาธารณะ รวมถึงเวปไซด์เพื่อการสื่อสารประชาสัมพันธ์กิจกรรมของชุดโครงการ และเผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัย รวมถึงการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ

4.จัดประชุมวิชาการในประเด็นที่ได้รับความสนใจ และสอดคล้องกับกับสถานการณ์

5.จัดทำหนังสือเชิงวิชาการที่รวบรวมองค์ความรู้จากโครงการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุน

6.เข้าร่วมประชุมและติดตามความก้าวหน้าของวงการวิชาการในสาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

7.เข้าร่วมประชุมในกิจกรรมที่ สกว.จัดขึ้น และปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ที่สกว.มอบหมาย

8. ประสานงาน ติดตามความก้าวหน้า และผลการดำเนินงานของโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุน รวมถึงจัดทำบทสรุปผลงานวิจัยแต่ละชุดโครงการวิจัยที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว

9. ประสานงานกับหน่วยงานภาคราชการ สถาบันการศึกษาของภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของโครงการ