การพัฒนาแนวทางการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอนุรักษ์และจัดการน้ำ : พื้นที่เทศบาลเมืองลำพูน

  • "การพัฒนาแนวทางการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอนุรักษ์และจัดการน้ำ : พื้นที่เทศบาลเมืองลำพูน "
  • "ชุดโครงการชุดโครงการเมืองยั่งยืน "

การพัฒนาแนวทางการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอนุรักษ์และจัดการน้ำ : พื้นที่เทศบาลเมืองลำพูน

(Land Use Planning Approach for Water Conservation and Management: Lamphun City)

หัวหน้าโครงการ : รศ. ดร.องุ่นทิพย์ ศรีสุวรรณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บทสรุปย่อผู้บริหาร

การบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมา กระทำการบริหารจัดการภายใต้ความดูแลของ 29 หน่วยงาน ในสังกัดของกระทรวง 10 กระทรวง โดยการบริหารจัดการน้ำในปัจจุบันเป็นการดำเนินงานภายในหน่วยงานของตน โดยปราศจากการประสานงานกัน เป็นผลให้การตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำขาดเอกภาพ และขาดความต่อเนื่องในนโยบาย ตลอดจนการใช้งบประมาณจัดการน้ำในปัจจุบันยังเป็นไปในทางการแก้ไขมากกว่าป้องกัน โดยงบประมาณราวร้อยละ 80 ใช้ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า สำหรับในส่วนของการศึกษาวิจัยนั้น พบงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่ทำการศึกษาในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ โดยในฐานข้อมูลงานวิจัยของสำนักงานสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ปรากฏผลงานวิจัยในเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำจำนวน 71 ผลงานและการใช้ประโยชน์ที่ดินจำนวน 44 โครงการ (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย 2560) โดยงานเกือบทั้งหมดมุ่งเน้นการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรกรรม และการป่าไม้ โดยข้อสรุปของการศึกษาเหล่านั้นสามารถจำแนกได้เป็นสองลักษณะ คือ 1) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ในเรื่องของการจัดตั้งองค์กรบริหารจัดการน้ำ การบัญญัติกฎหมาย และการสร้างความเท่าเทียม และ 2) ข้อเสนอแนะเชิงพื้นที่ ที่มีผลลัพธ์ในลักษณะของฐานข้อมูล การจัดการชุมชนต้นน้ำ หรือชุมชนจัดการตนเอง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การศึกษาที่ผ่านมาส่วนใหญ่มุ่งศึกษาในพื้นที่ต้นน้ำ และกลางน้ำ ในขณะที่พื้นที่ปลายน้ำซึ่งเป็นพื้นที่แห่งการตั้งถิ่นฐานของผู้คนอย่างหนาแน่นกลับไม่พบการศึกษาที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับการบริหารจัดการน้ำ ทั้ง ๆ ที่ในสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของปรากฏการณ์ภาวะโลกร้อน(Global Climate Change) นั้น พื้นที่ในเขตชุมชนเมืองที่มีการตั้งถิ่นฐานและการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเข้มข้นมีแนวโน้มความเสี่ยงจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม (วนารัตน์, ดารณี, และคนอื่นๆ 2559) โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นจะสร้างความสูญเสียอย่างมหาศาลต่อเศรษฐกิจ สังคมของประชาชนและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเมืองในระยะยาว

กล่าวได้ว่าในการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทยนั้นยังคงมีช่องว่างเชิงนโยบายในการบริหารจัดการน้ำระดับประเทศถึงการจัดสรรทรัพยากรน้ำ เกิดช่องว่างในการดำเนินงานจากประเด็นทางกฎหมายการถ่ายโอน และไม่มีแผนพัฒนากำลังคนและเทคโนโลยีเป็นการเฉพาะ และช่องว่างขององค์ความรู้ในการจัดหาเครื่องมือวางแผนดำเนินงานบูรณาการทั้งด้านการจัดหาและศึกษาความต้องการน้ำรองรับต่อแผนการพัฒนาและสร้างความมั่นคงที่ดี

โครงการการพัฒนาแนวทางการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอนุรักษ์และจัดการน้ำ : พื้นที่เทศบาลเมืองลำพูน จึงเป็นการหาคำตอบเพื่อเตรียมรับมือต่อความขาดแคลนและความเปลี่ยนแปลง โดยพิจารณาถึงกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินที่จะส่งผลต่อความต้องการน้ำใช้ในเขตเทศบาลเมืองลำพูน เพื่อประโยชน์ในการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีความสัมพันธ์กับปริมาณความต้องการน้ำใช้ในแต่ละบริเวณของเขตเทศบาลเมืองลำพูน ก่อให้เกิดความสมดุล ยั่งยืน และเสมอภาค เป็นธรรมกับทุกภาคส่วน ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการสนองตอบต่อความต้องการการใช้ทรัพยากรน้ำและป้องกันความขาดแคลนน้ำในปัจจุบันเท่านั้น ยังเป็นการประกันการจัดสรรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ หลีกเลี่ยงภาวะลดถอยศักยภาพของการใช้น้ำในอนาคต และยังเป็นคำตอบต่อการจัดหาพื้นที่เพื่อทำการสำรองน้ำใช้แก่ชาวเมืองลำพูนและอนุรักษ์สภาพแวดล้อมในอีกทางหนึ่งด้วย ตลอดจนเป็นแนวทางในการอุดช่องว่างขององค์ความรู้ในการจัดหาเครื่องมือวางแผนดำเนินงานที่สามารถบูรณาการทั้งด้านการจัดหาและศึกษาความต้องการน้ำรองรับต่อแผนการพัฒนาและสร้างความมั่นคงที่ดีแก่เมืองลำพูน

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

  1. ศึกษาและประเมินความต้องการใช้น้ำของกิจกรรมแต่ละประเภทกิจกรรมในเขตเทศบาลเมืองลำพูน
  2. เพื่อสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่ม ในการกำหนดนโยบายการพัฒนาเมือง และผังแนวคิดในการพัฒนาย่าน รวมทั้งแนวทางการออกแบบทางกายภาพของย่าน
  3. เสนอแนะพื้นที่กักเก็บน้ำ เพื่อการสำรองน้ำใช้แก่ทุกภาคส่วนในเขตเทศบาลเมืองลำพูน

ผลที่คาดว่าจะได้รับเมื่อสิ้นสุดการวิจัย

  • เทศบาลเมืองลำพูนมีแผนที่ความต้องการน้ำใช้ตามประเภทกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดิน
  • เทศบาลเมืองลำพูนมีพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำของทุกภาคส่วนในอนาคต
  • เทศบาลเมืองลำพูนสามารถวางแผน บริหารจัดการน้ำโดยใช้ฐานข้อมูลจากงานวิจัย
  • การกำหนดผังการใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับการวางผังเมืองลำพูนในอนาคตสามารถมีฐานคิดของการวางแผนที่สร้างให้เกิดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมจากผลงานวิจัย
  • เมืองลำพูนมีการพัฒนาไปในทิศทางที่สัมพันธ์กับเศรษฐกิจ สังคมบนฐานของความต้องการน้ำใช้ในแต่ละบริเวณ
  • เมืองอื่น ๆ สามารถนำวิธีการดำเนินการไปประยุกต์ใช้ในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรน้ำ