แนวทางการพัฒนาพื้นที่เมืองรอบนิคมอุตสาหกรรมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน กรณีศึกษาเทศบาลเมืองลำพูน

  • "แนวทางการพัฒนาพื้นที่เมืองรอบนิคมอุตสาหกรรมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน กรณีศึกษาเทศบาลเมืองลำพูน "
  • "ชุดโครงการชุดโครงการเมืองยั่งยืน "

แนวทางการพัฒนาพื้นที่เมืองรอบนิคมอุตสาหกรรมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน กรณีศึกษาเทศบาลเมืองลำพูน

บทสรุปย่อผู้บริหาร

ลำพูนเป็นเมืองเก่าศูนย์กลางอารยธรรมที่มีความสำคัญในดินแดนก่อนยุคอาณาจักรล้านนาและมีอายุยืนยาวมากว่า 1,300 ปี มีความมั่นคงของประเพณีวัฒนธรรมที่ต่อเนื่องยาวนาน นับเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิต (living historic city) เมืองหนึ่ง เมืองประวัติศาสตร์ลำพูนต้องมีการเติบโต พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกับเมืองประวัติศาสตร์อื่น ๆ ทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงในเมืองนับเป็นสิ่งที่จำเป็น และการอนุรักษ์ต้องเกิดขึ้นควบคู่กับการพัฒนา การวางแผนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสมเพื่อการย่างก้าวต่อไปในอนาคตสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับเมืองประวัติศาสตร์ลำพูน ซึ่งอยู่ในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เมืองจะเติบโตขึ้นอย่างมากในทศวรรษข้างหน้า

พื้นที่ในเทศบาลเมืองลำพูนจึงได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเมืองลำพูนในภาพรวม อันเกิดจากการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกเขตเมืองเก่าและเขตเทศบาล เทศบาลเมืองลำพูนจำเป็นต้องมีแนวทางการพัฒนาเมืองที่ชัดเจนภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ และการรุกคืบของการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยแนวทางการพัฒนาเมืองนี้ ควรจะสร้างสมดุลใหม่ให้กับเมือง คือพัฒนาเมืองเก่าโดยคงไว้ซึ่งวัฒนธรรม เพราะลำพูนยังมีศักยภาพในการอนุรักษ์และฟื้นฟูโบราณสถาน และอาคารบ้านเรือนที่ยังคงเหลืออยู่อีกเป็นจำนวนมากแต่ยังขาดระบบการดูแลและการบริหารจัดการที่ดีพอ ที่จะสนับสนุนให้มรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าเหล่านั้น กลายเป็นจุดเด่นและอัตลักษณ์ของย่าน และในขณะเดียวกันก็เพิ่มขีดความสามารถของมิติเชิงเศรษฐกิจให้กับชุมชนให้น่าอยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

จากเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ข้อที่ 11 ได้แก่ การพัฒนาเมืองและชุมชนอย่างยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities) ได้ระบุเป้าประสงค์ อีก 10 ข้อ โดยเป้าประสงค์ที่สำคัญและ เป็นแนวทางการวางแผนและพัฒนาเมืองทางกายภาพ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเทศบาลเมืองลำพูน 3 ข้อ ได้แก่ การป้องกันและปกปักรักษามรดกทางวัฒนธรรม การเข้าถึงพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน รวมทั้งการส่งเสริมความยั่งยืนโดยกระบวนการมีส่วนร่วม จึงเป็นหัวข้อสำคัญของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ที่งานวิจัยชิ้นนี้ให้ความสำคัญ

ส่วนคำว่า “เมืองน่าอยู่” มักนำมาอธิบายถึงคุณภาพชีวิต และลักษณะของเมืองที่ส่งเสริมการมีชีวิตที่มีคุณภาพของประชาชนในเมือง (livable) ความหมายของคำว่า “เมืองน่าอยู่” นี้จึงสัมพันธ์กับคำว่า “เมืองยั่งยืน” เพราะต่างมีคุณลักษณะ ไปในทิศทางเดียวกัน โดยองค์ประกอบความน่าอยู่ทั้ง 8 ประการนี้ มีองค์ประกอบที่สนับสนุนแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนข้างต้น ได้แก่ การมีสิ่งอำนวยความสะดวก (Amenities) ทั้งด้านกายภาพ/ธรรมชาติ และด้านวัฒนธรรม (physical/natural amenities as well as cultural attractions) อันเป็นสิ่งที่จะทำให้ประชาชนพลเมืองรู้สึกสะดวก สบาย มั่นคง และปลอดภัย การมีพื้นที่สีเขียวเพื่อการพักผ่อนใกล้บ้านจึงนับเป็นองค์ประกอบสำคัญ, การมี ลักษณะทางสังคม (Demographic) ที่ผู้คนรู้จักกัน มีกิจกรรมทางสังคมร่วมกันของกลุ่มคนต่าง ๆ ตลอดจนการเป็นที่ยอมรับ เกิดความรู้สึกเป็นชุมชน, หรือ ทุนทางสังคมและพลเมือง (Social and Civic Capital) ที่มีความเป็นชุมชนและการอยู่ร่วมกัน มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ และเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะของชุมชน ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกเป็นสถานที่อันเกิดจากความสัมพันธ์ของคนในชุมชน

จากกรอบแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน-น่าอยู่ ระดับเมือง ระดับย่าน และระดับชุมชน จึงนำสู่แนวทางการวิจัยที่ต้องการวิเคราะห์และระบุ “ความรู้สึกเป็นสถานที่” หรือ “ความรู้สึกเป็นย่าน” แต่ละย่านในเมือง พร้อมกำหนดนโยบายการพัฒนาเมือง ผังแนวคิดการพัฒนาย่าน และแนวทางการออกแบบกายภาพพื้นที่ย่านของเทศบาลเมืองลำพูนตามลักษณะเฉพาะของแต่ละย่านหรือชุมชน (Neighbourhood) ให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน โดยกำหนดแนวทางการพัฒนาตามตัวชี้วัดความน่าอยู่อย่างยั่งยืนสำคัญ 3 ประการ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเทศบาลเมืองลำพูน ได้แก่ การปกปักรักษามรดกทางวัฒนธรรม เพื่อรื้อฟื้นบรรยากาศนครหริภุญชัยที่เป็นเมืองเก่าที่มีชีวิต การมีพื้นที่สีเขียวสาธารณะสำหรับคนทุกคน และการวางแผนพัฒนาแบบมีส่วนร่วมของชุมชน เมื่อได้แนวทางการพัฒนาย่านน่าอยู่อย่างยั่งยืนในเขตเทศบาลเมืองลำพูนแล้ว จะทำการประเมินต้นทุนและผลประโยชน์ (Cost-Benefit Analysis) เบื้องต้นหากมีการนำแนวทางพัฒนาฯ ไปใช้เป็นรูปธรรม โดยประเมินมูลค่าการลงทุนของการสร้างอัตลักษณ์ในความเป็นย่าน และประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการ เพื่อส่งต่อแผนการดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาย่านนั้น ๆ ให้กับเทศบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

แนวทางการพัฒนาเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนนี้ สามารถพัฒนาให้เมืองลำพูนเติบโตตามลักษณะเฉพาะของแต่ละย่าน เป็นเมืองน่าอยู่ที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยสำหรับคนทุกกลุ่ม และยังน่ามาเยี่ยมสำหรับผู้มาเยือนจากภายนอก เพื่อส่งเสริมการอยู่อาศัยร่วมกันอย่างสมานฉันท์ภายใต้เงื่อนไขที่แตกต่าง และความต้องการที่หลากหลายสำหรับผู้คนอย่างแท้จริง

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

  1. เพื่อเสนอแนวทางระดับนโยบายในการพัฒนาเมือง และผังแนวคิดในการพัฒนาย่าน และแนวทางการออกแบบทางกายภาพของย่านในเขตเทศบาลเมืองลำพูน ที่ส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และการพัฒนาพื้นที่สีเขียว ของเมืองลำพูน
  2. เพื่อสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่ม ในการกำหนดนโยบายการพัฒนาเมือง และผังแนวคิดในการพัฒนาย่าน รวมทั้งแนวทางการออกแบบทางกายภาพของย่าน
  3. เพื่อประเมินต้นทุนและผลประโยชน์ (Cost-Benefit Analysis) เบื้องต้น จากมูลค่าการลงทุนในการสร้างอัตลักษณ์ของย่าน และประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น

ผลที่คาดว่าจะได้รับเมื่อสิ้นสุดการวิจัย

  • ประเด็นสำคัญในการพัฒนาจากแผนและนโยบายเมืองลำพูนที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งสภาพปัจจุบันและปัญหาในการพัฒนาเทศบาลเมืองลำพูนตามแนวทางเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน เบื้องต้น
  • ข้อเสนอนโยบายการพัฒนาเมืองตามลักษณะเฉพาะของย่าน ที่ประชาชนให้การยอมรับ และหน่วยงานสามารถนำไปปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม
  • ผังแนวคิดในการพัฒนาย่านเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์และฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมและการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ที่ประชาชนให้การยอมรับ และหน่วยงานสามารถนำไปปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม
  • แนวทางการออกแบบทางกายภาพของย่าน่ส่งเสริมการอนุรักษ์-ฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรม และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งประชาชนให้การยอมรับ และหน่วยงานสามารถนำไปปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม
  • ตัวชี้วัดความคุ้มค่า /ผลการวิเคราะห์ความอ่อนไหว ของการพัฒนาทางกายภาพของย่าน
  • แนวทางการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาเมืองลำพูนที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน