ประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ
ดัชนีชี้วัดความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
โดย ดร. กิติกร จามรดุสิต
อาจารย์ประจำหลักสูตรนิเวศวิทยาอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม (นานาชาติ)
คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยส่งผลให้เกิดการลงทุนทั้งจากภายในและภายนอกประเทศเพิ่มมากขึ้นในส่วนของภาค อุตสาหกรรมดังจะสังเกตได้จากข้อมูลสถิติจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่ประกอบกิจการใหม่และปริมาณเงินลงทุนของโรงงานอุตสาห กรรมที่ได้รับอนุญาติประกอบกิจการใหม่ภายในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาตลอดในระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา(http://www.industrythailand.com) คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ว่าผลจากการพัฒนาทางเทคโนโลยี

การเติบโตของเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรม
และการเพิ่มจำนวนมากขึ้นของโรงงานอุตสาหกรรมภายในประเทศดังกล่าวนั้น
ปัจจุบันได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศวิทยา และสิ่งแวดล้อมโดยรอบพื้นที่ใกล้เคียงที่มีโรงงานอุตสาหกรรม และนิคมอุตสาหกรรม ตั้งอยู่ ทั้งมลภาวะที่เกิดขึ้นจากตัววัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต มลภาวะที่เกิดจากกระบวนการผลิต การขนส่ง รวมถึงการปล่อยของเสีย และ การทิ้งของเหลือจากกระบวนการผลิตภายในโรงงานอุตสาหกรรมลงสู่ระบบนิเวศวิทยาบริเวณใกล้เคียง ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุหลักของ อุตสาหกรรมที่สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น แนวทางการแก้ไขปัญหามลภาวะที่เกิดจากกอุตสาหกรรมในปัจจุบันมักมุ่งประเด็นไปที่ การแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ อันได้แก่การติดตามเฝ้าระวังผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมบริเวณใกล้เคียง รวมถึงการนำเอาเทคโนโลยีการ บำบัดใหม่ๆมาใช้กับของเสียที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมก่อนปล่อยสู่ระบบนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวมัก นำไปสู่การเพิ่มขึ้นในแง่ของต้นทุนการผลิต และราคาของผลิตภัณฑ์ รวมถึงไม่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมภายใน ประเทศ

แนวทางและทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development)
แนวทางและทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมสามารถเพิ่มขึ้นได้โดยคำนึงถึงองค์ประกอบหลักที่สำคัญคือ การสร้างสมดุลย์ ระหว่างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการปกป้องรักษาระบบนิเวศไปพร้อมๆกัน ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมาก โดยยึดหลักการสร้างความ มั่งคั่งทางเศรษฐกิจด้วยวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรและลดการปล่อยมลพิษซึ่งก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม หลักการ สร้างสมดุลย์ดังกล่าวข้างต้นได้ถูกประยุกต์เป็นหลักการเชิงทฤษฎีเรียกว่า ประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Efficiency) เป็นหลัก การที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้การพัฒนาด้านเศรษฐกิจที่ก้าวรุดหน้าเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดนั้นเดินควบคู่ไปได้พร้อมๆกับการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือหลักการดังกล่าวสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการให้ภาคธุรกิจต่างๆมีศักยภาพในการแข่งขันด้าน เศรษฐศาสตร์ระหว่างกันควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อมบนโลกใบนี้ คำ ว่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจถูกนำมาใช้และเผยแพร่เป็นครั้งแรกโดย 2 นักวิจัยชาวสวิสในปีค.ศ. 1990 หลังจากนั้นไม่นานคณะ กรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมโลก (World Business Council for Sustainable Development : WBCSD) ซึ่งเป็นการรวมตัวระหว่าง กลุ่มบริษัทชั้นนำระหว่างประเทศกว่า 130 บริษัท จาก 30 ประเทศทั่วโลกก็ได้ให้คำจำกัดความของคำว่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ อย่างเป็นทางการในปีค.ศ. 1991 ภายใต้แนวความคิดที่จะให้เกิดการรวมกันของการพัฒนาที่ดีขึ้นในด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอันจะ นำไปสู่ผลลัพธ์ของการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

คำว่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจมาจากการรวมกันของคำ 2 คำ ได้แก่คำว่า Eco หมายความได้ถึง ระบบนิเวศ: Ecology และ เศรษฐกิจ: Economy กับคำว่า Efficiency ซึ่งแปลตามภาษาไทยว่า ประสิทธิภาพ นิยามของคำว่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจซึ่ง บัญญัติโดย WBCSD หมายความถึงการนำมาซึ่งการแข่งขันกันในศักยภาพด้านการผลิตและการบริการโดยมีจุดประสงค์ที่จะตอบสนอง ความต้องการของมนุษย์และนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในขณะที่การแข่งขันดังกล่าวมีความจำเป็นที่จะต้องตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อ ระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติให้อยู่ในระดับที่อย่างน้อยต้องสอดคล้องกับความสามารถของโลกใบนี้ที่จะรองรับผลกระทบที่เกิดจาก การแข่งขันดังกล่าวได้ โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ
1. พยายามลดการบริโภคทรัพยากร (Reducing the consumption of resources) หมายรวมถึงการพยายามลดการใช้วัตถุดิบตั้งต้นใน การผลิต พลังงาน น้ำ และที่ดิน ส่งเสริมการใช้ซ้ำ(Reuse) และการแปรใช้ใหม่(Recycle) ของผลิตภัณฑ์
2. พยายามลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม (Reducing the impact on nature) หมายรวมถึงการลดการปล่อยของเสีย ได้แก่ น้ำทิ้ง ขยะ และสารพิษ ออกสู่สิ่งแวดล้อม
3. เพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์และการบริการ (Increasing product or service value) หมายถึงความพยายามที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับผล ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ สินค้าและการบริการสูงสุด โดยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติน้อยที่สุด

การนำหลักการประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจไปใช้กับภาคธุรกิจนั้นสามารถช่วยให้ธุรกิจเกิดผลกำไรที่เพิ่มมากขึ้นจากการพยายามลด การใช้ทรัพยากร หรือวัตถุดิบตั้งต้น และพลังงาน รวมถึงลดการปล่อยของเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมลง
จะเห็นได้ว่าหลักการของประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจนอกจากจะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในทางธุรกิจที่สามารถตรวจวัดได้ จริงและชัดเจนแล้ว ยังเป็นดัชนีชี้วัดความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ช่วยชี้นำทิศทางและสนับสนุนให้นโยบายของรัฐมุ่งไปสู่การ พัฒนาอย่างยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น อันเป็นเป้าหมายโดยรวมของประเทศในระยะยาว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม WBCSD ได้ กำหนดแนวทาง 7 ประการที่จะช่วยให้การดำเนินงานด้านธุรกิจประสบความสำเร็จในเชิงนิเวศเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น อันประกอบด้วย

- ลดการใช้ทรัพยากร หรือวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิต และบริการ (Reduce material intensity)
- ลดการใช้พลังงานในการผลิต และบริการ (Reduce energy intensity)
- ลดการปล่อยสารพิษต่างๆ (Reduce dispersion of toxic substance)
- เสริมสร้างศักยภาพการแปรใช้ใหม่ของวัสดุ (Enhance recyclability)
- เพิ่มปริมาณการใช้ทรัพยากรที่หมุนเวียนได้ (Maximize use of renewables)
- เพิ่มอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ (Extend product durability)
- เพิ่มระดับการให้บริการแก่ผลิตภัณฑ์และเสริมสร้างธุรกิจบริการ (Increase service intensity)

การประเมินค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจสามารถทำได้จากการพิจารณาสัดส่วนของมูลค่าผลิตภัณท์และการบริการเปรียบเทียบกับ ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม โดย WBCSD ได้กำหนดวิธีการประเมินหาค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจซึ่งสามารถคำนวณได้ตาม สมการ (1)

             ประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ = มูลค่าผลิตภัณฑ์หรือการบริการ (Product or service value) -------> (1)
                     (Eco-Efficiency)                ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental influence)

เนื่องจากการคำนวณหาประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจโดยสมการข้างต้นมีหลายวิธีในการนำค่าข้อมูลมาคำนวณทั้งนี้เนื่องจากทั้ง ผลิตภัณฑ์หรือการบริการ และผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมประกอบด้วยตัวชี้วัด (Indicator) มากมายหลากหลายที่ไม่สามารถนำมารวม กันเป็นตัวเลขเดียวได้ ยกตัวอย่างเช่น ค่าข้อมูลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งอาจจะสามารถนำข้อมูลผลกระทบมาได้จากตัวชี้วัดหลายๆ ด้าน เช่น ค่าข้อมูลที่ได้จากตัวชี้วัดผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านพลังงาน หรือด้านทรัพยากรน้ำ เป็นต้น ดังนั้นในการคำนวณหาค่า ประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจจากสมการดังกล่าวจึงต้องเลือกค่าข้อมูลจากตัวชี้วัดที่เหมาะสมกับธุรกิจแต่ละประเภท ผลลัพธ์การคำนวณ ที่ได้จากตัวชี้วัดดังกล่าวต้องสามารถสื่อสารได้ง่าย และสามารถนำไปสู่การตัดสินใจที่จะนำผลลัพธ์การคำนวณไปสู่การปฏิบัติของผู้บริหาร และคนในองค์กรรวมทั้งบุคคลภายนอกทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม

WBCSD ได้แบ่งลักษณะของตัวชี้วัดที่นำมาใช้ในการคำนวณหาประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจออกเป็น 2 ประเภทได้แก่
1.ตัวชี้วัดแบบทั่วไป (Generally applicable indicators) เป็นตัวชี้วัดซึ่งใช้ได้ในธุรกิจทั่วไป สามารถนำมาใช้ในทุกธุรกิจได้อย่างแท้จริง และเป็นที่ยอมรับกันในระดับสากล โดยแต่ละตัวชี้วัดมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับโลก ตัวชี้วัดที่มีการนำใช้แบบทั่วไป สำหรับมูลค่าผลิตภัณฑ์หรือการบริการ ได้แก่ ปริมาณของสินค้าและการบริการที่ผลิตและจัดหาให้แก่ลูกค้า หรือ ปริมาณยอดขายรวม ใน ขณะที่ตัวชี้วัดแบบทั่วไปสำหรับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ปริมาณการใช้พลังงาน ปริมาณการใช้ทรัพยากร ปริมาณการใช้น้ำ ปริมาณของเสีย และปริมาณการปล่อยอากาศเสียที่มีผลกระทบต่อภาวะเรือนกระจกและปริมาณโอโซน
2.ตัวชี้วัดเฉพาะธุรกิจ (Business specific indicators) เป็นตัวชี้วัดที่ภาคธุรกิจสามารถเลือกนำมาใช้คำนวณหาค่าประสิทธิภาพเชิง นิเวศเศรษฐกิจเพิ่มเติมนอกเหนือจากข้อมูลที่ได้จากตัวชี้วัดแบบทั่วไป อันจะเป็นการช่วยให้ธุรกิจนั้นๆประสบความสำเร็จในการพัฒนา อย่างยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น โดยตัวชี้วัดประเภทนี้จะพิจารณาเลือกจากลักษณะเฉพาะของแต่ละธุรกิจ ตัวอย่างตัวชี้วัดประเภทนี้ได้แก่ ค่า Gross margin ปริมาณขยะที่นำไปฝังกลบ และปริมาณขยะที่นำไปเผา เป็นต้น

ค่าผลลัพธ์จากการประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจที่ได้จำเป็นที่จะต้องมีการเผยแพร่ทั้งสู่ภายในองค์กรของตนเองและสาธารณะ ซึ่งการประเมินดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในแง่ของการประเมินสถานภาพขององค์กรตนเองรวมถึงการนำไปเปรียบเทียบกับองค์กรอื่นๆ เพื่อ ให้มีการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาต่อไป

การรายงานผลการประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจควรประกอบไปด้วย
1.ข้อมูลขององค์กรที่ทำการประเมิน (Organization Profile) ควรประกอบไปด้วยชื่อขององค์กรที่ทำการประเมิน ลักษณะประเภทของ ธุรกิจ ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ผลิต จำนวนพนักงานภายในองค์กร และข้อมูลทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับองค์กรตนเอง เช่น ที่อยู่หรือเวปไซด์ที่ สามารถติดต่อได้ ปีที่ก่อตั้ง เป็นต้น
2. ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมูลค่าผลิตภัณฑ์และบริการ (Value Profile) เช่นยอดรวมมูลค่าการขายสินค้าหรือกำลังการผลิตสินค้ารวม เป็นต้น
3. ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Environment Profile) เป็นข้อมูลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ได้จากตัวชี้วัดแบบทั่วไป และแบบเฉพาะธุรกิจ เช่น ปริมาณการใช้น้ำ ปริมาณพลังงานที่ใช้ และปริมาณวัตถุดิบเริ่มต้น เป็นต้น
4. ค่าผลลัพธ์จากการคำนวณประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Efficiency Ratio) ที่ได้จากตัวชี้วัดแยกตามแต่ละประเภท
5. รายละเอียดวิธีการศึกษา (Methodological Information) บอกถึงรายละเอียดวิธีดำเนินการศึกษาเก็บข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการ ประเมินหาค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ รวมถึงวิธีการเลือกตัวชี้วัดประเภทต่างๆ ด้วย

จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดพอสรุปให้เห็นได้ว่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจสามารถที่จะนำมาใช้เป็นดัชนีตัวชี้วัดความสัมพันธ์ด้าน เศรษฐกิจและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้กับภาคธุรกิจหรือองค์กรใดๆได้ ซึ่งผลจากการประเมินดังกล่าวจะนำมาซึ่งแนวทางการพัฒนา ด้านเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต
รายละเอียดเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจได้ถูกบรรจุเป็นหัวข้อที่ใช้สำหรับการเรียนการสอนของนัก ศึกษาปริญญาโทหลักสูตรนิเวศวิทยาอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม(นานาชาติ) ท่านที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ โดยตรงที่หลักสูตรนิเวศวิทยาอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม(นานาชาติ) คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เบอร์ โทรศัพท์ 02-441-5000 หรือติดต่อผู้เขียนผ่าน E-mail : enkcm@mahidol.ac.th ได้ทุกวัน เวลาราชการ