วิกฤตสิ่งแวดล้อม (Environmental Crisis) ตอนที่ 3
 

          น่าจะเป็นการทิ้งท้ายตอนสุดท้ายของ
วิกฤตสิ่งแวดล้อมที่ผมพยายามนำเสนอ
(ต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่าในมุมมองของ
ผมเพียงเท่านั้นนะครับ)ผ่านเป็นตอนสั้นๆอ่านง่ายๆ
ได้สาระเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมติดไปบ้างพอให้คุ้มกับเวลา
ที่ผู้อ่านลงทุนเริ่มอ่านบทความสั้นของผม ตอนนี้คงจะต้อง
เก็บประเด็นวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่ผมทิ้งระเบิดไว้ตั้งแต่
บทความแรกเมื่อ 2 เดือนที่แล้วให้จบละครับ ประเด็นที่เหลือ
ก็เห็นจะได้แก่ ประเด็นวิกฤตพลังงาน และประเด็นโลกร้อน
ผมเริ่มที่ประเด็นวิกฤตพลังงานก่อนก็แล้วกันครับ
ในทางวิชาการปัจจุบันเราอาจแบ่งรูปแบบของพลังงานออกได้เป็น
2 รูปแบบครับ ได้แก่ พลังงานที่ใช้แล้วหมดไปกับ พลังงานที่สามารถ
หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ (หรือบางที่ก็มีคนใช้คำว่าพลังงานทางเลือก
ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษว่า renewable energy) พลังงานที่ใช้แล้วหมดไป
ก็ได้แก่พลังงานที่ได้จากซากฟอสซิล (Fossil Fuel) เป็นหลักครับ
จำพวกน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน

          ส่วนพลังงานที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือพลังงานทางเลือก ก็ได้แก่ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ (พอพูดถึงพลังงานเหล่านี้ผมนึกถึงนักวิชาการท่านหนึ่ง ที่เคยพูดกับผมว่าถ้านักวิทยาศาสตร์คนไหนสามารถนำ 3S นี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ละก้อ รับรองจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่โด่งดังมีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาสตร์ ผมก็ถามว่า 3S คืออะไรหรือครับ ท่านก็บอกผมว่า ได้แก่ Sand Sun Sea ครับ แหมก็จริงครับเพราะที่ว่ามาทั้ง 3S นี่นะมีอยู่มากที่สุดในโลกของเราใบนี้เลยนะครับ แต่เราสามารถเอามันมาใช้ประโยชน์ได้น้อยจริงๆ) อย่างที่ทราบๆกันครับว่าวิกฤตพลังงานมันเริ่มก่อตัวมามากกว่า 10 ปีแล้ว เนื่องจากมนุษย์เราบริโภคพลังงานประเภทฟอสซิสกันมากขึ้นทุกปี มีรายงานว่าในลักษณะเชิงเปรียบเทียบให้เห็นว่ามนุษย์เราทั้งโลกในปี ค.ศ. 2005 บริโภคพลังงานประเภทฟอสซิลสูงเพิ่มขึ้นถึงกว่า 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 1979 เชียวนะครับ พลังงานประเภทนี้บอกอยู่แล้วครับว่าใช้แล้วหมดไป เผาผลาญกลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ กับน้ำหมดครับ จริงๆพูดอย่างนี้ก็ไม่ถูกทีเดียวนัก ต้องบอกว่ามันเกิดขึ้นทดแทนได้ครับ เพราะพลังงานประเภทนี้ก็มาจากการทับถมกันของซากพืช ซากสัตว์ แต่ทว่ามันใช้เวลานานเป็นร้อยเป็นพันปีนี่สิครับที่เป็นปัญหา (อีกเรื่องที่อยากเล่าให้ฟังถึง Joke ของเพื่อนผมสมัยเรียนถึงเรื่องของการลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติก เพื่อนผมคนนี้บอกว่าไม่เห็นจะต้องลดการใช้เลย เขาให้เหตุผลที่มีหลักทางวิชาการอยู่ด้วยครับว่า ใช้กันเยอะเถอะทิ้งกันให้เยอะๆ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปอีกสักร้อยล้านปีประเทศไทยเราก็จะมีแหล่งน้ำมันดิบอยู่เหมือนซาอุดิอาระเบียแน่นอน ก็จริงอย่างที่เพื่อนผมว่านะครับ เพราะพลาสติกนี่ก็ผลิตมาจากวัตถุดิบประเภทปิโตรเคมีที่ได้จากน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติเมื่อย่อยสลายตัวก็จะกลับกลายเป็นวัตถุดิบตั้งต้นเดิม แต่ประเด็นก็คือผมคงตายแล้วเกิดใหม่อีกสักไม่รู้กี่พันรอบกว่าจะเห็นน้ำมันในบ้านเราเยอะขนาดนั้น)

          อีกประเด็นที่อยากจะขยายความให้จบซะเลยในตอนนี้ก็เห็นจะเป็นประเด็นเรื่องโลกร้อน ที่ทำเอานักวิชาการ และชาวบ้านทั่วไปไม่ร้อนอย่างประเด็นครับ โลกร้อนบางคนอาจสงสัยว่าร้อนยังไงหรือ เล่าให้ฟังง่ายๆอย่างนี้ครับ มีนักวิชาการเขาได้ทดลองเก็บข้อมูลสถิติอุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกของเรานี่นะครับตั้งแต่ต้นยุค ค.ศ.1990 ถึงปัจจุบันพบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกของเรานี่สูงขึ้นจากเดิมประมาณ 1 องศาเซลเซียส อย่านึกว่าน้อยนะครับต้องบอกว่าเป็นอุณหภูมิเฉลี่ยครับ ขึ้นสัก 1 องศาเราก็แย่แล้วครับ แล้วนักวิชาการก็อีกนะครับ เขาก็เก็บข้อมูลปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศของโลกเราพบว่าเพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ช่างเหมาะเจาะกันซะนี่กะไร ต้องอธิบายให้ฟังอย่างนี้ก่อนครับว่าเจ้าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นี่นะมีข้อดีตรงที่ว่าคอยช่วยควบคุมอุณหภูมิบนพื้นผิวโลกเราไม่ให้เย็นตัวจัดจนเกินกว่าเราจะดำรงชีวิตอยู่ได้ครับ ถ้ามีอยู่ปริมาณสมดุลก็จะดีต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก แต่ถ้ามากเกินไปมันจะเก็บสะสมความร้อนไว้ครับ อุณหภูมิบนพื้นผิวโลกก็จะสูงขึ้นนั่นเอง คาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นนักวิชาเชื่อว่ามาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่มีการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่ระดับอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วจนลืมใส่ใจกับการหาทางลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปลดปล่อยออกมา โลกร้อนมีผลต่ออะไรบ้างแน่นอนครับนอกจากเราจะรู้สึกได้ถึงอุณหภูมิที่สูงขึ้นแล้ว ก็อาจจะทำให้สภาพภูมิอากาศเกิดความแปรปรวนได้เช่นกัน ฤดูกาลก็อาจไม่เป็นเช่นเดิม คาดเดายากขึ้น สัตว์บางชนิดก็อาจสูญพันธ์ได้ และอื่นๆอีกมากมายครับ ประเด็นเรื่องโลกร้อนนี่ผมว่ามันค่อนข้างใหญ่พูดกันไม่จบในเบรคนี้หรอกครับ แต่ผมจะพยายามแทรกมาให้เรื่อยๆครับ ก็ครบทุกประเด็นเรื่องวิกฤตสิ่งแวดล้อมในมุมมองผมแล้วครับ หวังว่าคงทำให้ท่านผู้อ่านที่เริ่มสนใจเรื่องราวสิ่งแวดล้อมได้จุดประเด็นในสมองถึงเรื่องราววิกฤตสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันได้บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ

          ส่งท้ายด้วยข่าวการประกาศรับข้อเสนอโครงการสนับสนุนทุนวิจัยระดับปริญญาตรีด้านสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกสั้นๆว่า GREENDEE ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยกันสักหน่อยครับว่าจะเริ่มเปิดให้ยื่นข้อเสนอโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึง 30 มิถุนายน 2552 นี้ครับ อาจารย์ นักศึกษาที่สนใจก็ติดตามได้จากเว็บไซด์ของโครงการครับ อ้อลืมไปงานนี้เฉพาะสถาบันการศึกษาที่ตั้งอยู่ในเขตภาคตะวันออกเท่านั้นครับ ภาคอื่นก็อย่าเพิ่งน้อยใจไปคาดว่าถ้าประสบความสำเร็จในปีแรกนี้อาจจะขยายไปทั่วประเทศก็ได้ครับ สำหรับเดือนแห่งความรักนี้ก็ขอให้ทุกท่านมีความรักที่ดีต่อเพื่อนมนุษย์โลก สิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อมอื่นๆบนโลกเราใบนี้ เราจะได้มีสิ่งแวดล้อมที่ดีสำหรับลูกหลานเราในอนาคตต่อไปเรื่อยๆครับ

 

                                                                                                           โดย กิติกร จามรดุสิต
                                                                                                              6 กุมภาพันธ์ 2552