วิกฤตสิ่งแวดล้อม (Environmental Crisis) ตอนที่ ๒ รอยเท้าทางนิเวศน์
 

         อย่างที่ผมได้เกริ่นนำทิ้งท้ายไว้ในตอนที่แล้วละครับว่าจะ
ช่วยเล่าขยายความถึงประเด็นวิกฤตสิ่งแวดล้อมในแต่ละประเด็น
ให้พอที่ ผู้อ่านคอลัมน์นี้จะจับไปเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับ
การพูดคุยกันในสภากาแฟของแต่ละท่าน ประเด็นแรกที่ผม
อยากจะขยายให้ฟังก็น่าที่จะเป็นประเด็นเรื่องของการลดลง
ของทรัพยากรธรรมชาติครับ ฟังแล้วบางท่านอาจจะนึกอยู่ในใจ
อยู่นานแล้วก็ได้ว่ามันลดลงอย่างไร ในทางวิชาการนั้นนักวิชาการ
เขาก็มีตัวชี้วัด (Indicator) ที่สามารถบ่งบอกถึงการลดลงของทรัพยากร รวมถึงปริมาณของการใช้ทรัพยากรในแต่ละบุคคล แต่ละพื้นที่ ตัวชี้วัดที่น่าจะเป็นที่ยอมรับแพร่หลายในปัจจุบันก็เห็นจะเป็นตัวชี้วัดที่มีชื่อว่า รอยเท้าทางนิเวศน์ ซึ่งแปลมาจากภาษาอังกฤษว่า Environmental Footprint นี่ละครับ (เหตุผลที่ใช้คำว่า รอยเท้า หรือ Footprint ในความคิดเห็นของผมก็น่าจะมาจากการที่คนเราแต่ละคนมีขนาดของเท้าที่ไม่เหมือนกันนั่นละครับ
          สมัยเด็กๆ ผมจำได้ว่าชอบเอาขนาดเท้าของตนเอง หรือรอยเท้าของเราไปวัดกับเพื่อนๆ หรือคุณพ่อ ซึ่งก็อาจสันนิษฐานได้ถึงการนำมาตั้งแต่ชื่อของดัชนีชี้วัด อันนี้ขอบอกว่าเป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ ถ้าผู้ใดรู้แจ้งชัดเจนก็อยากให้เขียนมาบอกเล่ากันก็ดีครับ เพราะผมพยายามค้นดูแล้วก็ไม่เจอถึงที่มาของการตั้งเป็นชื่อว่า Footprint หรือรอยเท้า) รอยเท้าทางนิเวศน์นี้จะเป็นตัวชี้วัดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศอันเนื่องมาจากกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ ซึ่งนักวิชาการเขาจะประเมินจากปริมาณการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติของมนุษย์ รวมถึงการปลดปล่อยของเสียที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ตลอดวัฏจักรชีวิต (เขียนบอกว่าตลอดวัฏจักรชีวิตก็หมายความว่า เวลาประเมินเขาจะทำการประเมินตลอดวัฏจักรชีวิตนั่นเองครับ         

          ยกตัวอย่างเช่นการใช้ไฟฟ้า ก็จะประเมินย้อนกลับไปถึงตั้งแต่การขุดถ่านหินมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า รวมถึงการปลดปล่อยของเสียระหว่างกระบวนการผลิต และกระบวนการกำจัดของเสีย เรื่องวัฏจักรชีวิตต้องพูดกันยาวสักหน่อยครับ ไว้ผมจะนำเสนอเป็นตอนของการประเมินวัฏจักรชีวิตเลยก็แล้วกัน) ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นหน่วยของ Global hectares (gha) หรือพื้นที่โลกเฮกเตร์ ครับ (ถ้าพิจารณาแล้วก็คือหน่วยพื้นที่นั่นแหละครับ เพราะ 1 hectare = 6.1 ไร่ บ้านเราครับ) ซึ่งโดยทั่วไปนักวิชาการจะนิยมประเมินในรูปแบบของพื้นที่โลกเฮกเตร์ต่อจำนวนประชากรในแต่ละพื้นที่ครับ (gha per capita) เพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสารถึงปริมาณพื้นที่บนโลกที่เหลืออยู่ต่อคนที่จะสามารถรองรับการบริโภคหรือการปลดปล่อยของเสียของแต่ละคนได้ ปัจจุบันนักวิชาการเขาได้ลองประเมินมาแล้วครับว่า พื้นที่ของโลกเฉลี่ยสำหรับการรองรับกิจกรรมของมนุษย์ (Earthshare) นะอยู่ที่ประมาณ 1.9 gha per capita ซึ่งตัวเลขนี้จะใช้เป็นตัวเลขอ้างอิงสำหรับการเปรียบเทียบรอยเท้าทางนิเวศน์ของแต่ละประเทศครับ กล่าวคือประเทศใดมีค่ามากกว่าค่า earthshare นี้ก็หมายความว่าประเทศนั้นมีความต้องการบริโภคทรัพยากร และปลดปล่อยของเสียที่มากเกินพื้นที่จำกัดสำหรับคนทั้งโลกไป พูดอีกอย่างใช้เกินกว่าลิมิตนะครับ นั่นหมายความอีกนัยหนึ่งว่าคนในประเทศนั้นบริโภคเกินก็อาจจะต้องไปเบียดเบียนคนในประเทศอื่นที่บริโภคน้อยกว่า เพื่อให้เกิดสมดุลนั่นเองครับ คราวนี้ลองมาดูค่าตัวเลขรอยเท้าทางนิเวศน์ของแต่ละประเทศดูบ้างครับว่าใครกินจุกว่ากัน เริ่มจากรพี่ใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐอเมริการครับมีรอยเท้าทางนิเวศน์ต่อประชากรประมาณ 9.5 ประเทศที่คนไทยอยากไปเที่ยวอย่าวสวิตสแลนด์มีค่ารอยเท้าทางนิเวศน์ต่อประชากรอยู่ที่ประมาณ 4 ประเทศจีนยักษ์ใหญ่ของเอเชียมีประมาณ 1.5 ส่วนประเทศไทยเราอยู่ที่ประมาณ 1.38 ครับก็ยังคงไม่เกินตัวเลขของ earthshare ครับ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนไทยยังคงบริโภคได้เพิ่มขึ้นเพราะเหลือพื้นที่อีกนะครับ เพราะที่นักวิชาการเขาทำตัวชี้วัดนี้ขื้นมาก็เพราะอยากให้มนุษย์เรารู้จักที่จะใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีเหลืออยู่อย่างพอเพียง คุ้มค่า และเท่าเทียมกันมากที่สุดครับ โดยเฉพาะพี่ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา สำหรับตอนหน้าผมก็จะมาขยายความให้ฟังถึงประเด็นอื่นๆต่อไปครับ

          อ้อลืมสวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๒ ย้อนหลังด้วยครับ ปีนี้คงเป็นปีที่ทุกคนทุกประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกเพิ่มมากขึ้นกว่าทุกปีแน่นอนครับ สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บตลอดปีนี้ครับ

 

                                                                                                           โดย กิติกร จามรดุสิต
                                                                                                              12 มกราคม 2552